posttoday

ปรับค่าจ้างวันละ 490 บาท.....ภายใต้เศรษฐกิจเปราะบางรับไหวไหม ?

02 พฤษภาคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันเมย์เดย์” เป็นวันแรงงานสากล สำหรับประเทศไทยให้ความสำคัญกับภาคแรงงานประกาศเป็นวันกรรมกรแห่งชาติมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2499 และอีกปีถัดมาเปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติต่อมาภายหลังประกาศให้เป็นวันหยุดประจำปีของลูกจ้างในภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ในช่วงหลังๆ เริ่มเป็นธรรมเนียมที่ภาคแรงงานจะออกมาเรียกร้องหรือมีข้อเสนอต่อรัฐบาลรวมถึงการปรับค่าจ้าง ช่วง 2 ปีเศษกระแสเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีมาต่อเนื่องแต่จากเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อมีจำนวนคนว่างงานและ/หรือเสมือนว่างงานจำนวนล้านคนเศษตกค้างจากพิษของวิกฤตโควิดทำให้ข้อเรียกร้องอาจเงียบไป การปรับค่าจ้างครั้งล่าสุดก่อนโควิดระบาดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563  ปีนี้ก่อนวันแรงงานองค์กรเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานแห่งหนึ่งได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศวันละ 492 บาทโดยอ้างภาวะราคาสินค้าค่าครองชีพปรับราคาสูง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคทยอยปรับราคาจนกลายเป็นวิกฤตเงินเฟ้อที่เกิดครั้งนี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงจนทำให้ความต้องการสินค้า-บริการมีมากกว่าด้านอุปทาน เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงซึ่งคาดว่าทั้งปีอาจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5 จากอดีตที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1 สาเหตุสำคัญมาจากวิกฤตราคาพลังงานในรูปของน้ำมันดิบปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ถึงแม้ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลงไปแต่ราคายังเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ณ 27 เม.ย. ราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์กอยู่ที่ 106 USD.)  ภาวะเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางจากวิกฤตโควิดเมื่อมาผสมกับวิกฤตเงินเฟ้อเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีทำให้เศรษฐกิจมีความอ่อนแอ ภาคธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอีอยู่ในสภาพอ่อนแอและบอบช้ำมีปัญหาทั้งด้านรายได้ลดลงขณะที่ต้นทุนสูงจนทำให้ขาดทุนสะสมนำไปสู่การขาดสภาพคล่องทางการเงินบางรายต้องปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน

ข้อเสนอการปรับค่าจ้างทั่วประเทศอัตราเดียว 492 บาทต่อวันแบบไม่มีที่มาที่ไปของข้อมูลเป็นการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด เปรียบเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 10 อัตราระหว่าง 313-316 บาทต่อวัน โดยใช้กรณีศึกษาค่าจ้างขั้นต่ำกทม.และปริมณฑลอัตราวันละ 331 บาทจะทำให้ค่าจ้างสูงขึ้น วันละ 161 บาทสูงขึ้นร้อยละ 48.64 หรือเฉลี่ยต่อเดือน 14,760 บาท ระยะสั้นอาจทำให้ผู้ใช้แรงงาน “เฮ” จากที่มีรายได้มากขึ้นแต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจของประเทศอาจรับไม่ไหวเพราะจะเกิด “Multiplier Effect” คือผลกระทบแบบทวีคูณ เนื่องจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะไปใกล้เคียงกับอัตราจ้างงานระดับปริญญาตรี 15,000 บาทและสูงกว่าอัตราจ้างงานระดับปวส. 11,500 บาทรวมถึงระดับปวช.อัตราจ้างงาน 9,400 บาทรวมถึงแรงงานที่ทำงานมากก่อนทำให้จะต้องปรับค่าจ้างทั้งโครงสร้างเกี่ยวข้องกับแรงงานในภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจแม้แต่ข้าราชการก็คงหลีกไม่พ้น

นอกจากนี้จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่ชัดเจนคือราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นครั้งใหญ่ “คนจะยากจนมากกว่าเดิม” ขนาดยังไม่ได้ปรับค่าจ้างราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคบางอย่างปรับราคาไปรออยู่แล้วอีกทั้งจะเห็นการเร่งตัวปิดกิจการและ/หรือการเลิกจ้าง รายได้ที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดมีการนำเทคโนโลยีก้าวหน้าทั้งโรบอทและออโตเมชั่นอัจฉริยะรวมถึงเครื่องทุ่นแรงต่างๆ มาใช้ทดแทนแรงงานคน กระทบไปถึงแรงงานสูงวัยในตลาดแรงงานกว่า 4.235 ล้านคนที่มีความเสี่ยงอาจถูกปรับออกจากงาน นอกจากนี้ผลกระทบข้างเคียงที่เป็น "Side Effect" คือช่องว่างค่าจ้างของไทยกับประเทศคู่แข่งจะห่างกันมากขึ้น ทำให้การลงทุนใหม่อาจเลือกไปลงทุนในประเทศที่มีค่าจ้างต่ำกว่ารวมถึงการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนที่ใช้แรงงานเข้มข้นออกจากประเทศจะมีอัตราเร่งตัวมากขึ้นทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ประเทศที่ได้ประโยชน์จากการปรับค่าจ้าง เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย, กัมพูชา ขณะที่ประเทศเมียนมาร์จากความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองทำให้การลงทุนเกือบเป็นศูนย์

ข้อเรียกร้องการปรับค่าจ้างอัตราเดียวทั่วประเทศนัยเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี จากการศึกษายังไม่พบว่าประเทศใดใช้ค่าจ้างอัตราเดียวแม้แต่ประเทศสังคมนิยม เช่น จีนและเวียดนามอัตราค่าจ้างแตกต่างไปตามพื้นที่ เหตุผลเพราะต้องการจูงใจในการกระจายการลงทุนไปยังพื้นที่ห่างไกลไม่ให้ประชาชนมากระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างคนในเมืองกับคนต่างจังหวัด กรณีประเทศไทยหากค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศการลงทุนจะไม่ไปอยู่ในจังหวัดห่างไกลซึ่งมีต้นทุนโลจิสติกส์สูงและขนาดของตลาดไม่ใหญ่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูง

ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจคือมีความสับสนระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับรายได้ครัวเรือนของแรงงาน เริ่มจากค่าจ้างขั้นต่ำหรือ “Minimum Wage” เป็นค่าจ้างอ้างอิงตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไม่ว่าอายุ, การศึกษา, ความพิการทางร่างกาย, ทักษะรวมถึงแรงงานต่างด้าวที่จะต้องได้ค่าจ้างอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างแรกเข้าเป็นคนหนุ่ม-สาววัยเริ่มต้นทำงาน ค่าจ้างพอเพียงกับการดำรงชีวิตคนเดียวไม่ถึงเวลาที่ต้องผ่อนบ้าน, ผ่อนรถ, การศึกษาบุตรหรือต้องเลี้ยงดูบิดา-มารดา ส่วนรายได้ครัวเรือนของแรงงานเกี่ยวข้องกับมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานไประยะหนึ่งได้รับการปรับค่าจ้างไปตามทักษะและประสบการณ์ตลอดจนความสามารถในการทำงานหรือมีการเปลี่ยนแหล่งงานที่มีค่าจ้างดีกว่า ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่รายได้เกินค่าจ้างขั้นต่ำไปมากแล้วแม้แต่คนพิการที่กฎหมายบังคับให้จ้างตามสัดส่วนแทบจะหาไม่ได้

คำถามว่าการปรับค่าจ้างว่าจะอยู่ที่อัตราใดความเหมาะสมอยู่ตรงไหนโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคแรงงานและนายจ้างสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ แต่ต้องเข้าใจว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาค่าจ้างคือคณะกรรมการค่าจ้างหรือที่เรียกว่า “ไตรภาคี” ประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง-ลูกจ้าง-ผู้แทนภาครัฐ โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาค่าจ้างที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่แล้วนำเสนอส่วนกลางเพื่อเคาะว่าค่าจ้างควรจะเป็นเท่าไรก่อนที่จะนำเสนอรัฐมนตรีต่อไป แนวทางการพิจารณายึดหลักปัจจัยเศรษฐกิจ-การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านเงินเฟ้อและปัจจัยความสามารถของนายจ้าง เข้าใจว่าเดือนกรกฎาคมคงเห็นภาพชัดเจนว่าน่าจะเป็นเท่าใดส่วนการปรับจริงน่าจะอยู่ระหว่างเดือนกันยายน

ความกังวลคือการเมืองที่ส่งสัญญาณว่าอาจมีการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งพรรคการเมืองต่างๆ อาจนำนโยบายประชานิยมค่าแรงสูงเป็นจุดขาย จะไม่ให้ห่วงหรือกังวลก็ไม่ได้เพราะในอดีตเมื่อสิบปีก่อนเคยเกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองหนึ่งนำนโยบายหาเสียงค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศมีการแทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคีผลคือเศรษฐกิจซึมไปหลายปี การลงทุนทางตรงลดลงและมีการย้ายฐานการผลิตรวมถึงไทยที่เคยเป็นแชมป์ส่งออกถูกประเทศเวียดนามแซงหน้าโดยเศรษฐกิจขยายตัวเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน แม้เมื่อเร็วๆ นี้ช่วงก่อนเลือกตั้งครั้งสุดท้ายปีพ.ศ.2563 พรรคการเมืองใหญ่ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลยังใช้นโยบายค่าจ้างสูงในการหาเสียง มาถึงพ.ศ.นี้เศรษฐกิจของไทยไม่เข้มแข็งขณะที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่อ่อนแอ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและความสามารถของนายจ้าง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีปัญหาซับซ้อนอย่าใช้วิธีง่ายๆ อย่าใช้ประชานิยมด้วยการปรับค่าจ้างสูงๆ เพียงเพื่อให้ได้เข้ามาเป็นส.ส.หรือจัดตั้งรัฐบาลแต่ผลข้างเคียงจะทำให้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและมีความเสี่ยงมากขึ้น.....สุขสันต์วันแรงงานครับ