posttoday

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนดี...มีทั้งคนว่างงานและขาดคนทำงาน

29 พฤศจิกายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สัปดาห์ที่แล้วบิ๊กสภาพัฒน์ฯ หรือสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแจกแจงเศรษฐกิจไตรมาส 3  ดูเหมือนไม่ค่อยสบายใจกับตัวเลขที่ยังหดตัวร้อยละ 0.3 บนฐานติดลบไตรมาสเดียวกันกับปีที่แล้วที่หดตัวร้อยละ -6.4  ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจเกือบทุกตัวหดตัวหมดแต่ยังดีที่ส่งออกเดือนตุลาคมขยายตัวได้ดีคาดว่าทั้งปีมูลค่าส่งออกอาจทำสถิติสูงสุดในรอบ 12 ปี ไม่ขอลงรายละเอียดเนื่องจากได้เคยเขียนลงบทความก่อนหน้านี้

ภาวะเศรษฐกิจไทยปีหน้านอกเหนือจากราคาน้ำมันโลกที่สวิงขึ้น-ลงในระดับสูงซึ่งจะทำให้โลกเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านส่งออกและการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งการที่ไม่มีชื่อประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมระดับ “World Summit” ประเทศประชาธิปไตย 110 ประเทศแสดงให้เห็นว่าชาติตะวันตกเขามองเราในทางลบมีผลต่อการทำข้อตกลงทางการค้าในอนาคต

ประเด็นที่สภาพัฒน์ฯ มีท่าทีกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจปีพ.ศ.2564 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดอาจประมาณร้อยละ 1.1-1.2 จากหดตัวปีที่แล้วร้อยละ -6.1 การใช้จ่ายประชาชนไตรมาส 3 หดตัว ผลข้างเคียงหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงแถมภัยจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้น้องๆ น้ำท่วมใหญ่ปีพ.ศ.2564 เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วให้หนักกว่าเดิม ภาคธุรกิจยกเว้นเช็คเตอร์ส่งออกและซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องที่ยังคงไปได้ดีนอกนั้นส่วนใหญ่อยู่ในระดับประคับประคองตัวอาจทำให้เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายอาจยังอืด ประเด็นที่สภาพัฒน์ฯ วิตกอัตราว่างงานไตรมาส 3 ขยับมาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 สูงกว่าไตรมาส 2 ที่อัตราคนว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เพียงแค่ 3 เดือนมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 1.3 แสนคนสอดคล้องกับแรงงานประกันสังคมมาตรา 33 เปรียบเทียบก่อนโควิดระบาดกับปัจจุบันยังหายไปถึง 6.932 แสนคน

ที่ต้องเข้าไปดูแลและแก้ปัญหาคือการว่างงานของผู้ที่จบระดับปริญญาตรีมีอัตราสูงถึงร้อยละ 3.63 สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 61 หากส่องกล้องดูไส้ในพบว่าแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปีการศึกษาพ.ศ.2564 มีประมาณ 4.938 แสนคน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้จบปริญญาสัดส่วนร้อยละ 52.62, ระดับอาชีวศึกษาสัดส่วนร้อยละ 25.01 ที่เหลือเป็นระดับมัธยมปลายและต้น โครงสร้างแรงงานใหม่เป็นระดับมีการศึกษาอย่างน้อยในช่วง 8 ปีไม่มีแรงงานใหม่ที่จบการศึกษาระดับประถมหรือต่ำกว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ขาดแรงงานพื้นฐานซึ่งไม่ต้องการทักษะเน้นการใช้แรงงานขณะเดียวกันแรงงานใหม่หรือ “แรงงานวัยตอนต้น” ครึ่งหนึ่งจบปริญญาตรี ส่วนใหญ่เรียนในสาขาของยุคอนาล็อก 2.0 ซึ่งตลาดอิ่มตัวมานานแล้วทำให้เป็นกลุ่มที่หา   งานยาก

จาก jobthai.com เป็นเว็บไซต์หางานมีผู้ฝากประวัติสมัครงานมากถึง 1.973 ล้านคน (ณ 24 พ.ย. 64) พบว่ามีผู้จบระดับปริญญารอการจ้างงานมีจำนวน 1.486 ล้านคนสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 75.3 ของผู้สมัครงงานทั้งหมด ขณะที่ผู้สมัครงานอายุ 20-30 ปีซึ่งเป็นแรงงานวัยตอนต้นรอการจ้างงานมีสัดส่วนร้อยละ 51.23 ด้วยนิยามของ “ILO” ที่ระบุว่าผู้ที่ทำงานสัปดาห์ละ 1 ชม.จะได้ค่าจ้างหรือไม่ได้ค่าจ้างทำงานในครัวเรือนหรือครัวเรือนเกษตรถือว่าเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้นทำให้อัตราการว่างงานของไทยไม่สะท้อนความเป็นจริง

ประเด็นที่อยากจะกล่าวในบทความนี้เกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลของดีมานด์และซัพพลายความต้องการแรงงานของไทยซึ่งแปลกกว่าหลายประเทศที่โครงสร้างผู้จบการศึกษาครึ่งหนึ่งไปกระจุกตัวอยู่ที่ระดับปริญญาแต่ตลาดต้องการน้อยลง เด็กจบใหม่การศึกษาสูงจำนวนมากได้งานต่ำกว่าศักยภาพบางส่วนเลือกที่จะไปเป็นฟรีแลนซ์หรือสตาร์ทอัพธุรกิจใหม่ที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์ มีผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่ “Business Life” ไม่ถึง 5 ปีก็เจ๊งหลังจากนั้นก็เป็นคนหลักลอยตัวอย่างผมเห็นมามากแล้ว ในทางกลับกันตลาดแรงงานกลับขาดแรงงานพื้นฐานใช้ทักษะต่ำซึ่งอัตราการว่างงานเพียงร้อยละ 0.6 อุปทานความสามารถบรรจุงานแรงงานไร้ทักษะได้เพียงร้อยละ 64.2 ของความต้องการ

การเร่งตัวของความต้องการแรงงานทักษะต่ำจะยิ่งขาดแคลนมากกว่าที่เป็นอยู่ ปีหน้าจะถูกกดดันจากภาคส่งออกที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามมาด้วยการลดจำนวน “Work From Home” มาสู่การทำงานปกติตลอดจนการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะเพิ่มขึ้น หากมองโลกในแง่ดีเศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-4.5 ทำให้ความต้องการแรงงานของภาคบริการและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นซึ่งต้องการแรงงานไร้ทักษะจะสูงขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยตัวเร่งมากจาก “ศบค.” คลายล็อกเฟส 2 เพื่อดึงนักท่องเที่ยวไทยให้มาใช้จ่ายในวันหยุดช่วงปลายปีและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วง “High Season” หลังพบว่าเฟสแรกเดือนพฤศจิกายนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 1.236 แสนคน พบติดเชื้อโควิดเพียง   ร้อยละ 0.13 คาดว่าปีหน้าต่างชาติอาจมี 10 ล้านคนรายได้ 6.0 แสนล้านบาทขณะที่นักท่องเที่ยวไทยอาจกลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด-19

การแก้ปัญหาก่อนอื่นต้องยอมรับว่าประเทศไทยเปลือกนอกที่รัฐพยายามโปรโมท “New S-Curve Industries” หรืออุตสาหกรรมไฮเทคใช้แรงงานไม่มากแต่ข้อเท็จจริงอุตสาหกรรมส่งออกในเชิงมูลค่าสัดส่วนร้อยละ 37.8 เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่ขาดแคลนแรงงาน มูลค่าส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 3.153 ล้านล้านบาทเป็นการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันภาคท่องเที่ยว, ภาคบริการ,  ค้าปลีก, ร้านค้ารายย่อยรวมถึงแรงงานในครัวเรือนเกี่ยวข้องกับการใช้คนจำนวนมากซึ่งเป็นงานที่คนไทยโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวไม่ทำ ตรงนี้ต้องแก้ไขเกี่ยวข้องกับการต้องนำแรงงานต่างด้าวแบบสีเทาๆ เข้ามาอยู่ในระบบหรือ “บนโต๊ะ”  

หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรู้ปัญหาดีว่าต้นตออยู่ที่ไหนจะแก้กันอย่างไรเพียงแต่จะทำหรือไม่ทำ ขณะที่กระทรวงที่รับผิดชอบก็เน้นเรื่อง “PR” สร้างภาพลักษณ์ลำพังจะให้ข้าราชการเข้าไปแก้ปัญหาคง   ไม่ใช่ ผู้ที่นั่งหัวโต๊ะระดับ “บิ๊กตู่” ต้องเข้าไปจัดการอย่าใช้วิธี “One Size Fits for All” คือมาตรการเดียวครอบคลุมใช้ไปหมดเพราะลักษณะการใช้แรงงานต่างด้าวไม่เหมือนกัน ควรแยกแยะ เช่น คลัสเตอร์อุตสาหกรรม, คลัสเตอร์ภาคบริการ, คลัสเตอร์เกษตรกรรม-ปศุสัตว์, คลัสเตอร์ประมง, คลัสเตอร์ก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจเหล่านี้รูปแบบการจ้างงานต่างกันทั้งตัวนายจ้าง-ลักษณะการทำงานแม้แต่หลักแหล่งของสถานประกอบการโดยเฉพาะแรงงานในภาคเกษตร เช่น ประมง, กรีดยางพารา, ตัดตออ้อยหรือตัดอ้อย, ขุดมันสำปะหลังเครื่องจักรและเทคโนโลยีอาจทดแทนได้บางส่วน แต่ส่วนใหญ่ยังต้องใช้แรงงานซึ่งตัวตนนายจ้างไม่แน่นอนลักษณะงานโยกย้ายไปตามฤดูกาลหรือต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงาน

การแก้ปัญหาแรงงานต้องทำแบบคู่ขนานคือแก้ทั้งกลุ่มจบปริญญาที่มีส่วนเกินจำนวนมาก ขณะที่แรงงานไร้ทักษะขาดแคลนอย่างรุนแรงอีกทั้งจำนวนคนรุ่นหนุ่ม-สาวเข้าสู่ตลาดแรงงานลดน้อยลงเห็นได้จากกำลังแรงงานที่จบใหม่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงตลอดและสังคมสูงวัยมาเยือนไทยเร็วกว่าที่คาด ขณะเดียวกันช่วงรอยต่อของการผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยอาจมีช่วงต่อที่ยาวเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อยครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งแรงงาน อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังเป็นธงหลักของเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลจะแก้อย่างไรต้องเร่งทำเป็นวาระแห่งชาติ อย่าสร้างแต่ภาพลักษณ์ไปวันๆ ว่าปัญหาไม่มี...อย่างนี้ควรจะ “Cabinet Reset” เลือกคนเก่งๆ และกล้าที่จะแก้ปัญหาเข้ามาทำงานหรือ “Parliament Reset” ก็เลือกมาเลยอย่าทำอึมครึมนะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat