posttoday

มหาเจดีย์ชเวดากอง 3 

11 มิถุนายน 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

ผมได้เล่าเรื่องของมหาเจดีย์ชเวดากองมาแล้วสองตอน ก็มีเพื่อนๆถามเข้ามามากพอสมควร ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าประสบการณ์ในอดีตของตนเอง ที่ได้ไปเที่ยวกรุงย่างกุ้งมา มีบางท่านที่เล่าถึงการเดินเที่ยวชมมหาเจดีย์มา แล้วก็สอบถามผมว่าทองคำที่ใช้นำมาสร้างมหาเจดีย์นั้น เป็นทองคำจากการนำมาจากกรุงอยุธยาใช่หรือเปล่า?

ผมต้องบอกว่าเหนื่อยมาก ที่ต้องมาอธิบายเรื่องนี้ เพราะเราเองก็เกิดไม่ทันในยุคนั้น อีกทั้งความเชื่อของมนุษย์นั้น จะมาแก้ไขยากจริงๆ แม้จะอธิบายจนเบื่อที่จะพูด แต่ถ้าคนที่เคยถูกบอกเล่ามาช้านาน เราจะไปแก้ไขก็คงลำบาก เอาเป็นว่าเราคงไม่ต้องมาถกเถียงกันในเรื่องนี้นะครับ

ผมอยากจะเล่าต่อจากอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งที่เล่ามายังไปไม่ถึงบันไดทางเดินขึ้นประตูฝั่งทิศเหนือเลยครับ ที่ขั้นบันไดทางขึ้นมหาเจดีย์ทุกทิศ ทางการจะจัดสรรให้ชาวบ้านเข้ามาจับจองเปิดเป็นร้านขายสังฆภัณฑ์กัน มีทั้งพระพุทธรุปไม้แกะสลัก เครื่องบูชาพระทั้งหลายทั้งมวล ก็จะมีขายกันเยอะมาก

ในส่วนของพระพุทธรูปไม้แกะสลักนั้น ส่วนใหญ่จะพูดว่าแกะมาจากไม้จันทร์หอม หรือที่เรียกว่า “Sandalwood” ผมอยากจะแนะนำว่า ต้องดูให้ดีๆนะครับ เพราะต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว ในการสังเกตุดูว่าไม้นั่นใช่ไม้จันทร์หอมหรือไม่? ต้องเป็นคนที่ดูเป็นจริงๆถึงจะรู้ เพราะไม้ธรรมดาแค่เอาไปชุบน้ำหอม ก็มีกลิ่นหอมเป็นไม้จันทร์หอมแล้วครับ

ดังนั้น ก็อย่าคิดมากครับ นึกเสียว่า “ซื้อแล้ว เหมือนได้เปล่า” จะได้ไม่ต้องเจ็บใจภายหลังนะครับ

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมกำลังจะเดินทางกลับมาบ้านที่กรุงเทพฯ โดยมาขึ้นเครื่องบินที่สนามบินแมงกะลาดอง ปรากฎว่าพบมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเรา ได้ซื้อเอาฉัตรกระดาษ ที่ชาวเมียนมาเขานิยมนำมาใช้ไหว้พระที่บนหิ้งพระ จึงได้เขาไปพูดคุยตามประสาคนชอบสอดรู้สอดเห็นของผม

แล้วถามเขาว่า “ท่านซื้อไปใช้ทำอะไรเหรอครับ” เขาตอบว่า “เห็นมันสวยดี เลยกะว่าจะซื้อไปแขวนที่เปลนอนของหลาน” ผมก็ได้แต่อธิบายให้เขาเข้าใจ ว่าฉัตรนี้เป็นของถวายพระพุทธนะครับ  

ยังมีอีกท่านหนึ่งก็ตลกมาก ซื้อเอาตาลปัตรพระกลับบ้าน ตอนแรกผมเองก็นึกว่าเขาจะเอาไปถวายพระที่วัด แต่ตาลปัตรพระของชาวเมียนมานั้น ก้านจะสั้นๆ ไม่ได้ยาวเหมือนของพระสงฆ์ไทย

นอกจากนี้ยังมีสีเดียวกันทุกอันไป ไม่ได้มีการปักลายต่างๆ ผมจึงสอบถามว่า “ท่านจะเอาไปควายพระที่วัดไหนเหรอครับ” เขาตอบว่า “เปล่า ไม่ได้เอาไปถวายพระหรอก แต่จะเอาไปพัด เพราะเห็นว่าสวยเหมาะมือดี”

ผมจึงบอกไปว่านั่นเป็นตาลปัตรนะครับ ไม่ใช่พัดที่จะเอามาพัดวีกันครับ

เมื่อขึ้นมาจากบันไดฝั่งทิศเหนืออีกครั้ง ก็จะถึงที่ชานพัก ตรงนั้นจะมีกล้องส่องทางไกล ที่เขาใช้มองดูยอดปลายของพระมหาเจดีย์ครับ เขาทำแท่นยืนสำหรับคนที่สูงไม่พอด้วยครับ เราสามารถส่องดูยอดเจดีย์ได้โดยไม่ต้องเสียเงินครับ ถ้าหันหน้าไปทางมหาเจดีย์ ด้านข้างๆทางซ้ายมือ จะเห็นพี่น้องชาวเมียนมาชอบมาสักการะรูปพระพุทธรูปที่มีครอบเศียร์เป็นหน้าทศกัณฐ์อยู่บนแท่นบูชา หันหน้าออกไปทางถนนใหญ่ ที่นี่ชาวเมียนมาที่เป็นกลุ่มศิลปินจะชอบมากราบไหว้ขอพรกันเยอะมาก

ทุกครั้งที่ไป มักจะพบกับดาราเมียนมา ที่เราอาจจะไม่รู้จักมากราบไหว้บูชาขอพรกัน และยังมีคนที่ชอบเล่นหวย เขาก็ชอบมาขอหวยกันที่นี่ครับ เพราะคนเมียนมาเขาชอบเล่นหวยกันมาก ของที่นำมาบูชาก็จะเป็นบุหรี่และตะกร้าหวายใส่เครื่องเซ่นไหว้ ภายในตะกร้าจะใส่กล้วย มะพร้าว ใบชัยชนะหรือคนไทยที่จำมาจากไกด์จะเรียกว่า “ใบอธิษฐาน” ซึ่งเราจะเห็นเจ้าหน้าที่จะใช้รถเข็น(แบบสมัยเด็กๆที่บ้านนอกที่ผมอยู่ที่โคราช รถเข็นล้อใหญ่ๆแบบที่เห็นที่นี่

เราจะนำมาเข็นน้ำจากสระน้ำนำมาใช้ที่บ้านนั่นแหละครับ) ที่ศาลานี้จะมีรถเข็นมาจอดรับเอาตะกร้าใส่เครื่องบูชานี้ เพื่อนำออกไปเก็บ ก็ไม่แน่ใจว่าจะนำมารีไซเคิลหรือเปล่านะครับ

พอเราเดินกลับมาที่ทางเดินรอบมหาเจดีย์อีกครั้ง เดินออกมาจากทางประตูทิศเหนือ เพื่อเดินไปทางทิศตะวันออก หากเราสังเกตุดู จะเห็นมีศาลาเล็กๆทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นี่จะเป็นศาลาที่ตั้งของพระพุทธรูปหยก ที่ได้รับการบริจาคจากท่านผู้มีอำนาจของรัฐบาลเมียนมาในอดีตท่านหนึ่ง ที่ท่านได้เลือกนำเอาหยกมาจากเหมืองหยก ที่เมืองปะกั่น รัฐกะฉิ่น แกะสะลักพระพุทธรูปในปางสมาธิได้สวยงามมาก

ช่วงที่ผมไปทำการค้าที่นั่นใหม่ๆ ในยุคนั้นนายพลท่านนี้ยังเรืองอำนาจอยู่ จะเห็นผู้คนนิยมเข้าไปกราบไหว้สักการะบูชากันหนาตามาก แต่พอท่านตกกระป๋อง พระพุทธรูปหยกนี้ ก็กลายเป็นพระพุทธรูปธรรมดาไปเลยทีเดียวครับ นี่คือสัจธรรมของชีวิตจริงๆ ไม่ละเว้นแม้จะเป็นสิ่งบูชาก็ตามครับ

พอเดินมาก่อนจะถึงมุขทางด้านทิศตะวันออก รอบๆมหาเจดีย์ที่มีสถูปรายรอบอยู่เยอะมาก มีสถูปองค์หนึ่งที่น่าสนใจมากครับ เสียดายที่กระดาษหมดเสียแล้ว ไว้อาทิตย์หน้าผมจะมาเล่าถึงสถูปองค์นี้ให้ฟังนะครับ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกเยอะ เขียนเล่าได้อีกหลายตอนเลยทีเดียวครับ

อย่าเพิ่งเบื่อนะครับ พบกันใหม่อาทิตย์หน้าครับ