posttoday

Stagflation จะซ้ำรอยอดีต?

18 พฤศจิกายน 2564

โดย เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์

บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ประเด็นร้อนในตลาดการเงินโลกช่วงนี้คงหนีไม่พ้น “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่สูงขึ้นมากจนสร้างความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Stagflation ซ้ำรอยปี 1970 ซึ่งภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อสินทรัพย์ลงทุน แท้จริงแล้วภาวะเงินเฟ้อไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนเพียงอย่างเดียว

การมีเงินเฟ้ออ่อนๆ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการลงทุน เพราะหมายถึง เศรษฐกิจเติบโตดี บริษัทมีการลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำและมีรายได้จับจ่ายใช้สอยเกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ทำไมจึงต้องกังวลกับภาวะเงินเฟ้อ เพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากจะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อจากมูลค่าเงินที่ลดลง ต้องใช้จำนวนเงินมากขึ้นเพื่อที่จะซื้อสินค้าและบริการในจำนวนเท่าเดิม นอกจากนี้ยังส่งกระทบต่อผลตอบแทนที่แท้จริง (อัตราผลตอบแทนหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ) จากการลงทุนให้ลดลงเงินเฟ้อเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน

สาเหตุของเงินเฟ้อมาจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น (Demand Pull) และต้นทุนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น (Cost Push) ภาวะเงินเฟ้อสูงมักจะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง ผลิตภาพทางการผลิตสูงและตลาดแรงงานตึงตัว เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลและธนาคารกลางจะเข้ามาดูแลโดยการใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเงินที่ตึงตัว เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การตรึงราคาสินค้า และการปรับขึ้นภาษี เป็นต้น เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และสร้างเสถียรภาพด้านราคา

แต่มีสถานการณ์เงินเฟ้อประเภทหนึ่งที่สร้างความท้าทายต่อผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ คือ Stagflation เป็นภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงมากจากต้นทุนราคา แต่เศรษฐกิจกลับตกต่ำและมีอัตราการว่างงานสูง เคยเกิดขึ้นในปี 1970’s มีสาเหตุมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลก และอีกสาเหตุจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ในสมัยประธานาธิบดีนิกสัน เศรษฐกิจประเทศสหรัฐฯ อยู่ในภาวะชะลอตัว แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับดำเนินนโยบายการคลังที่เข้มงวดโดยการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาดดุลการค้าและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

ในขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วหลังออกจากระบบมาตรฐานทองคำ ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ แพงขึ้นและสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นเร็ว ซึ่งการแก้ปัญหา Stagflation จะทำได้ยาก เพราะหากรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดก็จะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจตกต่ำมากกว่าเติม และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอีก นักลงทุนในตลาดกังวลว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันจะเป็นภาวะ Stagflation ซ้ำรอยอดีต แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงห่างไกลจาก Stagflation ในอดีต ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปีหน้า ประเทศโดยส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดี ที่มา : World Economic Outlook เดือนตุลาคม โดย IMF

2. อัตราการว่างงานของประเทศหลักลดลงหลังจากเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีเพียงอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปัญหาการติดขัดด้านอุปทาน

ที่มา : Bloomberg, MFC

3. หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เช่น สหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองน้อยลง จึงทำให้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่มาจากค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าปี 1970

4. อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารกลาง

5. ธนาคารกลางโดยส่วนใหญ่มีความสามารถเพียงพอในการดูแลภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งการดำเนินนโยบายทำได้ง่ายกว่าภาวะเงินฝืดนักลงทุนในตลาดอาจจะกังวลต่อภาวะ Stagflation มากเกินไป แม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ควรมองข้ามและต้องติดตามการเคลื่อนไหวด้านราคาอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหรือชนะเงินเฟ้อ เช่น ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทที่มีธุรกิจหรือในอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ ลงทุนในทองคำที่มักจะได้ยินเสมอว่าเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุนเพื่อป้องกันอัตราเงินเฟ้อ ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น

ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่พอร์ตการลงทุนจะได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ทั้งทางตรงและผ่านกองทุนรวมที่บริหารโดยมืออาชีพ โดยขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาการลงทุนก่อนลงทุนทุกครั้ง เพื่อให้การลงทุนสร้างความมั่งคั่งภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้