posttoday

หวั่น“โอมิครอน” หลังเที่ยวปีใหม่.....สะดุดฟื้นตัวเศรษฐกิจปี 2565

27 ธันวาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

บทความนี้ขอส่งท้ายปีด้วย “Omicron” ไวรัสกลายพันธุ์จากโควิด-19 ที่เล่นงานชาวโลกรวมทั้งคนไทยมา 2 ปีกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในรอบหลายสิบปี ก่อนหน้านี้มีการระบาดจากไวรัส “HIV” หรือเอดส์นานหลายปีมีผู้ติดเชื้อสี่แสนกว่าคนและผู้เสียชีวิตปีเป็นหลักแสนคนจากนั้นประมาณปีพ.ศ.2546 ไข้หวัดมรณะซาร์สเป็นไวรัสโคโรน่าประเภทหนึ่งมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากนัยว่าโรคดังกล่าวต้นกำหนดมาจากประเทศจีน ด้านความเสียหายเชิงปริมาณคนป่วย-เสียชีวิตรวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจห่างไกลอย่างเทียบไม่ติดกับไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกเสียชีวิตร่วมกันกว่า 5.4 ล้านคน  

สำหรับประเทศไทยการเข้าถึงวัคซีนกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทำให้การแพร่ระบาดลดลง ช่วงสัปดาห์ที่แล้วเฉลี่ยวันละประมาณ 2,500 คนและการเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณวันละ 25-30 คน รัฐบาลต้นเดือนพฤศจิกายนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการ “Sandbox” และ “Test & Go” ได้รับการสนองตอบทางบวก ภายในประเทศประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยและเดินทางทำให้คาดหวังว่า    ปีหน้าเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะพลิกกลับมาฟื้นตัวหลังจากปีก่อนหน้า GDP หดตัวถึงร้อยละ 6.1 และปี 2564 อาจขยายตัวได้ร้อยละ 1-1.2  

แต่กลายเป็นฝันสลายเมื่อมีการแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” ที่ติดเชื้อได้ไวกว่าเดิมช่วงไม่กี่สัปดาห์มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 104 ประเทศจำนวนผู้ติดเชื้อเฉียดแสนคน ช่วงโค้งสุดท้ายของปีองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกแผนทัวร์วันหยุด “Long Holiday” เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ขณะที่ประเทศไทยพบการติดเชื้อร้อยกว่าคนจนที่สุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหัวโต๊ะ “ศบค.” ประกาศปิดประเทศชั่วคราว (อีกครั้ง) ยกเลิกโครงการเทสต์แอนด์โกเป็นเวลา 15 วันจนถึงวันที่ 4 มกราคมปีหน้า เป็นการดับฝันและความหวังของภาคท่องเที่ยวที่แทบจะไปไม่รอดให้กลับมาต่อลมหายใจ แต่ยังคงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลงทะเบียนไว้ล่วงหน้ายังคงเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักกันตัว ตามมาด้วยกทม. ล่าสุดตัดสินใจยกเลิกอีเว้นท์เคาท์ดาวน์และสวดข้ามคืนรับปีใหม่ทั้งที่ศาลาว่าการฯ และสำนักงานเขตต่างๆ  

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวถอดใจปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีพ.ศ.2564 มีจำนวน 4.0 แสนคน ขณะที่ธปท.ประเมินว่าไม่เกิน 3.0 แสนคนจากเป้าหมายเดิมหนึ่งล้านคน รายได้เหลือเพียง 2.4 แสนล้านบาทลดลงถึงร้อยละ 88  สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศช่วงที่ผ่านมาคนไทยหลังจากอั้นไปไหนไม่ได้มานานออกมาเที่ยวล้นหลามคาดว่าปีนี้อาจมีจำนวน 90 ล้านคน/ครั้ง ทำให้รายได้รวมของท่องเที่ยวประมาณ 6-7 แสนล้านบาทเทียบกับก่อนโควิดมีรายได้ 3.1 ล้านล้านบาทหดตัวสูงถึง    ร้อยละ 79 เป็นสัญญาณว่าภาคท่องเที่ยวยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง  

ที่น่าเห็นใจการปิดประเทศครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นระยะสั้นๆแต่หากสถานการณ์ระบาดมากขึ้นอาจขยายระยะเวลาออกไปอีก ประเด็นคืออยู่ในช่วงไฮซีซั่นของภาคท่องเที่ยวเป็นช่วงสูงสุดของที่มารายได้จากต่างชาติเป็นโอกาสที่ธุรกิจโรงแรมและโซ่อุปทานท่องเที่ยวจะได้นำเงินมาจุนเจือต่อลมหายใจรวมถึงการรักษาการจ้างงาน กลายเป็นต้องถอยหลังนอกจากเสียโอกาสยังเป็นการซ้ำเติมกระทบธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบที่ส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินทำให้มีความซับซ้อนในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้นต่อการฟื้นตัว จึงไม่แปลกที่เห็นทั้งสมาคมและผู้ประกอบการออกมาโวยวายให้รัฐทบทวนนโยบายโดยเฉพาะอย่าได้หวนกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งซึ่งจะทำให้ภาคท่องเที่ยวทรุดกันทั้งโครงสร้าง 

“Omicron Effect” ส่งผลกระทบทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกามี  ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก หลายประเทศในอียูออกมาตรการคุมเข้มประกาศปิดสถานบันเทิงให้ประชาชนชะลอการเดินทางในช่วงคริสต์มาสรวมถึงงดออกนอกประเทศ ประเทศญี่ปุ่นและจีนมีมาตรการปิดประเทศไม่ให้คนออกนอกประเทศแบบไม่มีกำหนด การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวอาจต้องรอไปถึงกลางปีหน้าเป็นอย่างเร็วแต่จำนวนคงไม่มากประมาณ 5.6 ถึง 6.0 ล้านคนและปี 2566 อาจเพิ่มเป็น 20 ล้านคนซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนก่อนโควิดระบาด ผลกระทบจากไวรัสโอมิครอนยังไม่ชัดเจนเพราะคนติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังไม่มาก อีกทั้งการเข้าถึงวัคซีนเกินเป้าหมายของไทยและกำลังไปสู่การฉีดวัคซีนเข็ม 3 ที่เป็นบูตเตอร์เป็นหลักล้านคน หากมองโลกสวยอาจทำให้การระบาดไม่รุนแรง การปิดประเทศชั่วคราวนอกจากเสียรายได้และความเชื่อมั่นแต่รัฐบาลคงมีข้อมูลเชิงลึกจึงตัดสินใจเช่นนั้นทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ดี “Omicron” เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) และ ธปท. ยังตรึงดอกเบี้ยนโยบายในอัตราต่ำร้อยละ 0.5 ออกไปอีก พร้อมทั้งแสดงความกังวลเศรษฐกิจปีหน้าและการจ้างงานอาจยังไม่ฟื้นตัวได้เร็ว เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของประชาชนในการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยซึ่งปีนี้ดัชนีการบริโภคเอกชนขยายตัวอยู่ในอัตราต่ำมากเพียงร้อยละ 0.4 จากฐานติดลบปีที่แล้ว  

นอกจากนี้ข้อมูลเชิงประจักษ์ตัวเลขว่างงานไตรมาส 3 ออกมาผิดคาดขยายตัวสูงถึงร้อยละ 2.3 สูงสุดในรอบ 5 ปีมีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์รวมกันถึง 1.77 ล้านคน ตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวสะท้อนจากเดือนตุลาคมแรงงานประกันสังคมลดต่ำสุดในรอบ 5 เดือนมีคนหายไปจากระบบถึง 7.4 แสนคน  

เศรษฐกิจปีหน้าลำพังพึ่งภาคส่งออกที่ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 16.4 คลัสเตอร์ส่งออก 30 อันดับแรกมีเพียงอุตสาหกรรมอาหารทะเลบรรจุกระป๋องและส่งออกข้าวที่ยังหดตัวนอกนั้นขยายตัวเป็นบวก คาดว่าปีพ.ศ.2565 ภาคส่งออกยังคงเติบโตต่อไปอีกคงสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่เพียงพอที่จะดันเศรษฐกิจไทยมูลค่า 15.855 ล้านล้านบาทให้ขยายตัวตามเป้าหมายร้อยละ 3.5-4.0  ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหมดปีรัฐบาลออกแพ็คเก็จ “ซานตาครอส” แจกของขวัญปีใหม่ด้วยเม็ดเงินประมาณ 7.0 หมื่นล้านบาทภายใต้โครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง, ช็อปดีมีคืน, ลดหย่อนภาษี, เสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชน มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อทางสมาคมธุรกิจค้าปลีกระบุว่าจะมีผลให้เงินสะพัดหลักแสนล้านบาท 

“Omicron Effect” ที่ระบาดส่งท้ายปีกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสะดุดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างน้อยไปถึงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า คงต้องจับตาและติดตามผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีใหม่ที่ประชาชนจำนวนมากมีการเดินทางไปมาหาสู่และท่องเที่ยวซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อน หวังว่าคงไม่เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาทำให้โควิดกลับมาระบาดครั้งใหญ่ เที่ยวกันให้สนุกอย่าไปที่เสี่ยงหรือกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก ที่สำคัญอย่าลืมป้องกันตัวเองอย่าไปแพร่หรือไปติดเชื้อโควิดกลับมาก็แล้วกัน....สวัสดีปีใหม่ครับ