posttoday

บริหารแบบ Netflix คือการรีบูตวงจรชีวิตขององค์กร

31 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ บริหารคนบนความต่าง

โดย ดิลก ถือกล้า

ในวงการหนังสือแนวการบริหารจัดการได้มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้สร้างความฮือฮาและมีการนำไปถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางคือหนัง

สือที่ชื่อว่า No Rules Rules: Netflix and The Culture of Reinvention โดยผู้แปลให้ชื่อหนังสือภาษาไทยว่า Netflix กฎที่นี่คือไม่มีกฎ เป็นการนำเสนอแนวทางการบริหาร Netflix ที่แตกต่างออกไปจากแนวคิดเดิมๆ

และเชื่อกันว่าความแตกต่างนี้แหละที่สร้างให้ Netflix มีความโดดเด่นเป็นองค์กรที่เปี่ยมประสิทธิภาพ มีหลายท่านได้เขียนถึงหนังสือเล่มนี้หลากหลายแง่มุม ผมเองก็ได้ถูกเชิญให้ไปช่วยจัดเป็น Book Seminar ให้กับผู้บริหารองค์กรขนาดกลางแห่งหนึ่งได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองและการนำไปปรับใช้

และสำหรับผมแล้ว วิธีคิด แนวทางในการบริหารของ Netflix อย่างที่เขียนไว้ในหนังสือ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

แนวทางนี้คือแนวทางที่ช่วยรีบูตให้วงจรชีวิตขององค์กรอย่าง Netflix ด้มีความสดใหม่และกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ

อะไรคือวงจรชีวิตขององค์กร

ผู้อ่านท่านที่อยู่ในแวดวงการบริหารจัดการองค์กร การประเมินองค์กรจะคุ้นเคยกับคำนี้ ผมขอสรุปให้ผู้อ่านท่านที่อาจจะยังไม่คุนเคยกับคำนี้ให้ได้เห็นภาพดังนี้ คือ ขอให้มองว่าองค์กรเหมือนกับคนๆหนึ่งที่มีการเกิด การเติบโตเป็นวัยรุ่น

การเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และการร่วงโรยไปตามเวลา โดยแต่ละช่วงจะมีลักษณะสำคัญดังนี้ ช่วงการเกิดมาสู่ช่วงวัยรุ่นขององค์กร องค์กรจะมุ่งเน้นที่จะสร้างองค์กรให้อยู่รอดด้วยระบบที่พอจะให้ทำงานรอด ไปได้ เรื่องสำคัญที่คนในองค์กรจะมุ่งเน้น คือ มุ่งสนใจว่าจะเสี่ยงในเรื่องอะไร และจะทุ่มเทให้กับเรื่องใด

ซึ่งหากทำได้ไม่ดีจะหมายถึงความเป็นความตายขององค์กร คนในองค์กรไม่ได้สนใจกฎเกณฑ์ขั้นตอนการทำงานมากนัก ช่วงการเติบโตเป็นวัยหนุ่มสาวขององค์กร เมื่อผ่านขั้นแรกมาได้ องค์กรจะเริมมีพละกำลัง มีความพร้อม จึงเริ่มเน้นไปที่การสร้างความแน่นอนมั่นคง การแสวงหาชื่อเสียง

การสร้างความภาคภูมิใจในองค์กร และด้วยการมุ่งเน้นที่ว่านี้ องค์กรจะมีการจัดวางองค์กร กำหนดกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ กำหนดแนวทางการควบคุม วางแนวทางการวัดการประเมินตนเองมาปรับใช้ แต่ก็ยังเป็นการวางแนวทางที่หลวมๆ มีความยืดหยุ่น ด้วยเป็นช่วงการแสวงหาความสำเร็จ

ช่วงการก้าวสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ขององค์กร องค์กรที่ผ่านช่วงวัยหนุ่มสาวมาสู่การประสบความสำเร็จได้พอสมควรแล้ว จะเริ่มให้ความสำคัญกับตนเอง

อยากสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันขององค์กร พยายามหาหนทางที่จะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้

รวมทั้งเริ่มมองไปถึงการทำอะไรเพื่อสังคมภายนอก เพื่อส่วนรวม แต่ด้วยการพยายามวางกฎเกณฑ์ แนวทางในการบริหารจัดการองค์กรเพื่อให้สามารถจะรักษาความสามารถ ในการแข่งขันไว้ให้ได้ เมื่อทำมากเข้าก็จะส่งผลให้เกิดไม่คล่องตัว

มีขั้นตอนลำดับชั้นที่ไม่จำเป็น มีการควบคุมที่เกินพอดี จนพอเวลาผ่านไปนานเข้า องค์กรจะเทอะทะ คนในองค์กรไม่ได้มองเป้าหมายองค์กรแต่จะมุ่งเน้นให้กระบวนการจนสมรรถนะและประสิทธิภาพขององค์กรเริ่มถดถอย หากไม่มีการแก้ไขจะทำให้องค์กรร่วงโรยจนล้มหายตายจากไปในที่สุด

ดังนั้น จึงได้มีแนวทางที่เรียกว่า “การพัฒนาองค์กร” มาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยวิเคราะห์ และกำหนดแนวทางการปรับปรุง การพัฒนาองค์กรที่อยู่ในวงจรชีวิตช่วงเป็นวัยผู้ใหญ่และเริ่มโรยรา หรืออยู่ในวงจรชีวิตที่เริ่มโรยราแล้ว ให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สร้างบรรยากาศองค์กรที่ให้กลับไปอยู่ในวงจรชีวิตช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวอีกครั้ง

และแนวทางการบริหารแบบ Netflix คือแนวทางที่ช่วยรีบูตให้องค์กรยังคงอยู่ในวงจรวัยหนุ่มสาวได้อย่างต่อเนื่อง แนวทางการบริหารจัดการของ Netflix รีบูตวงจรชีวิตองค์กรอย่างไร

หากเราดูแนวทางการของ Netflix ที่สรุปไว้ 30 แนวคิดหลัก ที่มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้องค์กรNetflix ได้เกิดการตื่นตัวและยังคงอยู่ในช่วงวงจรชีวิตของวัยเด็กถึงวัยหนุ่มสาว จากความเชื่อมโยงเหล่านี้

  • แนวคิดในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีแต่คนเก่งเพราะ Netflix มองว่าการมีเพื่อนร่วมงานที่เยี่ยมยอดจะทำให้เกิดสถานที่ทำงาน ที่ยอดเยี่ยม ซึ่งจะกระตุ้นการทำงานให้มุ่งเน้นที่ผลสำเร็จใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้งานที่อยู่ในระดับเดียวกันเป็นบรรยากาศขององค์กรที่อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาว
  • แนวทางการควบคุมพนักงานให้น้อยลงเช่น เลิกกำหนดวันลาพักร้อน การให้อิสระพนักงานในการตัดสินใจไม่ต้องขออนุมัติให้มากมายหลายขั้นตอน การให้อิสระพนักงานในการใช้จ่ายเพื่อบริษัทซึ่งจะทำให้พนักงานตัดสินใจได้ไวขึ้น

เป็นแนวทางการบริหารที่อยู่คนละขั้วกับบรรยากาศการทำงาน ขององค์กรที่อยู่ช่วงวงจรชีวิตวัยผู้ใหญ่ที่มุ่งเน้นการทำงานบน กฎระเบียบ การควบคุมที่เข้มวงด

การตัดสินใจที่ต้องรออนุมัติหลายขั้นตอน ซึ่งการให้อิสระแบบนี้จะสร้างให้องค์กรรักษาโมเมนตั้มของวงจรชีวิตองค์กรในช่วงวัยรุ่นต่อเนื่องวัยหนุ่มสาว

  • แนวทางการให้ฟีดแบคที่เป็นประโยชน์และตรงไปตรงมาแก่ผู้ฟัง การพูดอย่างที่คิดจริงๆ ด้วยเจตนาที่ดี มีการช่วยกันเตือนถ้าเห็นใครทำอะไรไม่เหมาะสม

ทำด้วยความหวังดีที่จะทำให้อีกฝ่ายปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น รวมทั้งการถึงแม้จะเป็นหัวหน้าก็ต้องรับคำวิจารณ์ได้ เป็นหลักการบริหารขององค์กรในวงจรช่วงแรกเกิดถึงวัยรุ่น เพราะคนในองค์กรต่างก็อยากจะให้องค์กรได้แข็งแรงได้เติบโต

การที่มีอะไรก็บอกกัน เตือนกันโดยไม่ต้อง “วางฟอร์ม” กันมากเหมือนคนในองค์กรที่อยู่ในวงจรชีวิตช่วงเป็นผู้ใหญ่

  • การวางแนวทางให้คน Netflix กล้าทำสิ่งใหม่ๆแม้อาจจะไม่ดีมากก็ตาม กระจายอำนาจให้คนทำงานทุกระดับไม่ให้ใครกุมอำนาจไว้คนเดียว การทำงานด้วยเป้าหมายหลักคือให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ฉับไว และคล่องตัว ไม่เน้นไปที่การป้องกันความผิดพลาด เวลาทำดีให้กระซิบ หากทำพลาดจงตะโกนความผิดพลาดให้ทุกคนในองค์กรได้รับรู้เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

แนวทางการทำงานแบบนี้เป็นการทำงานของคนในองค์กรที่อยู่ ในวงจรชีวิตช่วงวัยรุ่นถึงวัยหนุ่มสาว คงจะไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่า แนวทางของ Netflix

ในการทำงานเช่นที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น คือสิ่งที่ได้ช่วยรีบูตให้องค์กรอย่าง Netflix เป็นองค์กรที่ทรงประสิทธิภาพสูง เนื่องจากเป็นองค์กรที่อยู่ในวงจรช่วงวัยรุ่นหรือช่วงวัยหนุ่มสาวอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

อ้างอิงข้อมูล