posttoday

เงินบาทอ่อนค่า....มีผลอย่างไรต่อฟื้นเศรษฐกิจไทย

09 พฤษภาคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกลายเป็นประเด็นได้รับความสนใจเนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าหรือแข็งค่าจนเกินความสมดุลล้วนมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูง ช่วงโค้งสุดท้ายของไตรมาสแรกเงินบาทสวิงค่อนข้างมากและแนวโน้มไปในทางอ่อนค่าเห็นได้จากศุกร์ที่ผ่านมา (6 พ.ค.) ตลาด “Offshore” ซึ่งเป็นตลาดซื้อ-ขายและเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนนอกประเทศอยู่ที่ระดับ 34.370 บาทต่อเหรียญสหรัฐเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบหลายปี

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ "ธปท.” ตรึงไว้ที่อัตราเฉลี่ย 34.101 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก่อนเข้าเรื่องผู้เขียนขอออกตัวเช่นเคยว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตลาดค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศเพียงแต่ด้วยอาชีพเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออกและนำเข้า รวมถึงติดตามการเคลื่อนไหวของเงินบาทและเงินสกุลสำคัญของโลกมาหลายปีข้อมูลที่นำเสนอเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

การเข้าใจผลกระทบค่าเงินบาทจำเป็นที่ต้องเข้าใจบริบทตลาดค้าเงินระหว่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็น การเก็งกำไรแต่มีผลชี้นำต่ออัตราแลกเปลี่ยน การที่เงินบาทจะอ่อนค่า (Depreciates) หรือเงินบาทแข็งค่า (Appreciates) หมายถึงการเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินสกุลกับประเทศใดประเทศใด ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนใหญ่หากไม่ระบุชัดเจนอนุมานว่าเป็นการเปรียบเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นเงินสกุลหลักทั่วโลกใช้หมุนเวียนประมาณร้อยละ 60 และเป็น 1 ใน 3 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เงินบาทได้รับการท้าทายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือ “FED”  ก่อนหน้านี้ทยอยลดมาตรการเชิงปริมาณ (QE) และทยอยลดปรับดอกเบี้ยนโยบาย

ล่าสุดปลายสัปดาห์ที่แล้วปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.75-1.0 จากเดิมตรึงไว้ที่ร้อยละ 0-0.25  เป็นการปรับครั้งใหญ่มากสุดในรอบ 20 ปีและกลางปีอาจปรับสูงกว่านี้ นัยของการปรับดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจที่มีเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนสูงจนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบสี่ทศวรรษ จากการที่เงินเหรียญสหรัฐใช้เป็นเงินสกุลกลางในการค้าของโลกผลกระทบทำให้เงินสกุลต่างๆ ของโลกได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกัน จากการเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลักของภูมิภาคช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.) เงินสกุลของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปทางอ่อนค่า เช่น เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าร้อยละ 12.654, เงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าร้อยละ 3.986, เงินหยวนจีนอ่อนค่าร้อยละ 3.708, เงินดอลล่าร์สิงคโปร์อ่อนค่าร้อยละ 2.173 มีเพียงเงินยูโรที่แข็งค่าร้อยละ 6.906 ขณะที่ไทยเงินบาทช่วงเดียวกันอ่อนค่าร้อยละ 3.076 

ตัวเลขนี้แสดงว่าเงินบาทอ่อนค่าไปตามเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคและไทยอ่อนค่าน้อยกว่าหลายประเทศ แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพเงินบาทสะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิเดือนมีนาคมปีนี้สูงถึง 272,930.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาคส่วนส่งออกได้รับอานิสงส์ทั้งจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวและเงินบาทหนุนทำให้ไตรมาสแรกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14.9 สูงสุดในรอบหลายปี องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับส่งออกเรียกร้องให้กระทรวงการคลังและธปท.ช่วยพยุงเงินบาทให้ทรงตัวในระดับอ่อนค่าเช่นนี้ต่อไป

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนหรือแข็งค่าเป็นเสมือน “เหรียญสองด้าน” ถึงแม้ว่าบาทอ่อนจะทำให้ส่งออกขยายตัวได้ดีเพราะสินค้าราคาถูกลงขายได้ง่ายเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งไทยเป็นประเทศนำเข้าเป็นหลักหรือ “Import Intensive”  อัตราการขยายตัวในช่วงที่ผ่านมาพอๆ กับการส่งออกโดยปีพ.ศ.2564 มูลค่าการนำเข้าต่อมูลค่าส่งออกสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 98.69 และปีนี้ราคาพลังงานและเงินเฟ้อโลกสูงสัดส่วนอาจแซงหน้า การที่ค่าเงินบาทอ่อนส่งผลทำให้ราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินบาทสูงขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3.2 ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, วัตถุดิบสินค้ากึ่งสำเร็จรูป, ปุ๋ย, ธัญพืช ฯลฯ  ผลกระทบย่อมกลับไปสู่ประชาชนอีกทั้งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบและ/หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าในสัดส่วนที่สูงในที่สุดกลับไปเพิ่มต้นทุนส่งออก

ดังนั้นการที่ภาคส่งออกเรียกร้องให้รัฐพยุงเงินบาทให้อ่อนค่าอาจไปกระทบภาคส่วนอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ที่ต้องติดตามคือค่าเงินบาทซึ่งปีนี้มีแนวโน้มไปในทางอ่อนค่าเหตุผลสำคัญ เช่น ประการแรก ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ทยอยปรับดอกเบี้ยและนโยบายจากอัตราเกือบ “ศูนย์” ไปร้อยละ 1.5 และจะปรับสูงขึ้นอีกจนถึงเพดานร้อยละ 2.0 อาจทำให้ทุนไหลออก (Cash Outflow) เพื่อทำกำไรในตลาดค้าเงินที่มีการโยกย้ายเงินเพื่อการเก็งกำไร  ประการที่สอง เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มฟื้นตัวอาจขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 และโลกหลังผ่านโควิดจะมีความต้องการสินค้าเทคโนโลยีก้าวหน้าซึ่งสหรัฐเป็นผู้นำตลาดทำให้อุปสงค์เงินดอลล่าร์สูงกดดันให้เงินสกุลอื่นอ่อนค่า

ประการที่สาม รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศด้านยุทธปัจจัยกับประเทศยูเครนนัยว่าอาจถึง 3.0 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหล็กและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทหารสามารถทำกำไรได้สูง  ประการสุดท้าย เงินดุลบัญชีสะพัดไทยหรือ “Balance of Payment” เป็นบวกหลังจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเดินทางเข้ามา 7-10 ล้านคนอาจมีเงินเข้ามาไม่น้อยกว่า 1.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังขยายตัวได้ดีทำให้เงินทุนต่างชาติอาจไหลเข้ามาเป็นปัจจัยบวกต่อเสถียรภาพเงินบาทสะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในปริมาณที่สูงทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อค่าเงินบาทโดยที่อัตราแลกเปลี่ยนหากจะอ่อนค่าคงไม่มากไปกว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

ประเด็นคือความสมดุลของเงินบาทควรอยู่ ณ ที่ใดจึงเหมาะสม จากประสบการณ์ในอดีตที่เงินบาทเป็นสกุลหลักอยู่ในตลาดค้าเงินระหว่างประเทศ การที่รัฐหรือธนาคารกลางเข้าไปแทรกแซงอาจมีความเสี่ยงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปีพ.ศ.2540 ที่ต้องทำความเข้าใจคือเงินบาทได้รับแรงกดดันจาก “FED” ที่ปรับดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบายของ “กนง.” ซึ่งคงไว้ร้อยละ 0.5 ทำให้มีช่องว่างสูงอาจทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนและการเข้ามาเก็งกำไรซึ่งจะไปซ้ำเติมให้บาทมีการอ่อนค่า ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าอาจไปถึงอัตรา 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐโดยอัตราแลกเปลี่ยนตลาดออฟชอร์มีการ “Bidding” ราคาเป็นรายนาที ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ ธปท.หรือกนง. ไปปรับขึ้นดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นต้นทุนต่อผู้ประกอบการในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจอ่อนไหวได้ง่าย

ข้อเท็จจริงตลาดค้าเงินของภูมิภาคจะเป็นตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้าไปแทรกแซงบางช่วงเวลาเพื่อไม่ให้ราคาสวิงหรือ “เก็งกำไร” มากเกินไปแต่จะไปพยุงไว้ตามอัตราที่ต้องการคงไม่ได้เป็นเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน กระแสกดดันค่าเงินบาทท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกอาทิ เช่น การปรับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐตลอดจนความเสี่ยงของสงครามยูเครนซึ่งกลายเป็นการเผชิญหน้ารัสเซียกับนาโต้รวมถึงผลที่ตามมาจากการแซงชั่นรัสเซียทางเศรษฐกิจทำให้ปริมาณน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์หายไปจากตลาดส่งผลต่อราคาไปกดดันเงินเฟ้อทำให้ราคาสินค้าในประเทศแพงจนชาวบ้านออกมาโวยต่อว่ารัฐบาลในการแก้ปัญหา ที่กล่าวมาล้วนเป็นความท้าทายของผู้บริหารประเทศซึ่งของไทยไม่รู้ว่าใครเป็นเบอร์หนึ่งด้านเศรษฐกิจที่มีกึ๋นพอเข้ามาเป็นกัปตันมืออาชีพแก้ปัญหา....ใครทราบช่วยบอกด้วยครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat