posttoday

ความหวังของนักธุรกิจเมียนมา

22 มกราคม 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

มีเพื่อนนักธุรกิจชาวเมียนมา ที่หลบภัยมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครแวะมาหาผม แต่เพื่อความปลอดภัยของเขา ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงชื่อเสียงเรียงนามหรือธุรกิจที่เขาทำอยู่นะครับ

เพราะผมเชื่อว่าถ้าเอ่ยถึง รับรองว่ามีคนจำได้แน่ว่าเขาคือใคร เพียงแต่จะขอเล่าถึงความคิดของเขาว่า เขามีแนวคิดอย่างไร? และความหวังของเขาคืออย่างไร? เขาได้เข้ามาพบผมที่ออฟฟิต เรานั่งคุยกันอย่างออกรสออกชาติทีเดียว

เชื่อว่าเนื้อหาที่พูดคุยกันในวันนั้น น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆนักธุรกิจไทยบ้าง ไม่มากก็น้อยครับ

เพื่อนชาวเมียนมาคนนี้ เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงจังหวะที่เกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายของการประท้วง เขาเล่าว่า เมื่อประเมินสถานการณ์ในขณะนั้นแล้ว เขาคิดว่าใกล้เคียงในช่วงเหตุการณ์ปี 1988มาก และเขาเชื่อว่าความสงบภายในประเทศคงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้

เขาจึงอาศัยช่องทางธรรมชาติเข้ามาอาศัยอยู่ในชายแดนประเทศไทย ผมถามว่าแล้วเขาเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ไม่กลัวจะถูกจับเหรอ เขาบอกว่า เนื่องจากบ้านเดิมเขาอยู่ที่ชายแดนไทย-เมียนมา

ดังนั้นเขาได้มีการลอบเข้ามาทำบัตรประชาชนไทยไว้นานมากแล้ว เขาจึงมีสัญชาติไทยอยู่ ซึ่งพูดตรงๆก็ผิดกฎหมายนั่นแหละ แต่ก็ยังดีกว่าคนไม่มีสัญชาติไทยเยอะ เฮ้อ....ง่ายจังนะครับ

ส่วนในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เขามีมุมมองอย่างไร?ขาตอบว่า น่าจะสดใสกว่าในช่วงแรกๆของการเปลี่ยนแปลง เพราะฝ่ายรัฐบาลทหารเริ่มที่จะมีท่าทีที่อ่อนลงเยอะ ไม่เหมือนช่วงแรกๆที่มีการปราบปราม ช่วงนั้นเขารู้สึกว่ารัฐบาลทหารไม่ยอมลดความแข็งกร้าวลงเลย

จะเห็นได้จากหลังการเยี่ยมเยือนของท่านนายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฮุนเซ็นเดินทางเข้าไป ดูว่านอกจากไม่ยอมให้เข้าพบท่านดอร์ อ่อง ซาน ซูจี แล้วนอกนั้นท่านพลเอก อาวุโส เมียน อ่อง หล่าย จะยอมให้ในหลายๆเรื่อง ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดีมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่มีการออกมาพูดว่าจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งได้ แม้จะยังไม่มีกำหนดวันเวลาที่แน่ชัดก็ตาม เพราะจะทำให้เกิดความหวังของประชาชนขึ้นนั่นเอง

ผมได้ถามว่า แล้วการที่มีการประกาศใช้นโยบาย หยวน-จ๊าด ในกลางเดือนธันวาคม เขามีความคิดเห็นอย่างไร? เขาตอบว่า นับเป็นช่องทางที่จะสร้างตัวเลขทางการค้าระหว่างประเทศระหว่างเมียนมา-จีน ได้มากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันนี้ ชายแดนเมียนมา-จีนจะยังคงปิดพรมแดนกันอยู่ แต่เขาเชื่อว่าคงจะได้เห็นการเปิดพรมแดนกันในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน ซึ่งในข้อนี้ ผมค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขา แต่ก็ไม่อยากโต้แย้ง ก็ได้แต่รับฟังครับ

เพียงแต่ในใจคิดว่า ตราบใดที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคร้าย COVID-19 ในประเทศภูมิภาคนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลดลง ผมเองก็เชื่อลึกๆว่า ประเทศจีนจะไม่มีทางที่จะเปิดพรมแดนแน่นอน เพราะจีนเขาเข้มงวดต่อการควบคุมโรคติดต่อนี้มาก ดังนั้นสิ่งที่เขามองกับมุมมองของผมจะแตกต่างกัน

ผมได้ถามเขาอีกว่า แล้วทำไมธนาคารกลางแห่งเมียนมา ยังไม่ยอมประกาศใช้นโยบายบาท-จ๊าดเสียที ทั้งๆที่ท่านพลเอก อาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ได้ออกมากระตุ้นให้ใช้บาท-จ๊าดในการค้าชายแดนมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมแล้ว

เขาตอบว่า เขาเองก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน แต่ในมุมมองของเขา เขาเชื่อว่าอาจจะมีผลเนื่องมาจากยังมีการสู้รบอยู่ในรัฐกระเหรี่ยง ที่มีชายแดนติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คงอาจจะสร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาอยู่ไม่น้อย ซึ่งคงจะไม่เกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลทางชายแดน

เพราะเขาคิดว่าหากทางท่านพลเอก อาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ออกมาพูดเช่นนั้น เพราะต่อให้มีอิทธิพลมากแค่ไหน ก็คงไม่มีใครกล้าต่อต้าน จะมีแต่กล้าทำงานช้าลงเท่านั้น

เขายังตั้งข้อสังเกตุว่า ให้ผมจับตาดูการทำงานของข้าราชการเมียนมา ที่ไม่ค่อยจะเดินหน้าเท่าไหร่ ลึกๆคงจะมีการทำตัวเป็นคนดื้อตาใสก็เป็นไปได้

ผมยิงคำถามไปอีกว่า ถ้าการประกาศใช้นโยบายบาท-จ๊าด เกิดผลสำเร็จแล้ว ผู้ประกอบการประเภทไหนจะมีผลประโยชน์มากที่สุด? เขาตอบว่ากลุ่มผู้ประกอบการค้าชายแดนและกลุ่ม SME ของทั้งสองประเทศจะได้ผลประโยชน์มากที่สุด

รายใหญ่ๆเขามีการดำเนินการอย่างถูกต้องทั้งการนำเข้าและส่งออก ดังนั้นสัญญาซื้อ-ขาย เขาทำตามข้อกำหนดของกฎหมายอยู่แล้ว เขาคงไม่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้นโยบายบาท-จ๊าดในทางตรงมากเท่าใด จะมีก็เพียงผลประโยชน์ทางอ้อมเท่านั้น เช่น เม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบจะมีมากขึ้นเป็นต้น

การพูดคุยกันร่วมสองชั่วโมงจึงได้ยุติลงไป หลังจากที่เขาบอกลาผม ผมก็ได้แต่บอกเขาว่า ขอให้เขาใช้ชีวิตให้มีความสุขระหว่างอาศัยอยู่ในประเทศไทย

แต่อย่าทำผิดกฎหมายเป็นอันขาด เพราะหากมีการขุดคุ้ยเรื่องของบัตรประชาชน เขาได้รับความเดือดร้อนแน่นอน ขอให้เขาโชคดีและสามารถเดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่เมียนมาต่อไป