posttoday

Thailand Re-Opening เปิดประเทศกู้เศรษฐกิจ...ท่ามกลางความไม่แน่นอน

22 พฤศจิกายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

วิกฤตแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คุกคามทั้งเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี มีคนติดเชื้อ 2 ล้านเศษเสียชีวิตประมาณ 21,224 คน สร้างบาดแผลทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของไทยและของโลก สะท้อนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ 0.3 เป็นการหดตัวบนฐานช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาที่ติดลบ  ร้อยละ 6.4 แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของประชาชนในสภาวะที่ลำบากเพียงใด ผลพวงที่ตามมาคือหนี้ธุรกิจและหนี้ชาวบ้านช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 6.89 แสนล้านบาทหรือสูงขึ้นร้อยละ 5.1 จำนวนธุรกิจและประชาชนที่ไม่มีความสามารถชำระต้นและดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน(ณ ก.ย.64) มีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อหนี “NPL” จำนวน 5.12 ล้านบัญชีมูลหนี้ 3.32 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไตรมาสที่ผ่านมายังหดตัวทั้งที่ในช่วงที่ผ่านมา 1 ปีกับ 4 เดือนรัฐบาลใช้เงินเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เป็นเงิน 917,893 ล้านบาทโดยร้อยละ 58 เป็นการใช้เงินในปีที่แล้วและช่วงที่เหลือไม่ถึง 2 เดือนของปีนี้ยังจะใช้เงินก้อนใหม่ฟื้นฟูเศรษฐกิจกว่า 1.7 แสนล้านบาท ทำไมเงินก้อนโตระดับนี้ไม่สามารถดันให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างที่ตั้งความหวังไว้ ลองส่องกล้องดูไส้ในเศรษฐกิจไตรมาส 3 พบว่าดัชนีชี้วัดนอกจากภาคส่งออก-นำเข้าที่ขยายตัวสูงมีมูลค่ามากกว่าก่อนโควิดระบาดนอกนั้น ภาคส่วนอื่นๆ อยู่ในสภาพที่อ่อนแอและไม่แน่นอน

ดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ของชาวบ้านสะท้อนจากการใช้จ่ายของประชาชนหดตัวร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาซึ่งหดตัวร้อยละ -0.6 เป็นการติดลบบนการหดตัวซึ่งเป็นอาการที่ไม่ค่อยจะดีทั้งที่อัดฉีดเงินก้อนใหญ่ใส่เม็ดเงินลงในกระเป๋าสตางค์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น มาตรการเราชนะและมาตรการคนละครึ่งที่ใช้เงินไปมากกว่า 3.74 แสนล้านบาท นอกจากนี้ดัชนีภาคบริการหดตัวติดลบร้อยละ 4.9 และการใช้จ่ายสินค้าคงทนต่างๆ หดตัวติดลบร้อยละ 14.1 ด้านการลงทุน (รวม) หดตัวร้อยละ -0.4 แต่การลงทุนของเอกชนยังขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 2.6 จากปีที่แล้วหดตัวติดลบร้อยละ 8.4 บ่งชี้ว่าการลงทุนจริงของภาคธุรกิจเริ่มกลับมาซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าเครื่องจักร-สินค้าทุนเดือนกันยายนที่ผ่านมาขยายตัวได้ดีร้อยละ 16 และการนำเข้าวัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูปขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.6 การที่จะกล่าวว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือยังไม่ฟื้นไม่สามารถใช้ความรู้สึกมาเป็นเกณฑ์จำเป็นที่ต้องนำตัวเลขชี้วัดที่น่าเชี่อถือมาอ้างอิง

คำถามยอดฮิตเศรษฐกิจไทย ณ วันนี้ถึงจุดต่ำสุดหรือยังผู้ตอบคำถามได้ตรงที่สุดคือ “คุณๆ ท่านๆ” ทั้งหลาย เพราะผลกระทบจาก “Pain Point” ซึ่งเป็นบาดแผลกระทบเศรษฐกิจและปากท้องของผู้คนไม่เหมือนกัน เช่น ผู้ที่รับราชการ-รัฐวิสาหกิจกินเงินเดือนหลวง-เงินบำนาญหรือทำงานในบริษัทระดับบิ๊กๆ ยังคงสุขสบาย บางภาคส่วนวิกฤตกลายเป็นโอกาสรวยกว่าเดิม การเปิดประเทศ “Re-Opening Economy” อาจช่วยรักษาบาดแผลของธุรกิจและตลาดแรงงานซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ บาดแผลอาจแตกต่างกันออกไปตามคลัสเตอร์และความสามารถในการรับมือกับวิกฤต บางส่วนเริ่มเป็นแผลตกสะเก็ดหรือลุกจากเตียงออกมาวิ่งต่อได้แต่บางธุรกิจอาจยังติดกับดักไม่ฟื้นตัวทำให้แรงงานที่อยู่ในคลัสเตอร์นั้นไม่ฟื้นตัวตามไปด้วย

สำหรับคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่โปรโมทเปิดประเทศแต่อยู่ในช่วงจังหวะที่ประเทศต่างๆ โควิดกลับมาระบาดรอบใหม่ ประเทศจีนห้ามประชาชนออกนอกประเทศอย่างน้อยไปจนถึงหลังตรุษจีน ขณะที่ประเทศกลุ่ม EU โควิดกำลังเล่นงานไม่อยู่ในวิสัยที่จะออกมาเที่ยว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลงทะเบียน “Thailand Pass” เดือนพฤศจิกายน-มกราคม 2565 อาจมีจำนวนประมาณ 6.5 แสนคนซึ่งน้อยนิดเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดที่ต่างชาติเข้ามาเที่ยวเฉลี่ยเดือนละ 3.3 ล้านคน

ในความเห็นของผู้เขียนเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านช่วงต่ำสุดมาแล้ว การเปิดประเทศภายใต้สภาวะระบาดของโควิดอยู่ในระดับที่พอควบคุมได้เป็นผลจากปัจจัยเข้าถึงวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 37.527 ล้านราย(17พ.ย.64) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของเป้าหมาย 50 ล้านคน เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประชาชนเชื่อมั่นออกมาจับจ่ายใช้สอย ยอดจองโรงแรม-รีสอร์ตสถานท่องเที่ยวสำคัญช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์และเทศกาลปีใหม่เกือบเต็ม แม้แต่ผู้เขียนวางแผนไปเที่ยวปราสาทพนมรุ้ง (จังหวัดบุรีรัมย์) โรงแรมดังๆ ยังจองยากด้านค้าปลีกคาดว่าเดือนกันยายน/ตุลาคมมีผู้เข้าใช้บริการศูนย์การค้าต่างๆ ในย่านช็อปปิ้งสำคัญของกทม.สูงถึงร้อยละ 70-75 จากระดับปกติทำให้ร้านค้าย่อย-ร้านอาหารและสถานบริการตามห้างฯ ได้รับอานิสงส์ ขณะที่ศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ระบุว่ามีผู้โอนกรรมสิทธิ์บ้าน-อาคาร-คอนโดสูงขึ้นคาดว่าสต๊อกอสังหาฯ ปลายปีจะมีจำนวนลดลงร้อยละ 4.97  แต่จำนวนสต๊อกยกไปปีหน้ายังมีถึงประมาณ 2.782 แสนหน่วยมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท

การเปิดประเทศซึ่งอยู่ในโค้งสุดท้ายของปีพ.ศ.2564 ภายใต้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของไตรมาสที่ผ่านมาส่วนใหญ่ล้วนหดตัว ความหวังที่จะให้ภาคท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนสร้างกำลังซื้อคงต้องใช้เวลาออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี การหวังพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศให้เป็นพลังขับเคลื่อนอุ้มการจ้างงานและสร้างอำนาจซื้อ ลำพังจะอาศัยมาตรการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่พอสะท้อนจากช่วงที่ผ่านมาใช้เงินก้อนโตเกือบหนึ่งล้านล้านบาทแต่เศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังหดตัวและปีนี้อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1-1.2 สำหรับปีหน้า (พ.ศ.2565) หวังจะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไปถึงร้อยละ 4 หรือ 4.5 ภายใต้ความเปราะบางและไม่แน่นอนของปัจจัยทั้งภายนอกและภายในรวมทั้งเสถียรภาพของรัฐบาล....คงต้องลุ้นครับ

รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทาง www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat