posttoday

ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารในเมียนมา

29 มกราคม 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ของปีที่ผ่านมา ได้เกิดการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ด้วยเหตุผลหลากหลายเหตุผล ตามที่พวกเราได้ทราบกันแล้ว เผลอแป๊บเดียว ก็ย่างเข้าสู่การครบรอบหนึ่งปีในอีกสองวันข้างหน้าแล้วครับ

ในหนึ่งปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ประท้วงอารยะขัดขืนเกิดขึ้นในเมืองต่างๆทั้งประเทศเมียนมา ทำให้เกิดการปราบปรามและมีผู้เสียชีวิตไปพันกว่าคน บาดเจ็บสูญหายไปอีกมากมาย ก็คงจะไม่ได้หายไปจากโลกนี้หรอกครับ อาจจะลี้ภัยไปอยู่ในที่ต่างๆก็ได้ เราคงไม่ต้องบรรยายอะไรมากนะครับ

การปฎิวัติรัฐประหาร ซึ่งจะเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือเรียกเป็นอย่างอื่นใดๆก็ตาม ผมอยากจะบอกว่า ในประเทศแถบภูมิภาคนี้ เราจะเห็นกันจนเกือบจะชินตาไปแล้ว แต่ที่ประเทศเมียนมา เหตุการณ์เช่นนี้ ถ้าจะเทียบกับในอดีต ในปีคศ.1988 หรือปีพศ. 2531ก็มีปัญหาเช่นนี้มาก่อน

ในครั้งนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอยู่แล้ว คือท่านพลเอก เนวิน ซึ่งเป็นผู้นำอยู่ ได้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมาก ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษา ไม่พอใจในรัฐบาล

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว จนกระทั่งมาระเบิดขึ้น เมื่อมีการทะเลาะกันในร้านขายชาพม่าเล็กๆ ที่นักศึกษาไม่พอใจกันเอง แล้วเกิดมีการชกต่อยกัน ทำให้เจ้าของร้านที่เป็นลูกหลานผู้มีอำนาจ เข้ามาพัวพันด้วย จนเกิดมีการตายเกิดขึ้น

จากจุดนี้เอง เลยกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ทำให้เกิดการรัฐประหาร จนกระทั่งก่อเกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ ในวัน 8888 หรือวันที่ 8 สิงหาคม คศ.1988 นั่นเองครับ ซึ่งครั้งนั้นก็ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายไปมากกว่าสามพันคน (ตามรายงานของทางการ) และหายสาป สูญไปกว่าหมื่นคน 

ในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เราคงไม่ต้องกล่าวถึงสาเหตุของการรัฐประหาร หรือผลที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่วันนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังจะมาถึงดีกว่านะครับ

สิ่งแรกที่กำลังจะมาถึงในอีกสองสามวันข้างหน้านี้ ผมเชื่อส่วนตัวว่า อาจจะมีการเกิดความวุ่นวายขึ้นในเมืองใหญ่ๆในประเทศเมียนมา เพราะยังมีกลุ่มที่ไม่ยอมรับรัฐบาลปัจจุบันที่มาจากทหาร และได้ออกไปร่วมกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆตามชายแดน

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลนี้จำเป็นที่จะต้องทำในอีกสองสามวันนี้ ก็คือการเข้มงวดกวดขันตามเมืองต่างๆนั่นเอง ประชาชนอาจจะมีความไม่สะดวกในการเดินทางอย่างแน่นอน และถ้าหากทุกฝ่ายสามารถหาจุดที่เป็นกลางๆได้ แม้จะไม่ได้สมปรารถนาบ้าง ถ้าต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ก็คงต้องอดทนกันหน่อยละครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้นี้ คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเมียนมา หากเกิดมีการบอยคอตจากชาติตะวันตก หรือกลุ่มชาติอาเชียนด้วยกันเอง ซึ่งแม้นว่าท่านสมเด็จฮุนเซน ผู้นำประเทศอาเชียน จะพยายามใช้กุศโลบายด้านการต่างประเทศเข้ามาช่วย

หากไม่เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างที่หวังไว้จริงๆ ท่านพลเอกอาวุโส เมียนมา อ่อง หล่าย จะแก้เกมส์อย่างไร อันนี้ก็น่าคิดนะครับ โดยส่วนตัวผมคิดว่า “เรือเมื่อต้องการลอดใต้สะพาน หัวเรือย่อมไม่ชนตอม่อสะพานหรอกครับ เรือจะต้องหลบตอม่อโดยอัตโนมัติอย่างแน่นอนครับ”  ดังนั้นเราต้องจับตาดูกันต่อไปครับ

ส่วนเรื่องการถอนทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ของชาติตะวันตก เช่น บริษัท Total และบริษัท  Chevron จะส่งผลกระทบต่อบริษัทพลังงานของประเทศไทยอย่างไรหรือไม่ ในความคิดส่วนตัวของผม ผมเชื่อว่าคงไม่น่าจะบ้าจี้ไปกับเขานะครับ เพราะเขาถอนตัว เพราะเขาเป็นบริษัทของชาติตะวันตก ซึ่งเขาอยู่ห่างไกลกับประเทศเมียนมามาก

ในขณะที่เราเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกันยาวถึงสองพันกว่ากิโลเมตร เราต้องพึ่งพาอาศัยต่อกันในทุกๆเรื่อง หากประเทศเมียนมาไม่ได้ถูกเขาประกาศบอยคอตแบบ Economic Sanction เราก็ไม่น่าจะมีเหตุผลเต้นตามเขานะครับ เราควรคำนึงถึงตัวเราเองเป็นสำคัญมากกว่านะครับ

สุดท้ายคือการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศเมียนมา ตามที่ท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ได้ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งอย่างเร็ววัน ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายกำลังจับตาดูว่าจะเกิดขึ้นได้จริง ดั่งที่ท่านได้ให้คำมั่นสัญญาหรือไม่

หรือหากจะมีการเลือกตั้งจริง ก็ต้องดูว่าจะมีการขยับตัวเพื่อชิงความได้เปรียบต่อคู่แข่งหรือไม่ เท่าที่ผมทราบมาว่า มีการขยายเขตพื้นที่เมือง เพื่อเพิ่มจำนวน “ปิตู้หลุดต่อ” หรือผู้แทนราษฎรแล้ว นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับก็เป็นไปได้นะครับ

ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องของการใช้สกุลเงินบาท-จ๊าด หรือ Local Currency ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาวๆครับ ไว้อาทิตย์ถัดๆไป ผมจะนำมาอธิบายแบบง่ายๆถึงข้อดี-ข้อเสียให้อ่านกันนะครับ