posttoday

ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงสุดรอบ 7 ปี....ฉุดรั้งฟื้นเศรษฐกิจครึ่งปีแรก

07 กุมภาพันธ์ 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

เศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การค้าและบริการ การเข้าถึงตลาดและหรือผู้บริโภคไม่ว่าจะใช้พาหนะอะไรแม้แต่รถอีวีก็ต้องอาศัยน้ำมันหรือพลังงานในรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดจนผลผลิตทีได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันในรูปแบบต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในยุคอุตสาหกรรมตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงตายก็ต้องใช้ไฟฟ้าในการฌาปนกิจศพ      ดังนั้นราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงรายวันจึงเป็นปัญหาตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงรัฐบาล เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าที่ขณะนี้ทยอยปรับราคาตามการปรับตัวของน้ำมันซึ่งพุ่งไม่หยุดทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ทศวรรษมีแนวโน้มว่าอาจทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อแทรกซ้อนมากับวิกฤตโควิดซึ่งยังไม่จบ

ประเด็นที่อยากจะสื่อสารเกี่ยวข้องกับภาวะราคาพลังงานในรูปแบบของน้ำมันดิบ (Crude Oil) แค่หนึ่งเดือนที่ผ่านมาราคาตลาดค้าน้ำมันนิวยอร์ก (WTI) จากระดับ 76.08 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ณ วันที่ 4 ก.พ. 65 พุ่งทะลุเป็น 90.97 เหรียญเพิ่มขึ้น 14.89 เหรียญหรือสูงขึ้นร้อยละ 19.6  ผลที่ตามมาคือราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มเบนซิน 95 (E10) ในช่วงหนึ่งเดือนปรับจากลิตรละ 31.15 บาทเป็น 34.55 บาทเพิ่มขึ้นลิตร 3.40 บาท และเร็วๆ นี้คงปรับสูงขึ้นอีกตามราคาน้ำมันโลก คนที่ใช้รถยนต์เบนซินโดยเฉพาะกทม.และปริมณฑลต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ราคาน้ำมันมีการทยอยปรับมาเป็นระยะแต่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายกันยายนปีที่แล้ว ผลข้างเคียงทางบวกหุ้นโรงกลั่นน้ำมันและหุ้นพลังงานส่วนใหญ่ฟันกำไรกันถ้วนหน้าบางบริษัทฯ กำไรเกือบเท่าตัว

สาเหตุหรือปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกสูง เช่น ประการแรก อุปสงค์น้ำมันโลกเพิ่มจากเศรษฐกิจโลกเริ่มคลายตัวจากวิกฤตโควิดทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนรวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว การบริโภค-การเดินทางเริ่มกลับมาสูงขึ้นทำให้มีการใช้น้ำมันเพิ่มร้อยละ 4-5  ประการที่สอง เกี่ยวข้องกับ “Seasonal Demand” อยู่ในช่วงฤดูหนาวประเทศซึ่งอยู่ในเขตโซนเหนืออากาศหนาวจัดทำให้ใช้พลังงานในการทำความอบอุ่นในบ้านเรือนและสำนักงานสูงขึ้นกว่าปกติ 

ประการที่สาม ความตึงเครียดชายแดนตอนเหนือของประเทศยูเครนจากกรณีรัสเซียเตรียมกำลังกองทัพพร้อมรบนำไปสู่ความแข็งกร้าวของ “นาโต้-สหรัฐอเมริกา” ต้องเข้าใจว่ายุโรปนำเข้าก๊าซจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 38 ของปริมาณการใช้รวมกัน มาตรการที่สหรัฐฯ ขู่คว่ำบาตรรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกพลังงานในรูปแบบน้ำมันดิบและก๊าซรายใหญ่สุดนอกกลุ่มโอแปคย่อมกระทบต่อระดับราคาน้ำมันโลกแต่บางประเทศในอียู เช่น เยอรมันยังสงวนท่าที ประการที่สี่ ผลการประชุมประเทศส่งออกน้ำมันและพันธมิตร 10 ประเทศหรือ “OPEC PLUS” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเพิ่มเพดานการผลิตเดือนมีนาคมเพียงแค่วันละ 4 แสนบาร์เรลต่ำกว่าอุปสงค์ความต้องการใช้เป็นปัจจัยตัวเร่งต่อระดับราคา

ที่กล่าวเป็นเพียงบางส่วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้อุปสงค์ความต้องการน้ำมันไม่สมดุลกับอุปทานการผลิต ผลคือราคาน้ำมันในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวสูง ตลาดเทรดน้ำมันระดับโลกเป็นตลาดเก็งกำไรค้าล่วงหน้าตลาดหลัก เช่น ตลาดนิวยอร์ก (WTI) และตลาด “BRENT” (น้ำมันจากทะเลเหนือ) ส่งมอบมีนาคมถึงเมษายน 2565 ปรับราคาสูงขึ้นเป็นรายชั่วโมงทะลุสู่ระดับ 91.6 เหรียญ/บาร์เรล แม้แต่ตลาดดูไบ (Dubai) ราคาอยู่ที่ 89.16 เหรียญ/บาร์เรล (ราคา ณ วันที่ 4 ก.พ. 65) การซื้อขายน้ำมันตลาดโลกใช้หน่วย “Barrel” โดย 1 บาร์เรลมีค่าเท่ากับ 159 ลิตร ผลกระทบที่มีกับไทยค่อนข้างสูงเพราะเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสัดส่วนร้อยละ 67 ปีที่แล้วไทยใช้น้ำมันเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 133.15 ล้านลิตร/วัน เป็นน้ำมันดีเซลภาคขนส่งสัดส่วนร้อยละ 47.4 ลดลงร้อยละ 3.5

ขณะที่กลุ่มใช้น้ำมันเบนซินลดลงร้อยละ 8.5  ถึงแม้ที่ผ่านมาได้รับแรงกระเพื่อมจากวิกฤตโควิดทำให้การใช้น้ำมันสำเร็จรูปปีที่ผ่านมาลดลงเฉลี่ยร้อยละ 3.5 แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้มูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงปีพ.ศ.2564 ในรูปเงินบาทมากขึ้น 4.283 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.43

รัฐบาลคงตระหนักผลที่จะตามมาจากรายจ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้นแต่รายได้เท่าเดิมหรือลดลง ขณะที่ประชาชนจำนวนมากอยู่ในสภาวะว่างงานหรือเสมือนว่างงานมีการดัน “โครงการคนละครึ่งเฟส 4” และปัดฝุ่นเงินสวัสดิการแห่งรัฐ 300 บาทต่อเดือนเพิ่มกลุ่มเป้าหมายจาก 13.45 ล้านคนเป็น 17 ล้านคนวงเงินหกหมื่นล้านบาท ด้านขนส่งมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล (B7) ไว้ที่ลิตรละ 30 บาทโดยทุกลิตรที่เติมน้ำมันมีเงินที่ชดเชยจากกองทุนน้ำมัน 3.79 บาทและลดค่าการตลาดสมทบอีก 0.5095 บาท แต่ละเดือนใช้เงินอุดหนุนดีเซล (B7) ประมาณห้าพันล้านบาทและตรึงราคาแก๊ส “LPG” ไม่เกิน 318 บาทต่อถัง 15 กก.ใช้งบเกือบสองพันล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 30 มกราคม 2565 ติดลบกว่า 14,080 ล้านบาท นอกจากนี้จะปรับลดสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์ม (B100) ซึ่งปัจจุบันราคาลิตรละ 57.27 บาทสูงกว่าราคาน้ำมันดีเซลกว่า 2 เท่าโดยจะลดให้เหลือร้อยละ 5 ที่ไม่ตัดออกทั้งหมดเพราะเกี่ยวข้องกับรายได้ของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม สำหรับน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 (E10) สำหรับผู้ใช้รถเก๋งที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มเงินกองทุนน้ำมันแบบเงียบๆ จากลิตรละ 0.620 บาทเป็น 1.020 บาทและปรับเพิ่มค่าการตลาดจากลิตรละ 0.9305 บาทเป็น 2.626 บาทรวมกันเป็นราคาเท่าใดก็ไปบวกกันเอง

คราวนี้มาดูผลกระทบผู้ประกอบการขนส่งเพราะเกี่ยวข้องกับต้นทุนสินค้าทุกประเภท ราคาน้ำมันดีเซลก่อนหน้านี้ใช้ B10 คือผสมน้ำมันปาล์มร้อยละ 10 ราคา ณ เดือนกรกฎาคมปีที่แล้วลิตรละ 25.99 บาท ราคาปัจจุบันรัฐบาลตรึงไว้อยู่ที่ลิตรละ 29.94 หักกลบแล้วช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นลิตรละ 3.95 บาทหรือสูงขึ้นร้อยละ 15.2  ส่องกล้องดูโครงสร้างต้นทุนขนส่งค่าเฉลี่ยช่วงมกราคมถึงธันวาคมปีที่ผ่านมาต้นทุน

อันดับหนึ่งคือค่าจ้าง-ค่าแรง-หัวเที่ยวของพนักงานขับรถและพนักงานสนับสนุนขนส่งรวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.2, อันดับสองเป็นค่าน้ำมันดีเซล (สำหรับธุรกิจขนส่งที่ไม่ใช้ก๊าซ NGV) สัดส่วนประมาณร้อยละ 23.26 เปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกซึ่งราคาน้ำมันยังไม่พุ่งสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.59 ตามมาด้วยค่าเสื่อมราคารถบรรทุกร้อยละ 15.5, ค่าซ่อม-ค่าบำรุงรักษารวมค่าปะและเปลี่ยนยางรวมกันร้อยละ 8.3, ค่าประกันภัยเฉลี่ยร้อยละ 4.87 แถมด้วยค่าทางด่วนอยู่ในต้นทุนขนส่งร้อยละ 3.9  ค่าใช้จ่ายเหล่านี้สัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 87 ของโครงสร้างต้นทุนขนส่ง เฉพาะช่วงครึ่งปีหลังพ.ศ.2564 จากที่ราคานั้นเริ่มปรับตัวสูงธุรกิจขนส่ง (บางแห่ง) ยังสามารถทำกำไรก่อนหักภาษีประมาณร้อยละ 10  ตัวเลขดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการขนส่งแต่ละรายอาจมีโครงสร้างรายได้และต้นทุนที่แตกต่างกัน

ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงมีผลต่อระดับราคาน้ำมันหน้าปั๊มเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งโดยตรงและทางอ้อม ขอยกตัวอย่างเช่นการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยในภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำมันเตาหรือ “Bunker Oil” การผลิตใช้ก๊าซธรรมชาติสัดส่วนร้อยละ 57.5  น้ำมันดีเซลใช้ในภาคขนส่งตั้งแต่รถปิกอัพไปจนถึงรถเทรลเลอร์รวมไปถึงขนส่งทางน้ำ, ทางรางและทางอากาศ  ภาคเกษตรปัจจุบันใช้เครื่องทุ่นแรงและการสูบน้ำล้วนใช้น้ำมันทั้งสิ้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันที่ใกล้ตัวคือพลาสติกและเส้นใยโพลิเอสเตอร์ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในเสื้อผ้าที่สวมใส่ ผลผลิตจากน้ำมันยังเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์จากยางสังเคราะห์, อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางไนไตร, ถุงยางอนามัย,ยางมะตอย, อุตสาหกรรมสี, ทินเนอร์, กาว, ยาฆ่าแมลง, ผลิตสบู่และผงซักฟอก,ผลิตเส้นใย-เส้นด้าย, ขวด-  ถุง-ภาชนะใส่อาหารต่างๆ ฯลฯ 

จากที่กล่าวจะเห็นได้ว่าผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวแบบก้าวกระโดดในช่วงนี้ไม่ธรรมดา ผู้เชี่ยวชาญน้ำมันของ“โกลด์แมนแซคส์”ประเมินว่ากลางปีอาจเห็นราคาน้ำมันโลกทะลุระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อาจกลายเป็นวิกฤตพลังงานรอบใหม่บวกกับวิกฤตเงินเฟ้อแถมด้วยวิกฤตจากโควิดที่ยังไม่จบง่ายๆ ทำให้เป็นความเสี่ยงต่อการฉุดรั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและของไทยอย่างน้อยครึ่งปีแรก การรับมือคงไม่ใช่แค่เรื่องหมูแพงหรือไข่ไก่-ไข่เป็ดแพง ส่วนใครจะต้องทำอะไรคนตัวน้อยๆ อย่างเราอย่างท่านคงไม่สามารถบังอาจไปชี้แนะแต่ขอให้เตรียมรับมือให้ดีก็แล้วกัน.....นะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat