posttoday

นโยบายบาท-จ๊าด ที่รอคอย

08 มกราคม 2565

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

หลังจากที่ท่านพลเอก อาวุโส เมียน อ่อง หล่ายได้ออกมาให้ข่าวว่า เพื่อเร่งส่งเสริมให้เกิดการค้าต่างประเทศ ที่มีขึ้นในแถบตะเข็บชายแดนหลายๆประเทศ ในต้นเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทางธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา (Center Bank of Myanmar ) ก็ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 14 ธันวาคม ให้ดำเนินการประกาศใช้หยวน-จ๊าด ในเขตชายแดนได้

ซึ่งสร้างความยินดีปรีดาต่อผู้ประกอบการค้าขายชายแดนจีน-เมียนมาเป็นอย่างยิ่ง เสียดายที่ชายแดนระหว่างประเทศเมียนมากับประเทศจีนยังคงปิดประเทศอยู่ ดังนั้นทำให้นโยบายดังกล่าวได้ผลไม่เต็มที่ ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม ทางการเมียนมาได้มีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีของ SAC ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2021

ท่านนายพลเอก อาวุโส เมียน อ่อง หล่ายได้ให้นโยบายในการอนุญาตให้ชายแดนที่ติดกับประเทศเมียนมาเช่นที่ประเทศไทยและประเทศอินเดีย ก็ให้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ใช้บาท-จ๊าด และรูปี-จ๊าด เพิ่อส่งเสริมการส่งออกทางด้านด่านชายแดน และเป็นการแก้ไขปัญหาเงินเหรียญสหรัฐขาดแคลนในตลาดเงินตราในประเทศเมียนมานั่นเอง

การประกาศดังกล่าว ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ ทางธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา คงจะต้องประกาศให้เป็นทางการอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาในต้นเดือนธันวาคม ก็มีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้น กล่าวคือในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ได้ประกาศว่าต้องรีบส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ด้วยการใช้หยวน-จ๊าดและบาท-จ๊าด ในการค้าชายแดน

ปรากฎว่าต่อมาในวันที่ 14 ธันวาคม ธนาคารกลางแห่งเมียนมาก็ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการทันที ผมจึงคิดว่าอีกไม่นานเกินรอ เราคงจะได้ยินคำประกาศของธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมาอีกครั้งแน่นอนครับ

ส่วนหากมีการประกาศใช้บาท-จ๊าดแล้วจะมีผลต่อการค้าต่างประเทศอย่างไร? คำตอบคือ จะทำให้การค้าชายแดน ซึ่งในอดีตจะต้องใช้เงินเหรียญสหรัฐเป็นสื่อกลางในการค้า-ขาย ก็ไม่ต้องแล้ว เพราะในระยะที่ผ่านมา เงินเหรียญสหรัฐขาดแคลนมากในประเทศเมียนมา จึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง

เพราะเมื่อขายสินค้าไปแล้ว จะต้องรอหาซื้อเงินเหรียญสหรัฐในการนำมาชำระค่าสินค้า แต่พอประกาศใช้บาท-จ๊าด เราก็ไม่จำเป็นต้องไปหาอีกต่อไปครับ จะทำให้การค้า-ขายชายแดนคล่องตัวมากยิ่งขึ้นนั่นเองครับ

ในอดีตในช่วงของรัฐบาลยุคพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ท่านได้มีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นสนามการค้า” ซึ่งในยุคนั่นได้เริ่มต้นจากประเทศกัมพูชาก่อนเป็นประเทศแรก ด้วยการพยายามให้เงินบาทไทย เข้าไปมีบทบาทในทางการค้าในกัมพูชา เพื่อที่จะขยายเข้าไปในทุกภูมิประเทศอินโดจีน หากกระทำการสำเร็จ ประเทศในอินโดจีนทั้งหมดก็จะหันมาใช้เงินบาท ในการทำการค้าระหว่างประเทศต่อกัน

นั่นหมายความว่าประเทศไทยก็จะเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนี้นั่นเอง หลังจากดำเนินนโยบายนี้ไป ประเทศไทยเราซึ่งนำโดยท่านพลเอกชาติชาย ก็เริ่มผลักดันเงินบาทเข้าสู่ตลาดเงินในประเทศกัมพูชา ทำให้ประชาชนทั่วไปเริ่มมีความคุ้นเคยกับเงินบาท ซึ่งมูลค่าของเงินบาทในยุคนั้น แข็งค่ากว่าเงินเรียลกัมพูชาเป็นร้อยเท่า จึงทำให้ประชาชนกัมพูชารู้สึกถึงความแตกต่าง และนิยมใช้เงินบาทมากกว่าเงินเรียล

ในยุคนั้นการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ที่นั่น จะใช้ทองคำ เงินเหรียญสหรัฐ และบาทไทยในการซื้อ-ขายกัน แต่น่าเสียดายที่ในปี 2535 รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ได้ถูกปฎิวัติโดยคณะรสช.ทำการรัฐประหาร จึงทำให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดายครับ

ในยุคนี้ ประเทศเมียนมากำลังประสบปัญหาต่างๆรุมเร้าเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางตลาดเงิน ที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปของเมียนมาเอง ก็ทำงานไม่ได้เต็มที่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็ผันผวนอย่างยิ่ง เงินตราต่างประเทศที่ใช้อยู่อย่างเช่นเงินเหรียญสหรัฐ เงินยูโรและเงินหยวน ก็ขาดแคลนอย่างสูง

อีกทั้งช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามที่จะผลักดันให้ใช้บาท-จ๊าดอย่างเป็นทางการ โดยได้เข้าไปทำบันทึกความช่วยจำหรือ MOU กับทางธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา แต่พอขอประชุมร่วมเพื่อจะได้เริ่มดำเนินการใช้บาท-จ๊าด แต่ก็ทำไม่สำเร็จสักที ทุกครั้งที่มีการประชุม ก็จะมีเหตุผลต่างๆนาๆ ที่ทำให้ไม่สามารถประกาศบาท-จ๊าดได้

ผมเองก็มีความเชื่อว่าเหตุผลหลักๆที่ทำให้ไม่สามารถทำใหเกิดได้ อาจจะเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนของเหล่าผู้มีผลประโยชน์จากการประกาศใช้ดังกล่าว จึงทำให้มีปัญหาทุกครั้งไป

ดังนั้น ถ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่ต้องรับฟังเสียงจากประชาชน จึงทำให้การใช้บาท-จ๊าดเกิดขึ้นได้ยาก แต่พอรัฐบาลทหารที่นำด้วยท่านพลเอกอาวุโส เมียน อ่อง หล่าย เข้ามาบริหารประเทศ การประกาศใช้มาตรการดังกล่าว จึงสามารถทำได้อย่างปลอดโปร่งเลยครับ

ถ้าประเทศไทยเราอาศัยจังหวะเวลานี้ ในการผลักดันให้เกิดประโยชน์จากการประกาศดังกล่าวนี้ ผมก็เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศไทยครับ ก็อยู่ที่มุมมองของท่านผู้มีอำนาจหน้าที่ละครับ ว่าท่านจะทำอย่างไรให้มีประโยชน์ได้

เพราะเราช้าไม่ได้ฉกฉวยโอกาสนี้ อย่าลืมว่ายังมีประเทศอินเดียและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เขาก็ได้ประโยชน์จากรูปี-จ๊าดและหยวน-จ๊าดเช่นเดียวกัน คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดคือหยวน-จ๊าดละครับ

ผมเชื่อลึกๆว่าจีนเขาก็จับตาจ้องมองโอกาสเช่นนี้มาตลอด เพียงแต่ช่วงนี้ชายแดนจีน-เมียนมา ยังคงมีปัญหาถูกประกาศให้ปิดพรมแดนอยู่ ดังนั้นหากพรมแดนดังกล่าวเปิด

เราคงจะทำการยากกว่าตอนนี้แน่นอนครับ คงจะต้องรีบเร่งดำเนินการได้แล้วนะครับ