posttoday

สภาวะตลาดแรงงานภายใต้วิกฤตโอมิครอน...ลุ้นอย่าล็อกดาวน์

17 มกราคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ตลาดแรงงานกับสภาวะเศรษฐกิจมีความสำคัญกันอย่างเป็นนัย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาวิกฤตจากโควิด-19 มีการระบาด 4 ระลอกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงมากสุดในรอบ 24 ปีนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ถึงแม้ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ GDP อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1-1.2 ขณะที่ปี พ.ศ.2563 เศรษฐกิจหดตัวแรงสุดถึงร้อยละ 6.1 บาดแผลจากโควิด“Covid Pain Point” ทำให้สถานประกอบการจำนวนมากปิดตัวหรือต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้-พักหนี้-รีไฟแนนซ์จำนวน 6.69 ล้านบัญชีมูลหนี้รวมกัน 3.82 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวที่ต้องรอถึงปีหน้าจึงค่อยเห็นแสงสว่าง

เริ่มปีใหม่หวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวหลังยกเลิกล็อกดาวน์ภาคค้าปลีกและบริการแคะกระปุกนำเงินก้อนสุดท้ายออกมากู้ธุรกิจและทยอยการจ้างงาน ผ่านมาไม่ถึงสองเดือนเจอกับโควิดระลอกที่ 5 เล่นงานประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าส่งออกและเป็นตลาดท่องเที่ยวหลักของไทย วิกฤตรอบนี้กลายเป็นผลกระทบเศรษฐกิจระดับโลก “Global Megatrends” อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคในรูปของการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรเดียวที่ยังพยุงเศรษฐกิจ วิกฤตโอมิครอนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นหลักหมื่นคนต่อวันจนรัฐบาลยกระดับการเตือนภัยอยู่ในขั้นสูงระดับที่ 4 ดับฝันการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจยาวไปถึงครึ่งปีและธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องกับบริการมีความเสี่ยงจากการถูกล็อกดาวน์อีกครั้ง

อย่างที่กล่าวแต่ต้นเศรษฐกิจที่ทรุดตัวพอจะฟื้นก็เจอแจ็คพอร์ตโอมิครอนซึ่งแน่นอนยอมมีผลต่อการจ้างงาน ก่อนอื่นขอส่องกล้องให้เห็นถึงสภาวะโครงสร้างตลาดแรงงานข้อมูลล่าสุดมีจำนวนผู้มีงานทำจำนวน 37.71 ล้านคนในจำนวนนี้เป็นแรงงานรับจ้างในภาคเอกชน 24.32 ล้านคนแต่เป็นแรงงานในระบบมีจำนวน 11.067 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 45.5  ผลกระทบจากวิกฤตโควิดสะท้อนจากจำนวนแรงงานในระบบประกันสังมาตรา 33 เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจำนวนคนหายไป 6.63 แสนคนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.56  ขณะที่แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายในช่วงเดือนเดียวกันก็ลดหายไป 4.86 แสนคนทำให้ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นไร้ทักษะออกมาโวยวายว่าแรงงานไม่พอขอให้รัฐบาลเร่งนำเข้า

ข้อมูลที่สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานไตรมาส 3 ปีที่แล้วอัตราการว่างงานพุ่งสูงร้อยละ 2.3 (ค่าเฉลี่ยร้อยละ 1)  เป็นอัตราสูงสุดในรอบหนึ่งทศวรรตมีจำนวนผู้ว่างงาน 8.71 แสนคนและผู้เสมือนว่างงานทำงานไม่ถึง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จำนวน 9 แสนคนซึ่งถือว่าเป็นคนว่างงานแฝงทำให้อัตราว่างงานที่แท้จริงอาจสูงถึงร้อยละ 4.58  ไม่ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับแรงงานจะออกมาประชาสัมพันธ์ในทางบวกอย่างไร  แต่ก็ไม่สามารถลบล้างข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้ได้ ที่สำคัญรัฐต้องเร่งแก้คือจำนวนคนว่างงานส่วนใหญ่เกือบ 1 ใน 3 จบปริญญาตรีและสูงกว่าซึ่งจบในสาขาของยุค 2.0 ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวข้องกับแรงงานวัยตอนต้นหรือแรงงานใหม่ที่จะจบการศึกษาในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวน 498,875 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.1 จบระดับอุดมศึกษาในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (Demand Mismatching) ซึ่งจะเข้ามาเติมจำนวนคนว่างงานจริงให้สูงขึ้นซึ่งจะเป็นการเสียโอกาสของกลุ่มคนรุ่นใหม่รวมถึงผู้ปกครองที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนสูงแต่กลับหางานยาก

ข้อมูลที่แสดงถึงตลาดแรงงานมีความเปราะบางสะท้อนจากจำนวนคนที่ไปสมัครงานผ่าน jobthai.com  ข้อมูลล่าสุด (5 ม.ค. 65) มีจำนวนสูงถึง 1.984 ล้านคนโดยส่วนใหญ่ครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลรองลงมาอยู่ในพื้นที่อีอีซีร้อยละ 15.6  ข้อสังเกตุผู้ที่ว่างงานหรือกำลังหางานพบว่าร้อยละ 71 เป็นผู้จบระดับปริญญาและสูงกว่า สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าผู้จบระดับปริญญามีสัดส่วนอยู่ในตัวเลขว่างงานร้อยละ 5 ขณะที่ผู้จบการศึกษาต่ำกว่ามัธยมอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.6 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปแก้ไขอย่างจริงจังโดยเฉพาะแรงงานวัยตอนต้นที่จบการศึกษาใหม่หากปล่อยยาวไปทักษะจะหายและจะกลายเป็นปัญหาของชาติในอนาคต

จากข้อมูลของผู้ที่กำลังหางานเกือบสองล้านคนพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 51.2 อายุระหว่าง 20-30 ปี หากเป็นจำนวนคนเป็นหลักล้านแสดงให้เห็นว่าผู้จบใหม่หางานไม่ได้หรือได้งานไม่ตรงกับศักยภาพมีตัวเลขสะสมเป็นจำนวนมากแต่ด้วยนิยามคนว่างงานของไทยที่อาจไม่ทันต่อยุคสมัยทำให้เขาเหล่านั้นกลายเป็นคนมีงานทำ ทำให้อัตรการว่างงานอย่างเป็นทางการเป็นลักษณะ “Virtual Data ไม่ใช่ Real Data” 

ขณะเดียวกันมีการระบุว่าคนรุ่นใหม่ที่อยู่ใน “GEN Z” ต้องการงานอิสระแต่การเจาะลึกโดยใช้ข้อมูลตัวอย่างเกือบ 2 ล้านคนพบว่าอาชีพฟรีแลนซ์และพาร์ทไทม์อยู่ในระดับรั้งท้ายสุดมีจำนวนเพียง 70,211 คนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.5 ของผู้สมัครงานใหม่ โดยส่วนใหญ่เน้นที่เงินเดือนและค่าตอบแทนมากกว่า “Work Life Balance” ข้อมูลตรงนี้คงต้องมาสังเคราะห์ใหม่มิฉะนั้นจะกลายเป็นพัฒนาผิดทาง

หากจะวิเคราะห์ทิศทางตลาดแรงงานภายใต้วิกฤต “Omicron Economic Crisis” ณ เวลานี้อาจเร็วไปที่จะสามารถพยากรณ์ขึ้นอยู่กับจำนวนคนติดเชื้อใหม่และระบบสาธารณสุขที่จะรองรับไม่ล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมา ไตรมาสแรกปีนี้ตลาดแรงงานคงทรงตัวเห็นได้จากอัตรากำลังการผลิตและอัตราการใช้เครื่องจักร (CPU) เดือนพ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในช่วง “High Season” อยู่ที่ระดับร้อยละ 65.81 จากค่าเฉลี่ย 11 เดือนร้อยละ 63.5  แสดงให้เห็นว่ากำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังเหลือทำให้การจ้างงานอาจยังไม่กลับมา ภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับต่างชาติการฟื้นตัวยังอยู่ในเหวขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศน่าจะยังไปได้แต่คงไม่เหมือนเดิม สำหรับภาคค้าปลีกรายเล็กรายใหญ่รวมทั้งธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนโดยเฉพาะร้านอาหาร ภัตตาคาร รวมถึงแรงงานอิสระต่างๆ คงต้องสวดมนต์อย่าให้โอมิครอนรุนแรงจนมีล็อกดาวน์อีกเพราะคราวที่แล้วเจ๊งยังไม่ฟื้นแคะกระปุกและหรือกู้เงินใหม่มาอาจสูญเปล่าตรงนี้น่าเห็นใจ.....จริงๆ นะครับ