posttoday

จะบริหารคนแบบทีมกีฬาหรือแบบคนในครอบครัว

02 มกราคม 2565

คอลัมน์ บริหารคนบนความต่าง 

เวลาที่ใครสักคนได้ไปเริ่มงานใหม่ หรือได้ไปอยู่ในองค์กรใหม่ก็มักได้ยินผู้นำองค์กรพูดในทำนองว่า “เราใช้ชีวิตร่วมกันแบบครอบครัว มีวิธีการทำงาน และมีการดูแลกันเหมือนคนในครอบครัว” ซึ่งก็จะทำให้คนที่ได้ฟังรู้สึกดีรู้สึกถึงบรรยาการการทำงานที่ประดุจอยู่ในวงศาคณาญาติ

มีอะไรก็ช่วยกัน ผิดนิดผิดหน่อยก็ไม่ถือสาให้อภัยกัน มีการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันในการทำงานจนสำเร็จไปได้ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

แนวคิดที่ว่าจะบริหารคนดุจดั่งคนในครอบครัวได้ถูกตั้งคำถาม และท้าทายว่าเป็นแนวคิดที่ไม่เหมาะกับยุคสมัย ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผลสำเร็จขององค์กร 

โดยวลีเด็ดพูดถึงกันมากคือ คำพูดของเฮสติ้ง CEO ขอบ Netflix ที่ได้กล่าวว่า “เราเป็นทีม ไม่ใช่ครอบครัว” ทำไมการบริหารองค์กรไม่ใช่การบริหารครอบครัว

ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ท้าทายแนวคิดที่ว่า บริหารองค์กรให้เหมือนบริหารครอบครัว ก็คือ

  • ถึงเวลาหากจำเป็น องค์กรก็จำเป็นต้องเลิกจ้าง หรือให้คนออกไปจากองค์กร ซึ่งครอบครัวจะไม่ทำกันแบบนี้ แม้จะมีเรื่องขุ่นเคืองกันถึงขั้นตัดญาติขาดมิตร

แต่สาเหตุที่ตัดขาดกันนั้นก็ไม่ใช่เพราะการทีคนในครอบครัวไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายหรือเต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

  • ผู้นำองค์กรมีการตั้งเป้าหมายที่สูง วางกลยุทธ์แนวทาง และขับเคลื่อนคนในองค์กรด้วยการวัดผล การประเมินการให้รางวัลหรือลงโทษเพื่อให้องค์กรได้มุ่งเข้าไปสู่เป้าหมายนั้น

ในขณะที่หัวหน้าครอบครัวจะไม่มีการดำเนินการทำนองนี้กับคนในครอบครัวของตน

  • การมีมุมมองว่า องค์กรเป็นครอบครัวทำให้ผู้บริหารมองพนักงานเป็นลูกๆที่ต้องคอยดูแล ประคบประหงม ดูแลอย่างใกล้ชิด ในขณะที่พนักงานในองค์กรโดยเฉพาะใน Gen หลังๆเอง เขาต้องการให้ผู้บริหารองค์กรปฏิบัติต่อเขาในฐานะเป็นมืออาชีพมีความเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบตัวเองได้มากกว่าจะเป็นเด็กที่ยังไม่โตในสายตาพ่อแม่

การบริหารองค์กรคือ การบริหารทีมกีฬาอาชีพโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ทำให้การบริหารองค์กรไม่ต่างจากการบริหารทีมกีฬาอาชีพอย่างทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล ทีมบาสเก็ตบอลชิคาโกบูลส์ เป็นต้น

ที่บอกว่าการบริหารองค์กรไม่ต่างจากการบริหารทีมกีฬาอาชีพก็ด้วยลักษณะที่ว่า

  • การวัดว่าองค์กรไหนจะอยู่รอดในเวทีการแข่งขันทางธุรกิจก็ด้วยการทุมเทความสามารถที่มีอยู่ของคนในองค์กรซึ่งไม่ต่างจากทีมกีฬาที่คนในทีมต้องช่วยกัน เล่นกันไปตามแผนทีได้วางเอาไว้แล้ว เพื่อให้ได้ชัยชนะในเกมกีฬาหรือได้ผลตามที่ทีมได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้
  • นักกีฬาแต่ละคนในทีมมีบทบาท มีภารกิจเฉพาะของตนเองที่ต้องเล่นเพื่อให้ทีมได้รับชัยชนะ เช่น ในกีฬาฟุตบอลใครอยู่กองหน้า ใครอยู่กองกลาง กองหลังหรือเป็นผู้รักษาประตูต่างก็มีหน้าที่ในการเล่นที่ต้องทำให้สำเร็จและสอดคล้องกันซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากคนในองค์กรที่จะต้องเล่นไปตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยเช่นกัน
  • องค์ประกอบของผู้เล่นในทีมกีฬาอาชีพจะเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อให้เเข็งแกร่งขึ้นหรือเพื่อให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น 

ก็เฉกเช่นคนในองค์กรที่จะต้องปรับย้าย ให้ออก หรือหาคนดีคนเก่งมาทดแทนเพื่อให้องค์กรเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผู้เล่นในทีมกีฬาอาชีพเองจะเวียนเข้าเวียนออกกันในทีมต่างๆ ขึ้นอยู่กับแผนการเล่น หรือ ความต้องการของผู้ฝึกสอน

  • ทีมกีฬาอาชีพไม่มีการจ้างผู้เล่นแบบตลอดชีพไม่ว่าผู้เล่นคนนั้นจะทุ่มเทหรือสร้างผลงานให้ทีมไว้ดีมากเพียงใดก็ตาม เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็ต้องจากกันไป แต่แม้รู้ว่า จะไม่ได้ถูกจ้างตลอดชีพแต่ผู้เล่นก็ทุ่มเทให้ทีมด้วยความเชื่อใจ และด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน  

ดังนั้น หากจะบริหารองค์กรแบบทีมกีฬาอาชีพก็จะต้องส่งสัญญาณที่ชัดว่า

องค์กรต้องการอะไร และเขาจะตอบความต้องการองค์กรอย่างไร ถ้าทำไม่ได้ ผลที่ตามมาคืออะไร

แล้วแนวคิดการบริหารองค์กรแบบทีมกีฬาใช้ได้ดีแค่ไหนในสังคมและวัฒนธรรมไทย

ผมมองว่า การบริหารองค์กรในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรไทยๆที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัวจนเป็นบริษัทข้ามชาติ จะยังไม่ปรับมุมมองที่มองการบริหารองค์กรบริหารคนแบบเดียวกับการบริหารทีมกีฬาอาชีพ 

เพราะคำว่า “ครอบครัว” ในสังคมไทย ในสังคมตะวันออกคือแกนกลางของความสัมพันธ์เป็นหน่วยย่อยที่เกาะเกี่ยว ให้การพึ่งพิง แก่คนในครอบครัว  

คำว่า “ครอบครัว”ของฝั่งตะวันออกมีบางมิติที่ลึกซึ้งกว่าคำว่า “ครอบครัว” ของทางฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะมิติของความมีเมตตาการพึ่งพิงและการพึ่งพากัน

ประกอบกับโดยทั่วๆไปแล้วระดับของความเห็นอกเห็นใจของผู้บริหารที่มีต่อพนักงานจะมีอยู่ค่อนข้างสูง การจะให้บริหารลูกน้องด้วยความเด็ดขาดเน้นชัดที่เป้าหมาย 

ถ้าไม่ได้ก็ต้องจากกันไปเหมือนการบอกเลิกสัญญากับผู้เล่นของทีมกีฬาอาชีพที่ไม่สามารถแสดงผลงานในสนามออกมาได้ ก็ดูยังเป็นเรื่องที่ให้ความรู้สึกลำบากใจแก่ผู้บริหารองค์กรในสังคมแบบไทยๆ 

แต่ในทางกลับกันหากยังให้กรอบความคิดว่าจะบริหารองค์กรเหมือนดูแลคนในครอบครัวเป็นแนวทางหลัก ในระยะยาวก็จะไม่ได้เกิดผลดีต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร

จุดที่สมดุลที่สุดคือทำอย่างไรที่จะบริหารองค์กรแบบทีมกีฬาอาชีพ แต่ยังสามารถสร้างความรู้สึกผูกพันต่อกันหรือต่อองค์กรเสมือนคนในครอบครัวได้ น่าจะเป็นการบริหารที่หมาะสมที่สุดในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมแบบไทยๆ

อ้างอิงข้อมูล

https://an.athletenetwork.com/blog/great-sports-business-teams-do-to-win

https://hbr.org/2014/06/your-company-is-not-a-family

https://winnipeg-chamber.com/healthy-workplaces/six-ways-to-treat-employees-like-athletes-for-better-results/

https://www.forbes.com/sites/deniselyohn/2019/11/05/stop-saying-your-company-is-like-a-family/