posttoday

ตรวจสุขภาพเศรษฐกิจไทย...ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยเอื้อที่มีผลต่อประเทศไทยปี 2565

10 มกราคม 2565

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ก่อนอื่นอยากจะให้เห็นภาพเศรษฐกิจไทยที่เผชิญวิกฤตที่มาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3  มูลค่าของเศรษฐกิจของไทยปีพ.ศ.2562 เป็นปีก่อนโควิดระบาดมูลค่าประมาณ 16.898 ล้านล้านบาท ช่วงก่อนหน้านั้น GDP ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3 เป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน     หลังสงกรานต์ปีพ.ศ.2563 เป็นปีแรกที่เกิดวิกฤตโควิดที่เรียกว่า “Wave 1”  ตามด้วยระลอก 2 ในช่วงปลายปี ส่งผลกระทบอุปสงค์การใช้จ่าย-การเดินทาง-ท่องเที่ยวทั้งของไทยและโลกทำให้เศรษฐกิจหดตัวติดลบร้อยละ 6.1 ถัดมาปีที่แล้ว (พ.ศ.2564) หวังว่าจะฟื้นตัวแต่หลังเดือนเมษายนเกิดระบาดหนักสองระลอก “Wave 3-4” คนติดเชื้อมากรัฐบาลล็อกดาวน์พื้นที่เศรษฐกิจคนตกงานจำนวนมากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในอัตราต่ำประมาณร้อยละ 1.0-1.2  มูลค่าเศรษฐกิจลดลงเหลือ 15.855 ล้านล้านบาท หากเปรียบเทียบปีก่อนเกิดโควิดเศรษฐกิจในรูปของ GDP เสียหายสูงถึง 1.043 ล้านล้านบาท

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ.2565 คาดหวังว่าจะให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.5-4.0 เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการรับมือกับโควิดได้มากน้อยเพียงใด ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มจากประการแรก การแพร่ระบาด “Omicron” เป็นระลอก “Wave 5” ที่การกระจายตัวเร็วกว่าเดลต้ามากกว่า 3 เท่า องค์การอนามัยโลกระบุว่าถึงอัตราติดเชื้อจะพุ่งแรง เช่น ปลายสัปดาห์ที่แล้วประเทศสหรัฐอเมริกาวันเดียวมีคนติดเชื้อทะลุ 1 ล้านคนแต่อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าเดลต้า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา งัดแผนคุมเข้มยกระดับการเตือนขึ้นเป็นระดับ 4 จากทั้งหมดมี 5 ระดับและอาจเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ระบาดหนักโดยไม่ใช้วิธีแบบเหวี่ยงแหเหมือนที่ผ่านมาเพราะเข็ดเศรษฐกิจทรุดตัวและคนตกงานจำนวนมาก อีกทั้งมีประเด็นทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งง่อนแง่นอยู่แล้วจะหนักกว่าเดิม หมอใหญ่ศิริราชพยาบาลระบุว่ากลางเดือนมกราคมอาจมี “New High” ตัวเลขติดเชื้อเกินหมื่นรายต่อวันเป็นอย่างต่ำที่กังวลคือการติดเชื้อในเด็กซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน

ประการที่สอง ภาคท่องเที่ยวจะยังทรุดตัวต่อเนื่องปีพ.ศ.2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 40 ล้านคนเหลือ 6.7 ล้านคน รายได้ท่องเที่ยว (รวม) จาก 3.07 ล้านล้านบาทเหลือ 8.14 แสนล้านบาท รายได้ลดลงถึงร้อยละ 73.5 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2564)  ภาคท่องเที่ยวทรุดตัวหนักกว่าเดิมนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 4.0 แสนคนรายได้ (รวม) เหลือเพียง 3.84 แสนล้านบาทลดจากปีปกติถึงร้อยละ 87.5 ช่วงสองปีที่ผ่านมารายได้ท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทยหายไปถึง 4.992 ล้านล้านบาท ขณะที่ปีนี้ (พ.ศ.2565) ภาคท่องเที่ยวเจอมรสุมลูกใหญ่จากโอมิครอนยังไม่ฟื้นตัวต่างชาติอาจกลับมาไม่เกิน 10 ล้านคนแต่ท่องเที่ยวในประเทศในเชิงมูลค่าอาจกลับมาได้ครึ่งหนึ่งทำให้รายได้ (รวม) ประมาณ 1.12 ล้านล้านบาทเปรียบเทียบก่อนโควิดระบาดมูลค่าหดตัวร้อยละ 63.52  ตัวเลขนี้คงทำให้เห็นถึงผลกระทบของโรงแรมและธุรกิจที่อยู่ในโซ่อุปทานท่องเที่ยวรวมถึงแรงงาน 3-4 ล้านคนว่าอยู่ในสภาพอย่างไร   

ประการที่สาม กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอปีที่แล้วไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ 3.2  คาดว่าทั้งปีพ.ศ.2564 อาจขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 มีการประมาณว่าการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.3  ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อกำลังซื้อในประเทศเกี่ยวข้องกับหนี้ครัวเรือนสูงที่กลายเป็นกับดักต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Trap)  ไตรมาส 3 ปีที่แล้วสูงถึง 14.34 ล้านล้านบาทเท่ากับร้อยละ 90.4 ของจีดีพี ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นถึง 8.37 แสนล้านบาทขยายตัวร้อยละ 6.2  ขณะที่หนี้ของครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.5 มูลหนี้ในครัวเรือนเกษตรสูงถึง 262,317 บาท ล่าสุดรัฐบาลเห็นถึงปัญหาให้เป็นวาระแห่งชาติในการเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะหนี้กยศ.และหนี้เกี่ยวกับบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล

อีกปัจจัยที่มีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยเกี่ยวข้องกับความเปราะบางของตลาดแรงงานจำนวนคนว่างงานและว่างงานแฝงรวมกันประมาณ 1.77 ล้านคนเฉพาะแรงงานประกันสังคมมาตรา 33 เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมายังหายไป 6.63 แสนคนและแรงงานต่างด้าวในระบบหายไป 4.86 แสนคน นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเฉพาะปีที่แล้วลดลงถึง 39.52 ล้านคน กลุ่มประชากรเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้บริโภคและเป็นกำลังซื้อที่สำคัญของประเทศ

ประการที่สี่ ราคาพลังงานหรือน้ำมันมีการสวิงขึ้น-ลงในอัตราสูงมากตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วและในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์ก (7 ม.ค. 65) พุ่งสูงถึง 79.46 USD./Barrel แต่ยังไม่สูงเท่ากับต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (83.97 USD./Barrel)   ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาปรับสูงขึ้น 7.65 USD./Barrel หรือสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.65  ราคาน้ำมันตลาดดูไบก็พุ่งสูงในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 3.02 บาทต่อลิตรทำให้รายจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของคนที่ใช้รถเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.08  ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่เกี่ยวกับค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและยานพาหนะ หากเป็นคนในกทม.ยังมีค่าทางด่วนที่ปรับราคาสูงค่าใช้จ่ายพวกนี้สัดส่วนประมาณร้อยละ 19.7 ของรายจ่ายทั้งหมด สำหรับราคาน้ำมันดีเซล B7 ราคาช่วงที่เขียนบทความลิตรละ 29.04 บาทราคานี้รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงประมาณ 2 บาท/ลิตร ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาราคาดีเซลปรับขึ้นร้อยละ 4.31  เวลาเช่นนี้อุปทานขนส่งเหลือการแข่งขันสูงการปรับราคาค่อนข้างยากผู้ประกอบการขนส่งอาจต้องลดต้นทุนด้านอื่น

ราคาพลังงานที่สวิงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อและการบริโภคที่ชะลอตัวเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวสูงถึงร้อยละ 2.71 ปีที่แล้วเงินเฟ้ออาจขยายตัวที่ร้อยละ 1.2  สำหรับปีใหม่ความไม่แน่นอนของราคาพลังงานทำให้ยากต่อการประเมินอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งราคาอุปโภคบริโภคเช่นราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวสูงอาจมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อซึ่งปีปกติประมาณร้อยละ 0.7-0.8  ข้อมูลที่แสดงถึงเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวสะท้อนจากดัชนีอุตสาหกรรมยังทรงตัว เช่น อัตรากำลังการผลิตหรือใช้เครื่องจักร (CPU) เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับร้อยละ 65.81 จากค่าเฉลี่ย 11 เดือนร้อยละ 63.5 กำลังการผลิตระดับนี้ค่อนข้างต่ำ แสดงให้เห็นถึงกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังเหลือ อีกทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 4.84 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.84

คราวนี้ลองมาดูปัจจัยเอื้อที่มีต่อเศรษฐกิจเริ่มจากภาคส่งออกปีที่แล้วคาดว่าจะมีมูลค่า 268,628 USD. ขยายตัวร้อยละ 16.39 เป็นมูลค่าสูงสุดเท่าที่มีการส่งออกมีเพียงกลุ่มอาหารทะเลบรรจุกระป๋องและส่งออกข้าวที่ยังคงหดตัว อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ในโซนอ่อนค่าช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเงินบาท    อ่อนค่าประมาณร้อยละ 4.5-5 เป็นปัจจัยเอื้อต่อผู้ประกอบการส่งออกแต่ปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการระบาดโอมิครอนในประเทศคู่ค้าซึ่งจะทำให้เกิด “Global Supply chain Disruption” เช่น โรงงานปิด, ระบบโลจิสติกส์ชะงักและกำลังซื้อลดหาย อีกทั้งค่าระวางเรือหรือ “Freight Charge” ยังพุ่งสูงรวมถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ล้วนเป็นความท้าทายของผู้ส่งออก

ปัจจัยที่เอื้อต่อเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจนถึงสิ้นปีที่แล้วใช้เงินไปประมาณ 1.297 ล้านล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 8.1 ของจีดีพีเงินยังเหลืออีกประมาณสองแสนล้านบาทที่ต้องใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและค่าใช้จ่ายสาธารณสุขในช่วงไตรมาสแรกแต่เศรษฐกิจที่ยังอ่อนแรงคงต้องเตรียมกระสุนไว้อย่างน้อยถึงกลางปี ปัจจัยเอื้อต่อการฟื้นตัวเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินของไทยยังมีความเข้มแข็งเงินฝากทั้งระบบมีประมาณ 15.488 ล้านล้านบาทมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจที่เดินต่อไม่ได้ประมาณ 3.82 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้สัญญาณการลงทุนเริ่มเห็นทิศทางปีที่แล้วช่วงม.ค.-พ.ย. การนำเข้าเครื่องจักรสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 19 และนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปขยายตัวถึงร้อยละ 39 คำขอรับการส่งเสริม (BOI) ประมาณ 6.0 แสนล้านบาท คาดว่าการลงทุนจริงประมาณ 4.0 แสนล้านบาทการลงทุนในพื้นที่ EEC มีคำขอ 348 โครงการ โดยภาพรวมช่วงครึ่งปีแรกของพ.ศ.2565 ปัจจัยเสี่ยงมาจากการแพร่ระบาดโอมิครอนว่ารัฐบาลและประชาชนคนไทยจะรับมือได้มากน้อยเพียงใด เศรษฐกิจของชาติผ่านจุดต่ำสุดแล้วคล้ายกับคนพึ่งหายป่วยสุขภาพยังอ่อนไหวต่อปัจจัยลบ การฟื้นตัวจะช้าจะเร็วขึ้นอยู่กับแต่ละคลัสเตอร์และปัจเจกธุรกิจซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยเอื้อที่แตกต่างกัน....จบครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat