posttoday

ดีเดย์เปิดประเทศ....เปิดก็เสี่ยงติดเชื้อไม่เปิดก็เสี่ยงเศรษฐกิจพัง

01 พฤศจิกายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

บทความนี้ตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งรัฐบาลประกาศเป็นวันดีเดย์เปิดประเทศหลังจากที่เผชิญหน้ากับไวรัสโควิดที่กลายพันธุ์ทำให้คนเสียชีวิตทั่วโลกทะลุห้าล้านคน สำหรับประเทศไทยคนติดเชื้อสะสมประมาณ 1.883 ล้านคนและเสียชีวิตสะสมประมาณ 19,111 คน ช่วงที่ผ่านมาการล็อกดาวน์พื้นที่เศรษฐกิจและการปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของ GDP ที่ปีที่แล้วหดตัวร้อยละ -6.1% และปีหน้าอาจขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 1.0 เปรียบเทียบช่วงสองปีเม็ดเงินเฉพาะจำนวนมูลค่า GDP หายไปประมาณ 2.199 ล้านล้านบาท ธุรกิจและแรงงานกว่าหนึ่ง ล้านคนของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติกระทบหนักสุดคิดเป็นมูลค่า 2.5-2.72 ล้านล้านบาท การเปิดแซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ตเป็นแค่น้ำจิ้มถ้วยเล็กๆ สภาวะที่เป็นอยู่พบว่าผู้ประกอบการรายเล็ก-รายใหญ่จนไปถึงครัวเรือนส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องส่งผลต่อการจ้างงานและการจับจ่ายใช้สอยที่แทบไม่ขยายตัว

การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าที่เกิดทั่วโลกรวมถึงไทยเป็นวิกฤตที่เศรษฐกิจหนักสุดในรอบ 23 ปีนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปีพ.ศ.2540 คาดว่าการฟื้นตัวให้เศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงกับปีก่อนโควิดระบาดอาจต้องไปถึงกลางปีพ.ศ.2566 เป็นอย่างน้อย ผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการค้า-บริการและอุตสาหกรรมการผลิตสะท้อนจากการปรับโครงสร้างหนี้ล่าสุดเดือนกันยายนที่ผ่านมามีจำนวนถึง 5.12 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 3.35 ล้านล้านบาทโดยพบว่าร้อยละ 42.85 เป็นหนี้เปราะบาง ด้านผลกระทบที่มีต่อภาคประชาชนจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนเฉพาะหนี้ในระบบของสถาบันการเงินเปรียบเทียบช่วงไตรมาส 2 ปีพ.ศ.2563  ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดระบาดกับไตรมาส 2 ปีนี้ พบว่าหนี้ของประชาชนเพิ่มขึ้นถึง 2.917 ล้านล้านบาทสูงขึ้นร้อยละ 25.7 ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านและธุรกิจต่างๆ เดือดร้อนมากน้อยเพียงใด

หากถามผู้เขียนซึ่งเป็นนักธุรกิจตอบว่า “เห็นด้วย” เพราะการปิดประเทศยาวหลังโควิดสายพันธุ์เดลต้ากลับมาระบาดตั้งแต่ปลายเมษายนจนถึงวันนี้กระทบธุรกิจทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็กไปจนถึงระดับไมโครประเภทแผงลอย-หาบเร่ ตลอดจนแรงงานอิสระส่วนใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบจากการตกงานไปจนถึงรายได้ลดลงช่วงสูงสุดน่าจะเดือนกรกฎาคมมีคนตกงานมากถึง 6-7 ล้านคน ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้ยกเลิกล็อกดาวน์และผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงจะยกเลิกเคอร์ฟิวแต่ได้ทิ้งบาดแผล “Pain Point” ที่ยังต้องการเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อการเยียวยา คาดว่าประมาณครึ่งหนึ่งของสถานประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล 8.075 แสนกิจการรวมถึงธุรกิจนอกระบบได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน การจ้างงานจนถึงขณะนี้ยังมีความเปราะบางสะท้อนจากแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เดือนมีนาคมปีที่แล้วเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนปีนี้ยังหายไปจำนวน 6.930 แสนคนและตัวเลขการจ้างงานใหม่เทียบกับช่วงต้นปียังเบาบางไม่ถึงสองหมื่นคนขณะที่จำนวนคนเสมือนว่างงานทำงานต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานยังมีเป็นหลักล้านคน

การดีเดย์เปิดประเทศของรัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหา 2 ด้านกล่าวคือเปิดก็เสี่ยงกับการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะการกลายพันธุ์ของ “อัลฟาพลัส” แต่ไม่เปิดก็เสี่ยงจากเศรษฐกิจที่ทรุดตัวหนัก หากลากยาว ธุรกิจจำนวนมากที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้อาจต้องเจ๊งปิดตัวและกลายเป็นหนี้เสีย “NPL” ที่จะทำให้เศรษฐกิจดำดิ่งลงก้นเหว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีเดย์วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564  รัฐบาลตัดสินใจถูกแล้วเป็นความกล้าหาญของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ถึงแม้จะมีความเสี่ยงจากจำนวนคนติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นเหมือนกันที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศที่เปิดประเทศก่อนไทย เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อียูบางประเทศ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ ฯลฯ  ซึ่งไทยควรถอดบทเรียนว่าประเทศเหล่านี้เขารับมืออย่างไร แต่ที่บางคนออกมาวิจารณ์ว่าไม่ควรเปิดประเทศคงต้องมองในภาพรวมว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่ได้โชคดีที่ไม่ต้องทำงานแต่มีกินมีใช้

ทั้งนี้การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทีแรกจะค่อยๆ เปิดแค่ 10 ประเทศที่ความเสี่ยงต่ำแต่นายกรัฐมนตรีใจถึงเปิดรับทีเดียว 46 ประเทศก่อนวันดีเดย์เปิดประเทศนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น 63 ประเทศที่เข้ามาโดยไม่ต้องกักตัวแต่ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีการตรวจหาเชื้อ RT-PCR ทั้งต้นทางและสนามบินขาเข้าและมีประกันสุขภาพ ประเมินว่าปีหน้าอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจากเดิมคาดว่า 6 ล้านคนอาจเพิ่มเป็น 10 ล้านคนแต่ยังห่างไกลกับนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนโควิดมีถึง 40 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวและความเชื่อมั่นกลับมาบวกกับคนไทยชอบสนุกพอมีงานทำมีเงินในกระเป๋าก็คงไปเที่ยว

คำถามว่าเปิดประเทศท่ามกลางโควิด-19 ยังระบาดแต่ละวันเฉลี่ยไม่ถึงหมื่นคนมีความเสี่ยงไหม คำตอบคือถือเสี่ยงแน่นอนเพราะถึงคนติดเชื้อลดลงแต่ก็ยังมาก ขณะเดียวกันผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 คาดการณ์วันที่ 25 กันยายนน่าจะได้ 29.87 ล้านโดสหรือเท่ากับร้อยละ 59.4 ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องฉีด 50 ล้านคน ขณะที่ประชาชนยังไม่ได้   ฉีดเข็มแรกมีประมาณ 8.77 ล้านคน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากไวรัสกลายพันธุ์อัลฟาพลัส (Alpha Plus) ที่เชื้อแรงกว่าเดิมแต่ทางสาธารณสุขบอกว่าพร้อมเฝ้าระวังนักท่องเที่ยวแบบ “Sealed Route” ตั้งแต่สนามบินจนถึงโรงแรม ก่อนอื่นต้องเข้าใจบริบทไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.34 ของ GDP (ปีพ.ศ.2562)   เม็ดเงินจากภาคท่องเที่ยวหมุนเวียนหล่อเลี้ยงปากท้องตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงโรงแรมและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจเปิดประเทศทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงซึ่งคล้ายๆ กับหลายประเทศทั้งอาเซียนและระดับโลก

สำหรับเปิดประเทศจะฟื้นเศรษฐกิจได้จริงไหม ด้านท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่ฟื้นในเร็ววันเนื่องจากประเทศซึ่งเป็นลูกค้าท่องเที่ยวรายใหญ่ยังไม่เปิดประเทศ เช่น ประเทศจีนลูกค้าเบอร์หนึ่งปิดหลายเมืองเพราะพบการระบาดหนักใน 11 มณฑล ยังห้ามประชาชนออกนอกประเทศอย่างน้อยไปจนถึงปลายไตรมาสแรกปีหน้า ขณะที่

รัสเซียไม่มีชื่ออยู่ในลิสต์ให้เข้าเที่ยวเพราะพบโควิดกำลังระบาดรุนแรง อีกเหตุผลหนึ่งคือไทยยังติดลิสต์เป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อลำดับที่ 24 ของโลกทำให้เมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทางส่วนใหญ่ต้องถูกกักตัว หลายประเทศประกาศให้หลีกเลี่ยงเดินทางมาไทยอาจเป็นสาเหตุทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังรีรอ อย่างไรก็ดีการตัดสินใจของรัฐบาลในการเปิดประเทศมาถูกทางแต่ต้องเตรียมความพร้อมทั้งเยียวยาโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวในกลับมาพลิกฟื้นคืนชีพ ที่ผ่านยังพบสถานประกอบการต่างๆ ร้านอาหาร, ห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ยังหย่อนยานคัดกรองเข้า-ออกแบบไปที ผู้เขียนกลับจากต่างจังหวัดพบว่าสนามบินสุวรรณภูมิไม่มีการตรวจคัดกรองอะไรเลย...เปิดประเทศแล้วประเด็นเหล่านี้ต้องคุมเข้มจริงๆ นะครับ !

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat