posttoday

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดและลิเวอร์พูล : 2 ทีม 2 สไตล์ในการบริหารTalent

01 พฤษภาคม 2565

คอลัมน์ บริหารคนบนความต่าง

ในบรรยากาศที่โลกของกีฬาฟุตบอลกำลังขับเคี่ยวกันอย่างสนุก ทั้งในการช่วงชิงการเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกของอังกฤษระหว่างแมนซิตี้กับลิเวอร์พูล หรือการแย่งกันเข้าสู่การเป็นคู่ชิงชนะเลิศการเป็นยอดทีมแห่งยุโรปในศึกยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีกของ 4 ทีมชั้นนำของยุโรป

ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะเขียนในแง่มมุมด้านการบริหารคนของสโมสรที่มีแฟนบอลและมีผู้สนใจติดตามเป็นจำนวน และเป็นคู่แค้นตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มมุมของการบริหารคนมากความสามารถที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “Talent” ของทั้งสองทีม ที่มีแนวทางการบริหาร Talent ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

โดยทั่วไปการบริหาร Talent จะตั้งต้นจาการมองไปที่กลยุทธ์ขององค์กรก่อน ว่า กำหนดกลยุทธ์ไว้ว่าอย่างไร แล้วคนที่จะทำให้กลยุทธ์นั้นสำเร็จควรจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไร ซึ่งนั่นหมายความว่า Talent คือกลุ่มคนที่มีคุณลักษณะตามที่ต้องการอย่างโดดเด่นกว่าคนอื่น ทั้งนี้ กระบวนการในการบริหาร Talent จะประกอบไปด้วย

หนึ่ง การระบุหรือการได้มาซึ่งTalent สอง การพัฒนาTalent สาม การให้Talentได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ และ สี่ การให้รางวัลTalentที่ไม่ได้หมายถึงรางวัลในรูปแบบของตัวเงิน แต่หมายถึงการให้รางวัลรูปแบบอื่นเช่น การยกย่องยอมรับ 

และเมื่อหยิบกระบวนการในการบริหาร Talent มาเป็นกรอบมองการบริหาร Talent ของทั้ง 2 ทีม ผมเห็นประเด็นที่น่าสนใจ อยากหยิบยกมานำเสนอ ดังนี้

ความต่างในกระบวนการระบุตัวหรือการได้มาซึ่งTalent 

การได้มาซึ่งTalentของแต่ละองค์กร จะมีการได้มา 2 แนวทางคือ “สร้าง (Build)” หรือ “ซื้อ (Buy)” ซึ่งทั้ง 2 ทีมจะมีแนวทางในการหา Talent เข้ามาในทีม ดังนี้

ลิเวอร์พูล – มีแนวทางที่ชัดเจนว่า เน้นการ “สร้าง” มากกว่า “ซื้อ” หากจะเปรียบเทียบว่าแนวทางการทำทีมของผู้จัดการทีมอย่างเจอร์เกนส์ คลอปป์ เสมือนหนึ่งเป็นวิสัยทัศน์องค์กร คลอปป์มีภาพพิมพ์เขียวของทีมที่ต้องการแล้วค่อยๆใช้เวลาในการสร้างทีมอย่างอดทน เขาจะปล่อยคนที่ไม่ใช่ออกไป

และสร้างคนที่ใช่ด้วยการมีทีมแมวมองที่ใช้หลักสถิติมาช่วย ก็ไม่ต่างจากการทำ Talent Assessment จะเห็นว่า ในทีมลิเวอร์พูลจะมาจากการสร้างมาแทบทั้งนั้น

แน่นอนว่า คลอปป์ก็มีการ “ซื้อ” Talent มาไม่น้อยเช่นกัน แต่การซื้อของเขามีความชัดเจนว่า หนึ่ง “ซื้อ”มาเพื่อเติมเต็มตำแหน่งที่เป็นจุดอ่อนที่ไม่สามารถ “สร้าง” ได้ทัน เช่น อลิสซอน หรือ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค หรือ สอง “ซื้อ” มาเพื่อเตรียมสร้างและใช้งาน โดยเป็นการซื้อนักเตะที่อายุน้อยค่าตัวไม่แพง แต่สามารถนำมา “สร้าง”ให้เข้ากับสไตล์ของคลอปป์ได้ เช่น โรเบอร์สัน หรือ หลุยส์ ดิอาซ

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด – ในช่วงหลังสิ้นยุคของเซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟอร์กูสัน ดูเหมือนว่า แนวทางการได้มาซึ่งTalentของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จะมาจากการ “ซื้อ” มากกว่าการ “สร้าง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง มีโปรไฟล์เด่น เป็นซุปเปอร์สตาร์ ซึ่งแน่นอนว่า ซื้อมาด้วยราคาแพง

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดยังอยู่ในภาวะที่ไม่อยากล้มเหลว ต้องการรักษาความสำเร็จในอดีต และสร้างความสำเร็จในระยะเวลาอันใกล้ เราจึงได้เห็นทีมแมวมองเลือกผู้เล่นที่ได้ชื่อว่าเป็นซุปเปอร์สตาร์อย่าง พอล ป็อกบา หรือ ซานเชส เข้ามาในทีม จะไม่ค่อยได้เห็นการมีนักเตะจากการ “สร้าง”มาอยู่ในทีมมากนัก

ความต่างในการพัฒนา Talent

ลิเวอร์พูล – อาจจะเนื่องด้วยการที่ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลมีภาพที่ชัดเจนว่า ทีมที่เขาอยากเห็นมีรูปแบบอย่างไร ต้องการนักเตะทีมีคุณลักษณะอย่างไร ต้องเล่นแบบไหน ทำให้การพัฒนา Talent ของาคลอปป์ดูจะมีความชัดเจน และมีจุดเน้นในการพัฒนาผู้เล่นแต่ละคนที่ชัดเจน

โดยเฉพาะเมื่อมีการนำ Big Data ของผู้เล่นมาวิเคราะห์ประกอบไปด้วย ทำให้การพัฒนาTalent ของทีมลิเวอร์พูลส่งผลที่กระทบโดยตรงต่อผลลัพธ์ที่ต้องการได้

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด – ด้วยการได้มาซึ่ง Talent ของทีม เป็นการซื้อผู้เล่นด้วยราคาที่แพง พร้อมค่าจ้างที่แพง ซึ่งการได้Talent มาด้วยฐานความคิดที่ว่า เอามาใช้งานได้ทันที ทำให้แนวทางในการพัฒนาจะไม่ชัด แต่จะมุ่งไปที่การทำอย่างไรจะเค้นให้ผู้เล่นใช้ศักยภาพเฉพาะมาตอบโจทย์แผนการเล่นของทีม

เราจึงได้เห็นการ “ซื้อ” ผู้เล่นดาวรุ่งอย่าง ฟาน เดอ เบค ที่กำลังไปได้ดีและโดดเด่นกับทีมเดิม แต่ไม่ได้เห็นการพัฒนาที่ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่ยกระดับมาช่วยทีมได้ จนต้องปล่อยยืมตัวออกไป ซึ่งภาพของการพัฒนาที่ไม่ชัดเจน ไม่มีทิศทางคล้ายกรณีฟาน เดอ เบค เป็นภาพที่เกิดขึ้นกับผู้เล่นในทีมอีกหลายๆคน

ความต่างในการให้รางวัล Talent

ลิเวอร์พูล – การให้รางวัลในรูปแบบของผลตอบแทนที่เป็นค่าเหนื่อยประจำสัปดาห์ของผู้เล่นทีมลิเวอร์พูลจะเป็นไปในแนวทางที่ไม่ให้เกิดความต่างกันมาก แม้จะมีบางคนที่เป็น Talent ที่โดดเด่นมาอย่างโมฮัมเหม็ด ซาร่า ก็ไม่ได้รับค่าเหนื่อยที่สูงกว่าคนอื่น และยิ่งเทียบกับผู้เล่นที่เป็น Talent ของทีมอื่น ค่าเหนื่อยของซาร่าจะยิ่งน้อยลงไปอีก

ซึ่งลิเวอร์พูลเลือกการให้รางวัลกับผู้เล่นในรูปอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การยกย่องยอมรับ การทำให้คนในทีมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม การได้มีโอกาสในการได้เล่นในเวทีที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งการที่ลิเวอร์พูลเลือกแนวทางการให้รางวัลTalent ที่สวนทางกับหลักการให้รางวัลTalent

โดยทั่วไปที่จะให้รางวัลในรูปตัวเงินที่ฉีกออกไปจากคนอื่น ทำให้ลิเวอร์พูลเองก็ต้องเตรียมตัวที่จะต้องปล่อยผู้เล่นตัวหลักออกไปจากทีมอย่างกรณีของไวล์นาดุมที่เจ้าตัวอยากอยู่ต่อแต่ขอปรับค่าเหนื่อยและระยะเวลาสัญญาเพิ่มจากการต่อสัญญาฉบับใหม่ แต่เมื่อไม่ได้ เจ้าตัวก็เลือกที่จะไปอยู่ทีมอื่น

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด - เมื่อเลือกแนวางการได้ Talent จากการซื้อผู้เล่นที่มีชื่อชั้นติดลมบน ค่าเหนื่อยของคนกลุ่มนี้ก็สูงติดลมบนด้วยเช่นกัน ทำให้ทีความคาดหวังจากแฟนบอลว่า การได้รับค่าจ้างสูงก็ควรจะมีมาตรฐานการเล่น การยกระดับทีมที่สูงตามไปด้วย

แต่เมื่อผลงงานของผู้เล่นค่าตัวสูง แต่ไม่สามารถสร้างผลงานได้ดี ทำให้แนวทางการให้ผลตอบแทน Talent ที่สูงมากกว่าตลาดการจ้างงาน กลายเป็นหอกที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงผู้เล่นและผู้จัดการทีมได้เช่นกัน     

ผมไม่สามารถจะบอกได้ว่า เพราะการบริหาร Talent แบบ “สร้าง” ของลิเวอร์พูลจึงทำให้ทีมประสบความสำเร็จในระยะเวลา 4 ปี และก็ไม่กล้าชี้ว่า การบริหาร Talent แบบ “ซื้อ” ของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ส่งผลให้ทีมอยู่ในช่วงล้มเหลวและตกต่ำ

เพราะมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อผลสำเร็จของทีมนอกเหนือจากการบริหารTalent เช่น สปิริตของทีม การสนับสนุนจากผู้บริหารด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง และอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อผลสำเร็จของทีม