posttoday

8 ปี คสช.และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร...ประเทศไทยได้อะไร ?

30 พฤษภาคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

บทความนี้ควรจะเขียนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วแต่ถูกกลบด้วยกระแส “คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ชนะเลือกตั้งผู้ว่ากทม.แบบถล่มทลายกลายเป็นซุปตาร์เพียงข้ามคืน ก่อนอื่นขอฟื้นความจำย้อนหลังอดีตเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ณ สโมสรกองทัพบก โดยผบ.ทบ.เป็นสปอนเซอร์เชิญนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีบางท่านรวมถึงแกนนำกปปส.และนปช.ตลอดจนนักการเมืองประชุมครั้งประวัติศาสตร์เพื่อหาข้อสรุปยุติความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ  เมื่อตกลงกันไม่ได้แบบไร้ทางออกประกาศปิดประชุมยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งสัญญาจะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว ทำให้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีชื่อ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่กลายเป็นตำนานนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในวาระต่อเนื่องนานที่สุด

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าช่วงเวลานั้นบ้านเมืองมีความวุ่นวายคล้ายเป็นอนาธิปไตย (Anarchy) รัฐบาลไม่ได้รับการยอมรับทำอะไรไม่ได้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ประชาชนเป็นล้านออกมาเดินถนนแบ่งเป็นกลุ่มเป็นฝ่าย เหตุจากรัฐบาลช่วงเวลานั้นออกพรก.กลางดึกสมัยนั้นเรียกว่า “กฎหมายลักหลับ” นิรโทษกรรมอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นโทษกลับบ้านกลายเป็นประเด็นบานปลายรัฐบาลเอาไม่อยู่ต้องยุบสภา สถานการณ์ลุกลามประชาชนแบ่งเป็นฝักฝ่ายอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองทำให้ฝ่ายความมั่นคงอ้างความชอบธรรมจับมือกันเข้ามายึดอำนาจแบบง่ายๆ แถมสื่อมวลชนออกมาเชียร์มีประชาชนบางกลุ่มเอาดอกไม้ไปให้กำลังใจทหารแต่วันนี้บรรยากาศไม่เหมือนเดิม

คำถามคสช.ผ่านมา 8 ปีประเทศไทยได้อะไรจากที่ทหารเข้ามาคว่ำกระดาน คำตอบขึ้นอยู่กับว่าถามใครและอยู่มุมใด หากพวกที่ไม่เอาอดีตนายกทักษิณฯ ซึ่งยังฝังใจถือว่าคุณประยุทธ์ฯ เป็นเทพมาโปรด หากไปถามอีกซีกที่เลือกพรรคเพื่อไทย, กลุ่มนปช., กลุ่มก้าวหน้า, คนรุ่นใหม่, นักวิชาการรวมถึงประชาชน (บางส่วน) ที่เคยเชียร์กปปส. แต่วันนี้กลับใจคำตอบอาจตรงข้าม หากจะวิจารณ์แบบไม่มีอคติการเข้ามาของคสช.เหมือนเหรียญสองด้าน สมมุติว่า ณ เวลานั้นบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป ส.ส.แบ่งข้างพึ่งไม่ได้ กลไกรัฐหยุดทำงาน หากปล่อยตามวิถีประชาธิปไตยทางออกแทบไม่มี ปัจจัยสำคัญอาจมาจากคนไทยขาดกติกาและไม่มีวินัยทางการเมือง ขาดความอดทน ชอบแก้ปัญหาแบบง่ายๆ คิดว่าอัศวินขี่ม้าขาวมีจริงวันนี้จากม้าขาวอาจกลายเป็นม้าสีดำ

ข้ออ้างของผู้นำรัฐประหารจะเข้ามาปฏิรูปการเมืองแบบน้ำเน่าที่มีการซื้อ-ขายเสียงเห็นแก่พรรคพวกและผลประโยชน์ ถามว่าวันนี้ซื้อ-ขายเสียงมีให้เห็นแบบชัดกว่าเดิมทั้งนอกและในรัฐสภา ที่เคยบอกว่ารังเกียจนักการเมืองวันนี้ก็ต้องพึ่งพาอยู่ใต้ร่มเงาของพวกเขา ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยยังเล่นแบบวิธีน้ำเน่าแบบเดิมๆ  ส.ส.บางคนโดยเฉพาะช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ทำตัวเหมือนสินค้าแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ ประเด็นคอรัปชั่นซึ่งควรเป็นไฮไลท์ที่ระบุว่าจะเข้ามาแก้ไขให้ได้ขนาดกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ล่าสุดต้นปีพ.ศ.2565 องค์กรต่างชาติระดับโลกจัดอันดับดัชนีคอรัปชั่นของไทย (Transparency International Rank)  หากเปรียบเทียบช่วงคสช.เข้ามา (ปีพ.ศ.2557) ไทยอยู่ในลำดับ 85 ของโลก ต้นปีนี้ลำดับร่วงมาอยู่ที่ 110 จาก 180 ประเทศช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาดัชนีคอรัปชั่นของไทยลดลงถึง 25 ลำดับสะท้อนความไม่โปร่งใส การแก้ปัญหาไร้ประสิทธิภาพแม้แต่การปฏิรูปตำรวจรับปากแล้วยังไม่ทำ วันนี้แค่ “คดีคุณแตงโมตกน้ำเสียชีวิต” ประชาชนยังแครงใจว่าตำรวจทำงานกันอย่างไร ประเด็นนี้จะแก้ตัวกันอย่างไร

ด้านความสงบของบ้านเมืองตรงนี้อยู่ที่มุมมอง ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมามีการประชุมประท้วงไม่มาก กลุ่มสีต่างๆ หายไปจะมีเพียงไล่จับเด็กชูสามนิ้วหรือกลุ่มเห็นต่างซึ่งก็พอรับได้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากแกนนำทั้งกปปส.และนปช. รวมถึงกลุ่มก้าวหน้าต่างๆ เจอข้อหาและคดีมากมายเข้า-ออกคุก บางคนหนีไปเมืองนอก บางคดียังอยู่ในศาล อีกทั้งคนในกทม.และเมืองใหญ่ๆ ห่วงเรื่องปากท้องและโควิดระบาดเข้ามาช่วยรัฐบาล

ที่ไม่กล่าวไม่ได้คือหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจและภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลคสช.ตั้งแต่เข้ามาใช้นโยบายประชานิยมเต็มรูปแบบ เช่น เงินสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนมีผู้เข้าถึงประมาณ 13.5 ล้านคน เบี้ยคนสูงอายุเงินกระตุ้นให้ท่องเที่ยวและโครงการคนละครึ่งและอีกสารพัดโครงการ ช่วงโควิดระบาดใช้เงินจากพรก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทแต่ปรากฏว่าหนี้ของประชาชนกลับสูงขึ้นแสดงว่า    เงินไปกระจุกอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ เปรียบเทียบไตรมาสแรกปีพ.ศ.2558 มีหนี้ครัวเรือน 10.650 ล้านล้านบาท       คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.9 ของ GDP  ข้อมูลล่าสุดปลายปีที่แล้วเพิ่มเป็น 14.581 ล้านล้านบาทสัดส่วนใกล้ๆ ร้อยละ 90 ของ GDP  หักลบกันแล้วเพิ่มขึ้น 3.931 ล้านล้านบาทหรือสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาเฉลี่ยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นปีละ 5.616 แสนล้านบาทเฉลี่ยแต่ละครัวเรือนเป็นหนี้ 262,317 บาท ประเด็นนี้ค่อยๆ แกะตัวเลขไปวิเคราะห์กันเอง

ที่ไม่แพ้กันคือหนี้ภาครัฐหรือหนี้สาธารณะที่รัฐบาลคสช.ก่อหนี้มากสุดเป็นประวัติการณ์ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้หนี้ของประเทศมีจำนวน 9.828 ล้านล้านบาทคิดเป็น 60.1 ของ GDP และกำลังพิจารณาขยายเพดานหนี้แต่พอเข้าใจได้ว่ารัฐบาลกู้เงินไปโปะงบประมาณที่ขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปีและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงออกพรก.กู้เงินสู้โควิดถึง 1.5 ล้านล้านบาท หนี้ส่วนใหญ่ของประเทศร้อยละ 89 เป็นหนี้ของรัฐบาลโดยส่วนใหญ่กู้เงินในประเทศ

คราวนี้มาดูผลงานที่น่าจะเป็น Highlight ของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งต่อเนื่องจากคสช.ที่ชัดเจนคือการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อาจประมาทเพลี่ยงพล้ำช่วงระลอกเดลต้าที่วัคซีนไม่เข้ามาตามนัด หลังจากสู้กับโควิดมาสองปีเศษ ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 74 เข้าถึงวัคซีนเข็ม 2 และฉีดเข็มบูสเตอร์สัดส่วนร้อยละ 39.2 (ข้อมูล ณ 22 พ.ค.) ทำให้การแพร่ระบาดอยู่ในจุดที่รับได้มีการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจและรับนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมาไทยได้รับการชมเชยจากองค์การอนามัยโลก

ผลงานซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นบวกหรือลบที่คือการลงทุนในเมกาโปรเจค กล่าวได้ว่าไม่มีรัฐบาลในอดีตทำได้ใช้เงินมากสุด 2.5-3.0 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟฟ้าจากเดิมก่อนคสช.เข้ามามี 2 เส้นทางระยะทางประมาณ 67.6 กิโลเมตร ปัจจุบันเพิ่มอีก 11 เส้นทาง (8 สี) ระยะทาง 210 กิโลเมตรและกำลังก่อสร้างหรือจะทำต่อเนื่องอีก 6 เส้นทาง (5 สี) เมี่อเสร็จจะกลายเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าเชื่อมกทม.กับชานเมืองครบวงจรในเอเชียเป็นรองแค่จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี การลงทุนเมกาโปรเจคใหญ่อีกโครงการคือพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรือ “EEC” เป็นการขยายพื้นที่เศรษฐกิจการลงทุนของยุค 4.0 และโลจิสติกส์ฮับของภูมิภาค   เป็นการรับไม้ต่อจากเมื่อ 36 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นัยว่าจะทำให้เกิดการลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท มีการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาขยายท่าเรือแหลม-ฉบังเฟส 3, ท่าเรือมาบตะพุดและรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินใช้เงินมหาศาล ด้านโครงสร้างพื้นฐานยังมีรถไฟฟ้าทางคู่ทั่วประเทศและรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตรวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ยังไม่รวมโครงการระดับโลก “Landbridge” เชื่อมระนอง-ชุมพร

การลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลภายในระยะเวลาไม่กี่ปี อัดเงินเข้าไประดับหลายล้านล้านบาททีเดียวพร้อมกันคงต้องระมัดระวังเพราะหากโครงการให้ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ตอบแทนไม่ทันและหรือภาวะเศรษฐกิจขยายตัวไม่ทันอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันอาจมีผลกระทบตามมา เนื่องจากเงินลงทุนของรัฐบาลมีภาระดอกเบี้ยประมาณปีละ 2.110 แสนล้านบาท อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจหลังโควิดอาจซึมไปอย่างน้อย 2-3 ปีซึ่งเศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาและปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยจะดี ควรนำกรณีศึกษาประเทศอาร์เจนติน่าและบราซิลซึ่งคล้ายๆ กับไทยประสบไปก่อนหน้านี้ ถึงจะเป็นการร่วมทุน (PPP) กับภาคเอกชนแต่พวกเขาก็ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศเช่นกัน

คสช.ผ่านมา 8 ปีอย่างที่กล่าวแต่ต้นอยู่ที่มุมมองว่ามองจากมุมไหน ช่วงสองปีเศษประเทศไทยเจอวิกฤตโควิดแบบเต็มๆ ต้นปีนี้เจอวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งสูงและวิกฤตเงินเฟ้อสูงสุดเท่าที่เคยมี ปัจจัยส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยภายนอกเป็นโจทย์ระดับโลกที่แก้ยากต้องให้แต้มต่อ ดังนั้นการที่จะกล่าวว่าผลงานไม่มีประเทศไม่ได้อะไรคงไม่ใช่ อย่างน้อยช่วงที่ผ่านมาบ้านเมืองสงบ กลุ่มประท้วงต่างๆ ถึงจะมีก็ไม่มากและต้องยอมรับว่าเป็นวิถีประชาธิปไตย ด้านเศรษฐกิจถึงไม่ค่อยจะดีแต่ก็พอไปได้ ไม่เห็นการว่างงานมากๆ จนเป็นปัญหาระดับชาติ   สถาบันการเงินยังมั่นคง ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวมีสัญญาณทางบวก

ปรากฏการณ์ที่รับไม่ค่อยได้คือเห็นสัญญาณการคงอยู่แบบสืบอำนาจส่งไม่ต่อหากยาวออกไปไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น ต้องเข้าใจถึงบ้านเมืองจะสงบเหมือนน้ำที่นิ่งแต่ใต้น้ำกระแสยังแรงอาจฝักตัวเป็นสึนามิ เศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วจะพังเกี่ยวข้องกับปากท้องคนจำนวนมาก ต้องเข้าใจว่าบริบทของผู้นำถึงจะวิเศษและทำดีเพียงใดหรือมีผลงานมากมายหากอยู่นานเกินพอดี “ประชาชนเขาเบื่อ” หากดันทุรังอยู่ต่อปัญหาของบ้านเมืองจะตามมาอีกมากมายมีกรณีศึกษาในอดีตทั้งของไทยและต่างชาติให้เห็น ประเทศไทยเป็นของคนไทยต้องทำใจให้ได้ “รักชาติแต่อย่าผูกขาดจนไปยึดชาติ” ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเลือกผู้นำที่เขาชอบและสามารถเปลี่ยนแปลงคนใหม่ที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสมเป็นวิถีทางที่ควรจะเป็นทางเดินของประเทศ....จริงๆ นะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat