posttoday

สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว....แต่แรงงานในระบบประกันสังคมต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง ?

20 ธันวาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

วิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กลายพันธุ์หลายเวอร์ชั่นเล่นงานเศรษฐกิจและตลาดแรงงานรุนแรงมากสุดในรอบ 2 ทศวรรษนับจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงที่ผ่านมาเกือบสองปีกระทบธุรกิจเป็นจำนวนมากส่วนหนึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือ “Re-Finance” กับสถาบันการเงิน ข้อมูลของ ธปท. มูลหนี้ประมาณ 3.82 ล้านล้านบาทของสินเชื่อทั้งหมดโดยร้อยละ 58.6 เป็นลูกหนี้ของแบงก์พาณิชย์ที่เหลือเป็นสินเชื่อของแบงก์รัฐ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาเปรียบเทียบกับปีก่อนโควิด-19 ระบาดมูลค่าที่หายไป 2.243 ล้านล้านบาท รายได้ต่อหัว (GNI) จาก 2.437 แสนบาทต่อคนเหลือ 2.320 แสนบาทต่อคนลดลงร้อยละ 4.82  หนี้ของประชาชนปี 2563/2564 เพิ่มขึ้น 684,344 ล้านบาทสูงขึ้นร้อยละ 5.04

ปฏิเสธไม่ได้เศรษฐกิจกับตลาดแรงงานมีความสัมพันธ์อย่างเป็นนัยส่งผลให้อุปสงค์ความต้องการแรงงานระดับทักษะน้อยลง แต่ความต้องการแรงงานไปอยู่กลุ่มแรงงานพื้นฐานที่ไม่ต้องการทักษะซึ่งอุปทานไม่เพียงพอ ตัวเลขของจำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เปรียบเทียบก่อนโควิดระบาด (มี.ค.63) กับเดือนตุลาคมล่าสุดมีจำนวน 10,990,798 คนลดน้อยลงไปถึง 7.395 แสนคนหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.31  ต้นไตรมาส 4 อยู่ในช่วงรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มไปเกือบหมด แต่ทำไมจำนวนแรงงานตามมาตรา 33 กลับต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่งเป็นการลดต่ำสุดนับแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ตัวเลขนี้ผิดปกติมากไม่ทราบว่าเก็บข้อมูลมาอย่างไรแต่ว่าเป็นตัวเลขทางการของสำนักงานประกันสังคมก็ต้องเชื่อตามนี้

สอดคล้องกับอัตราว่างงานเดือนกันยายนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.3 สูงสุดในรอบ 5 ปีและสูงกว่าค่าเฉลี่ยหนึ่งเท่าเศษ จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มจากไตรมาส 2 อยู่ที่ 8.71 แสนคนช่วง 3 เดือนจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 1.39 แสนคนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2  ตัวเลขนี้ยังไม่รวมผู้เสมือนว่างงานเป็นกลุ่มว่างงานแฝงที่ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกประมาณ 9.0 แสนคน หากรวมแรงงานกลุ่มว่างงานแฝงจะทำให้ตัวเลขการว่างงานสูงถึงร้อยละ 4.58 เจาะลึกพบว่าส่วนใหญ่ผู้ว่างงานจบระดับปริญญาและในจำนวนผู้ว่างงานร้อยละ 67 เคยทำงานมาก่อนและต้องถูกออกจากงาน ด้วยนิยามของ ILO ที่ระบุว่าผู้ที่ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะได้ค่าจ้างหรือไม่ได้ค่าจ้างทำงานในครัวเรือนหรือครัวเรือนเกษตรถือว่าเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้นทำให้อัตราการว่างงานของไทยไม่สะท้อนความเป็นจริง

ส่องกล้องเข้าไปดูว่าคนที่ตกงานหรือจบการศึกษาแล้วหางานไม่ได้ กลุ่มคนเหล่านี้ไปยื่นประวัติสมัครงานกับJobthai.com ล่าสุดมีจำนวน 1.973 ล้านคนพบว่ากลุ่มที่จบปริญญาตรีและสูงกว่ามีสัดส่วนถึงร้อยละ 75.3  ด้านอายุของผู้หางานทำส่วนใหญ่เป็นแรงงานวัยตอนต้นอายุ 20-30 ปีซึ่งเป็นแรงงานหนุ่ม-สาวมีจำนวน 1.011 ล้านคนสัดส่วนครึ่งหนึ่งของผู้สมัครงาน รองลงไปอายุระหว่าง 30-35 ปีมีสัดส่วนร้อยละ 26.3  ข้อมูลเหล่านี้ผู้เขียนค่อนข้างจะประหลาดใจว่าทำไมเศรษฐกิจในช่วงปลายไตรมาสของปีนี้ซึ่งยกเลิกมาตรการคุมเข้มและเปิดประเทศซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยทำให้คนมีงานมากขึ้นแต่ตัวเลขของประกันสังคมกลับพบว่าแรงงานมาตรา 33 ต่ำสุดในรอบ 42 เดือน ขณะที่อัตราการว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ซึ่งย้อนแย้งกับข้อมูลของทางราชการว่ามีการบรรจุเด็กจบใหม่และคนว่างงานได้เกินเป้าหมาย

แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวแบบเปราะบางการที่ผู้คนออกมาใช้จ่ายปัจจัยมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาจากรัฐบาลผ่านมาตรการต่างๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง, โครงยิ่งใช้ยิ่งได้, โครงการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิแห่งรัฐ ฯลฯ  แต่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการผลิตและการจ้างงานจำนวนมาก รัฐบาลหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องควรจะมีมาตรการเตรียมพร้อมรองรับเด็กเยาวชนที่จะจบออกจากระบบการศึกษาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าที่คาดว่ามีจำนวน 488,421 คนเป็นผู้จบปริญญาร้อยละ 58,จบสาขาอาชีวะ ปวช./ปวส. ร้อยละ 24.65 และมัธยมศึกษาร้อยละ 17.35  กลุ่มคนเหล่านี้กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานมาสมทบกับกลุ่มที่ว่างงานสะสมอยู่ก่อนหน้านี้ จำเป็นที่จะมีการจัดสรรงบประมาณให้เขาเหล่านั้นทำงานตามโครงการต่างๆ ไม่ควรแจกเงินแบบง่ายๆ จะทำให้เป็นนิสัยติดตัวอีกทั้งคนที่ว่างงานเกินกว่า 1 ปีจะทำให้สูญเสียทักษะการทำงาน

จากข้อมูลวิจัยของภาคเอกชนเกี่ยวข้องกับการจัดหางานพบว่าบุคลากรจบใหม่มีการแข่งขันสูงในการให้มีงานทำอัตราอยู่ที่ 80 ใบสมัครต่อ 1 ประกาศจ้างงาน เหตุผลเพราะการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างช้ายกเว้นอุตสาหกรรมส่งออกและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง นอกนั้นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงพยุงตัวโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวเกี่ยวกับต่างชาติยังอยู่ในห้อง “ICU”  ตำแหน่งงานที่ตลาดต้องการ เช่น อีคอมเมิร์ซ, งานเกี่ยวกับไอที, โปรแกรมเมอร์, พนักงานขาย, งานช่างเทคนิค, วิศวกร, โลจิสติกส์, งานการผลิต, ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ฯลฯ 

ในอีกด้านหนึ่งปัญหาของนายจ้างจำนวนคนที่มาสมัครมากแต่การคัดคนที่มีทักษะและมีความตั้งใจทำงานเหมาะสมกับงานเป็นเรื่องยาก เพราะเด็กรุ่นใหม่ “Next Gen Work” จบใหม่ไม่มีงานทำแต่เลือกงานและเรียกร้องค่าตอบแทนสูงเป็นพวกอยู่ไม่ทนส่วนใหญ่ชอบทำงานสบายๆ ในสำนักงาน ไม่ชอบทำงานในโรงงาน กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ชอบงานประจำต้องการอิสระในการทำงาน “Work Lifestyle”  ต้องการอิสระในการทำงานหรือทำธุรกิจส่วนตัวในลักษณะ “Business Startup” โดยที่ตัวเองไม่มีความรู้ “Knowhow” ได้มาจากเปิดดูในกูเกิ้ลแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว

บทสรุปการหาทางออกยังไม่มี เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องไปเจาะลึกดูว่าทำไมรัฐบาลอัดฉีดเงินจำนวนมากมายดูเหมือนว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแต่ทำไมตัวเลขการว่างงานสูงและจำนวนคนหางานจริงมีมากมาย....ไม่เข้าใจจริงๆ ครับ