posttoday

รัฐยึกยักตรึงราคาดีเซล....เพราะกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด  

23 พฤษภาคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศในช่วงเวลานี้คือรายได้ไม่พอเพียงต่อการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะช่วงเปิดเทอมมีภาระรุงรังมากมาย สาเหตุสำคัญมากจากเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน-แก๊สหุงต้มปรับราคาสูง ภาคส่วนที่กระทบมากสุดคือผู้ที่ใช้รถเบนซินซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกทม.-ปริมณฑลและในเขตเมืองตามจังหวัดต่างๆ  ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวขึ้นลงแบบรายวันส่วนใหญ่ไปทางขึ้นมากกว่าลง เปรียบเทียบราคาน้ำมันต้นปีกับราคาปัจจุบันสูงขึ้นลิตรละ 11.8 บาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38  ไม่มีองค์กรที่เกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภคออกมาโวยวายทั้งที่ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 31.447 บาท

ขณะที่ราคาขายแก๊สโซฮอล์ 95 หน้าปั้มวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาลิตรละ 42.95 บาท โจทย์ราคาปรับสูงเป็นประวัติการณ์ยกระดับเป็นวิกฤตราคาน้ำมันระดับโลกคงไม่จบง่ายๆ แม้แต่หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยันกันอยู่คงยืดเยื้อไปอีกนานแต่ถึงจะยุติได้แต่มาตรการแซงชั่นรัสเซียยังอยู่ราคาที่ขึ้นไปแล้วคงไม่ได้ลงมาได้แบบฉับพลัน

ประเด็นที่กล่าวถึงกันมากคือน้ำมันดีเซลโดยเฉพาะดีเซล B5  ซึ่งเป็นพลังงานเชิงพาณิชย์ในภาคขนส่งและเกษตรกรรมแถมมีผู้ใช้รถจำนวนมากใช้รถดีเซลเป็นรถบ้าน กรมการขนส่งทางบกควรกวดขันให้ชัดเจนเพราะใช้ภาษีประชาชนไปอุดหนุนราคาน้ำมัน ต้องยอมรับว่าน้ำมันดีเซลมีผลต่อเศรษฐกิจและต้นทุนสินค้าซึ่งจะกลายเป็นราคาสินค้าที่ประชาชนเป็นผู้รับภาระแบบเต็มๆ  การที่รัฐบาลโดยมติครม.มีการปรับลดเก็บภาษีสรรพาสามิตเป็นการชั่วคราว ก่อนหน้านี้ลด 3 บาทต่อลิตรและลดการอุดหนุนราคาด้วยเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงครึ่งหนึ่งและประกาศเพดานราคาไว้ที่ราคาลิตรละ 35 บาทโดยจะทยอยปรับ 1 บาททุกสัปดาห์จนถึงเพดาน ล่าสุดราคาอยู่ที่ลิตรละ 32 บาท ไม่รู้ว่าวันจันทร์นี้จะขึ้นอีกหนึ่งบาทหรือไม่เพราะที่ผ่านมาเกรงประชาชนจะเดือดร้อนจากของแพง

สัปดาห์ที่แล้วมีการประชุมครม.เรื่องลดภาษีสรรพาสามิตเบ็ดเสร็จเป็นลิตรละ 5 บาท ขยายไปถึงวันที่ 20 กรกฎาคม เพื่อช่วยลดการติดลบกองทุนน้ำมันที่สูงถึง 7.206 หมื่นล้านบาท ประเด็นที่อยากจะกล่าวนโยบายราคาดีเซลของรัฐบาลยึกยักไม่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรแน่จะปรับขึ้นเท่าไรก็ระบุให้ชัดเจนการขึ้นเป็นขั้นบันไดก็ได้ไม่เป็นไรเพราะดีเซลเป็นพลังงานเชิงพาณิชย์ผู้ประกอบการทั้งภาคขนส่งและภาคการผลิตจะได้วางแผน การปรับขึ้นราคาค่าขนส่งหรือราคาสินค้าไม่ได้ทำได้ง่ายๆ มีกระบวนการจัดซื้อ-จัดจ้าง เข้าใจได้ว่ารัฐบาลคงเจตนาดีที่จะปรับราคาเป็นแบบขั้นบันไดสัปดาห์ละบาทแต่กังวลสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ อย่างที่กล่าวข้อเท็จจริงราคาสินค้าต่างๆ เขาปรับต้นทุนสัปดาห์ละหนึ่งบาทไม่ได้ส่วนใหญ่ใช้เพดานราคาดีเซลราคา 35 บาทในการปรับราคาต้นทุนขนส่งและราคาสินค้าล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว

ปัจจัยที่รัฐบาลกังวลอาจมาจากสัปดาห์ที่แล้วสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “สศช.” ปรับลดเป้าขยายตัวเศรษฐกิจหรือ GDP ปีพ.ศ.2565  จากเดิมค่าเฉลี่ยร้อยละ 4 เหลือค่าเฉลี่ยร้อยละ 3 และโอกาสอาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.5 ทั้งที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วใช้เงินร่วมหนึ่งล้านๆ บาท จนเงินหมดกระเป๋าไม่กล้ากู้เพิ่มจะด้วยเกรงว่าจะไม่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาประเด็นนี้ไม่ทราบ การใช้เงินมากมายแต่ผลตอบแทนเป็นคนละเรื่องเพราะเศรษฐกิจไตรมาสแรกไม่เป็นไปตามที่คาดขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.2 เซอร์ไพรส์คือ GDP ภาคอุตสาหกรรมทั้งที่ส่งออกขยายตัวได้ดีแต่กลับขยายตัวได้ต่ำเพียงร้อยละ 2.0 ซึ่งต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ

เหตุผลสำคัญอาจมาจากการนำเข้าในช่วงที่ผ่านมามูลค่าพอๆ กับการส่งออกทำให้ “Net Export” เป็นศูนย์ ที่น่ากังวลเงินเฟ้อช่วงมกราคม-เมษายนสวนทางขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.71 เป็นอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจถึง 2.14 เท่า ประเทศไทยในช่วงรอบสองทศวรรษนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้งไม่เคยมีปราฏการณ์เช่นนี้ผลที่ตามมาคือเงินฝากธนาคารภายใต้ดอกเบี้ยต่ำและเงินในกระเป๋าของชาวบ้านจะลดหายกระทบต่ออำนาจการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนในเมืองหรือผู้คนที่มีรายได้น้อยตลอดจนผู้ที่ยังชีพด้วยเงินบำนาญและเบี้ยยังชีพจากรัฐในรูปแบบต่างๆ

เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวผ่านวิกฤตแพร่ระบาดจากโควิดต่อเนื่องมา 2 ปีจัดให้เป็นโรคประจำถิ่นมีการเปิดประเทศผู้คนใช้ชีวิตได้ (เกือบ) ปกติ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับช้ากว่าที่คาดเนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวช้าอ่อนแอเป็นทุนอยู่แล้วพอเจอวิกฤตราคาน้ำมันและวิกฤตเงินเฟ้อซึ่งเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อและอาจลุกลามขยายวงมากกว่าเดิม ผลของสงครามทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Supply Chain Short” แถมด้วยประเทศจีนยังสู่กับโควิดไม่จบมีการล็อกดาวน์เมืองใหญ่และท่าเรือสำคัญล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกวัตถุดิบ สินค้าต่างๆ อะไหล่ ตลอดจนการส่งมอบชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ขาดแคลน

ที่กล่าวเป็นปัญหาไปกดดันให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อระดับโลก ล่าสุดธนาคารโลกปรับลดอัตราเป้าหมายขยายตัวเศรษฐกิจโลกปีนี้จากร้อยละ 4.1 เหลือเพียงร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก แต่ยังสูงกว่าหรือใกล้เคียงการประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งตรงนี้เป็นสัญญาณไม่ดีแสดงว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแอกว่าค่าเฉลี่ยของโลก กรณีประเทศไทยราคาสินค้าทั้งของกิน-ของใช้รวมไปถึงร้านก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวแกงริมถนนต่างทยอยปรับราคา

ปัจจัยไม่ใช่เพียงมาจากราคาน้ำมันสูงแต่มีหลายปัจจัย ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้คือผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่ามาก เปรียบเทียบปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทปีพ.ศ.2564 อ่อนค่า 2.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ราคานำเข้าวัตถุดิบ น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย อาหารสัตว์ นอกจากแพงจากเงินเฟ้อยังต้องเผชิญกับค่าเงินบาทที่อ่อนทำให้ราคาสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 7.82 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้าแพง

กลับมาที่การปรับราคาน้ำมันดีเซลที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการพยุงราคาด้วยการอุดหนุนผ่านกองทุนน้ำมันซึ่งติดลบสูงเป็นประวัติการณ์ เฉพาะเงินที่ใช้พยุงดีเซล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ใช้เงินจากภาษีประชาชนไปถึง 37,854 ล้านบาทและแต่ละเดือนยังต้องใส่เงินเข้าไปประมาณหมื่นล้านบาท คำถามว่าราคาน้ำมันโลกพุ่งไปจุดสูงสุดหรือยัง ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอยู่ในวงการค้าน้ำมันหากจะตอบแบบคนไม่รู้แต่อยากจะตอบวิกฤตราคาน้ำมันโลกครั้งนี้ ต้นเหตุสำคัญมากจากรัสเซียบุกประเทศยูเครนซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 3 

หากย้อนไปสองสัปดาห์หลังเริ่มสงครามราคาน้ำมันโลกตลาดนิวยอร์ก (WTI) บาร์เรลละ 126.42 เหรียญสหรัฐเป็นระดับราคาสูงสุดนับแต่เกิดสงคราม ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันหน้าปั้มแก๊สโซฮอล์ 95 ในช่วงเดียวกันอยู่ที่ลิตรละ 39.35 บาท หลังจากนั้นราคาน้ำมันขึ้น-ลงแตะๆ เกินร้อยเหรียญเล็กน้อย วันศุกร์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ (WTI) อยู่ที่ระดับบาร์เรลละ 109.14 เหรียญสหรัฐ ส่วนตลาด DUBAI ซึ่งเป็นตลาดหลักที่ไทยใช้อ้างอิงราคาน้ำมันอยู่ที่บาร์เรลละ 105.53 เหรียญสหรัฐ ที่แปลกราคาน้ำมันโลกลดลงแต่ทำไมราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จึงสูงถึงลิตรละ 40.36 บาท ราคานี้ลดลงแล้วเพราะก่อนหน้าหนึ่งวันสูงกว่านี้ประเด็นนี้ไม่ทราบเหตุผลที่มาที่ไปจึงตอบไม่ได้

ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสามารถสะท้อนได้จากราคาน้ำมันโดยปกติหากเศรษฐกิจโลกซบเซากิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงคนใช้น้ำมันน้อยเหมือนกับปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันลดลงมาก แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะซบเซาสะท้อนจากการที่ธนาคารโลกปรับลดอัตราการขยายตัวลงมาค่อนข้างมาก แต่ระดับราคาน้ำมันกลับปรับตัวสูงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงไปทั่วโลก เศรษฐกิจทั้งของโลกและไทยขณะนี้เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ก่อตัวกลายเป็นพายุใหญ่โหมเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Perfect Storm Economy” คือเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซบเซาแต่ราคาน้ำมันกลับสวนทางปรับตัวสูงและไปทำให้กระทบไปในภาคส่วนเศรษฐกิจ เช่น การบริโภค, การลงทุน, การส่งออกตลอดจนราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่สูงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน กรณีประเทศไทยก็เจอพายุลูกนี้เข้าไปแบบเต็มๆ แต่ของไทยยังดีกว่าหลายประเทศที่มาตรการรัฐสู้กับโควิดได้ผลทำให้การระบาดแผ่วลงแต่เศรษฐกิจยังขาดปัจจัยเอื้ออีกมาก....ที่แน่ๆ วิกฤตราคาน้ำมันยังไม่จบเร็วๆ นี้แน่นอนครับ    

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat