posttoday

  ปัจจัยในการสร้างสันติภาพในเมียนมา

15 มกราคม 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำในสมาชิกประชาคมอาเชี่ยน ซึ่งได้ครบวาระการเป็นประธานของทางสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไน และประธานในวาระนี้ คือ ฯพณฯท่านสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ได้รับเป็นประธานในวาระนี้ ซึ่งหลังจากรับตำแหน่งได้ไม่ถึงครึ่งเดือน ก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศเมียนมาทันที นับว่าทำงานอย่างเข้มแข็งมาก

ในการไปเยือนครั้งนี้ ฯพณฯท่านสมเด็จฮุนเซนได้นำ ฯพณฯท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ปัก สุทน ร่วมเดินทางไปด้วย เนื้อหาในการเจรจาเป็นอย่างไรนั้น ผมคงไม่ต้องนำมาเสนอให้ซ้ำๆกับข่าวทั่วไป ที่ทุกท่านได้รับทราบมาจากสื่อทั่วไปนะครับ เอาเป็นว่าผมจะนำมาวิเคราะห์เชิงลึกให้เห็นถึงแนวคิด การดำเนินการอย่างไร? เพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นในประเทศเมียนมาจะดีกว่านะครับ

สิ่งแรกที่ผมอยากจะบอกว่าคีอ ฯพณฯท่านสมเด็จฮุนเซน ท่านชาญฉลาดในการเลือกคนมาก ที่ใช้รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาที่มีการศึกษาดีเยี่ยม ด้านการฑูตมาจากประเทศฝรั่งเศษโดยตรง และเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการฑูตมาก เพราะเคยรับตำแหน่งฑูตประจำกลุ่มสหภาพยุโรปมาแล้ว

ซึ่งหลังจากที่ฯพณฯท่านสมเด็จฮุนเซนรับตำแหน่งเป็นประธานอาเชี่ยนต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียหแห่งบรูไน ที่หมดวาระลงเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ท่านก็ได้แต่งตั้งให้ฯพณฯท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ปัก สุทน เป็นฑูตพิเศษอาเชี่ยน เข้ามาหาทางเจรจาให้ประเทศเมียนมาเกิดสันติภาพเลยทันทีครับ

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศกัมพูชาได้ผ่านศึกภายในประเทศ ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองเขมรสามฝ่ายมา โดยฝ่ายที่กำชัยชนะคือใคร คงไม่ต้องคาดเดาก็ทราบกันดี ดังนั้นบุคคลที่มีความคุ้นเคยในเรื่องของการเจรจาสันติภาพโดยตรงที่สุด คงไม่มีชาติใหนที่จะเหมาะสมไปกว่าชาติกัมพูชาแล้วละครับ อีกอย่างหนึ่งผมเชื่อว่า วันนี้เรื่องของเพื่อนบ้านที่กำลังร้อนแรงนี้

ใครก็ตามที่เข้าไปมีส่วนเอี่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่อย่างไร ล้วนแล้วแต่เป็น “เผือกร้อน”ทั้งสิ้น แต่ว่าการที่จะทำให้มีการเกิดสันติภาพนั้น ใช้วิธีรบราฆ่าฟันย่อมไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้ กล่าวคือหากต้องการจะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นอย่างจริงจัง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิธีการเจรจาบนโต๊ะเท่านั้น แต่ใครละที่จะสามารถจับคนที่มีอยู่หลายฝ่าย และทุกฝ่ายกำลังร้อนแรงกันทั้งหมด เป็นเรื่องที่ยากมากๆ

ดังนั้นการที่จะให้ทุกฝ่ายเย็นลงได้ คงต้องใช้นโยบายที่แยบยลมาก ฯพณฯท่านสมเด็จฮุนเซนใช้คำว่า “วิธีการที่แตกต่าง” ในการดึงเอากลุ่มที่ขัดแย้งเข้ามาอยู่บนโต๊ะเจรจาให้ได้ และสำคัญที่สุด คนที่จะนั่งหัวโต๊ะ ต้องเข้าใจในบริบทของเมียนมาในทุกห้วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต

แน่นอนว่ายังจะต้องรู้จักใช้ความสนิทสนมส่วนตัวที่ตนเองมีอยู่กับฝ่ายที่มีกำลังมากกว่า และอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติทุกกลุ่มที่ร่วมเจรจา และเข้าใจในปัญหาอย่างถ่องแท้ 

แน่นอนความไว้วางใจของผู้ร่วมเจรจายังเป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการแต่งตั้งฑูตพิเศษครั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าเป็นการแต่งตั้งที่ถูกตัวถูกตนจริงๆครับ หากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่ทะลุทะลวงได้แจ๋มแจ้งแล้ว ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จได้ครับ

ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ชาวเมียนมาทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่จะทำให้เกิดสงครามกลางเมืองได้นั้น มีเหตุปัจจัยจากอะไรบ้าง ? อีกทั้งหากเกิดเหตุสงครามกลางเมืองจริงชาวเมียนมาจะได้รับผลกระทบอย่างไร?

นี่คือคำถามที่ผมไม่เชื่อว่าชาวเมียนมาทุกคนจะไม่ทราบ เพราะทุกคนย่อมเห็นสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ คำตอบก็อย่างที่เห็นๆกันชัดเจน ถ้าไม่ทราบผมจะบอกให้ก็ได้

โดยเอาคำถามสุดท้ายมาตอบให้นะครับว่า กลุ่มที่เจ็บปวดที่สุดคือ “ประชาชน”ครับ บางท่านอาจจะบอกว่า “ผู้แพ้”เป็นผู้ที่เจ็บปวดที่สุด ผมขอเถียงนะครับว่า “ไม่ใช่ครับ” แม้ผู้แพ้แต่ละคนอาจจะถูกจับกุมคุมขัง หรือบาดเจ็บล้มตายไปก็จริงอยู่ แต่คนที่ถูกขุมขังก็มีวันที่ถูกปล่อยออกมา

คนที่บาดเจ็บก็มีวันรักษาหาย ส่วนคนที่ตายไปแล้ว ก็ไม่ได้รับรู้เรื่องราวแล้ว แต่ทุกคนที่กล่าวมาทั้งหมด เขามีความหวังที่จะชนะ อีกทั้งเขามีส่วนได้ส่วนเสียอยู่แล้ว เขาจึงสมควรที่จะได้รับในสิ่งที่จะตามมา

แต่ประชาชนทั่วไปนี่สิ เขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย เขาไม่ได้มีส่วนในการกระทำดังกล่าว แต่เขาต้องมาทนทุกข์ทรมานกับผลพวงที่พวกคนอื่นๆได้ก่อขึ้นมา ผลที่ตามมาคือความอดยากปากแห้ง จากพิษภัยที่เกิดขึ้นจากผลเศรษฐกิจตกต่ำ จากความยากจนของประเทศ จากการสูญเสียคนที่เขารัก จากบาดแผลทั้งทางกายและทางจิตใจ ที่คนอื่นก่อให้เกิดทั้งสิ้น

นี่มันเหมาะสมแล้วหรือครับ