posttoday

อุทกภัยจากพายุเตี้ยนหมู่...ซ้ำเติมฟื้นตัววิกฤตเศรษฐกิจ

11 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

อุทกภัยที่เกิดจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ส่งท้ายปลายเดือนกันยายนเล่นงานพื้นที่หนึ่งในสามของประเทศครอบคลุมกว่า 30 จังหวัดทั้งภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง มวลน้ำท่วมกระทบทั้งในเมืองตลอดจนพื้นที่เกษตร บ้านเรือนประมาณ 7-8 หมื่นครัวเรือนจมน้ำพื้นที่นา-ไร่-สวนและปศุสัตว์เสียหายจำนวนมาก ทรัพย์สินของชาวบ้านหายไปกับกระแสน้ำ

มีคำถามว่าไทยมีพรบ.น้ำมาตั้งแต่พ.ศ.2561 มีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ดูแลทั้งรับผิดชอบด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยกอปรทั้งมีดาวเทียมและเทคโนโลยีทันสมัยที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์สภาวะอากาศ ทำไมจึงไม่สามารถประเมินสถานการณ์น้ำท่วมและทิศทางของมวลน้ำอย่างน้อยจะได้เตือนประชาชนล่วงหน้าไม่ใช่พอน้ำมาแล้วเหลือแต่ตัว ไม่ต้องดูอื่นไกลแม้แต่ระดับรัฐมนตรี “คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน” อยู่ในครม.ยังงงว่าน้ำท่วมบ้านตัวเองที่จังหวัดสุโขทัยได้อย่างไร 

มีการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้อาจไม่ท่วมพื้นที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะกทม.และพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตปริมณฑล หน่วยงานรัฐหลายแห่งระบุว่า “เอาอยู่” ยังสามารถควบคุมการระบายน้ำได้ประชาชนไม่ต้องวิตกจนเกินเหตุ เนื่องจากน้ำหลากครั้งนี้เกิดจากฝนตามฤดูผสมโรงกับพายุโซนร้อนทำให้มีน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10  ข้อมูลเชิงเทคนิคระบุว่ามวลน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแค่ 2 ใน 3 ของที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2554 ผ่านมา 10 ปีพอดิบพอดีซึ่งครั้งนั้นถือเป็น “มหาอุทกภัย” มีพายุเข้ามาติดกัน 5 ลูกครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งประเทศกระทบชาวบ้าน 4.039 ล้านครัวเรือน ธนาคารโลกประเมินความเสียหายประมาณ 1.44 ล้านบาท ขณะที่อุทกภัยครั้งนี้เกิดจากพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ลูกเดียวครอบคลุม 30 จังหวัดกระทบชาวบ้านประมาณ 71,093 ครัวเรือน

ช่วงหลังปีพ.ศ.2554 ซึ่งเป็นปีน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดของประเทศจนถึงปัจจุบันมีอุทกภัยน้ำท่วมเกือบทุกปีอย่างน้อย 6 ครั้ง ตัวอย่าง เช่น ระหว่างปีพ.ศ.2557-2559 น้ำท่วม 3 ปีซ้อนมูลค่าความเสียหายรวมกัน 7.56 แสนล้านบาท ปีพ.ศ.2560 อุทกภัยกินพื้นที่ความเสียหายมาก ปีถัดมา (พ.ศ.2561) น้ำท่วมเสียหายมูลค่า 5.42 แสนล้านบาท น้ำท่วมเดือนกันยายนปีนี้หากประเมินความเสียหายโดยใช้ข้อมูลก่อนหน้านี้น่าจะประมาณไม่น้อยกว่า 3-4 แสนล้านบาท 

ความกังขาที่ต้องการหาคำตอบคือช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอุทกภัยเกิดขึ้นเฉลี่ยปีเว้นปีมูลค่าความเสียหายรวมกันเป็นหลักล้านล้านบาท ทั้งที่มีกฎหมายพิเศษมีการจัดตั้งหน่วยงานระดับกรมไปถึงสำนักงานทำไมยังปล่อยให้มีน้ำท่วมแบบชาวบ้านไม่ทันตั้งตัว แสดงให้เห็นถึงการขาดการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ หลายเขื่อนกั้นน้ำยังเป็นเขื่อนดินพอน้ำเซาะหนักๆ ก็พังรวมถึงการจัดเส้นทางระบายน้ำ (Flashway) ก็ยังไม่ชัดเจน ล้วนเป็นสาเหตุให้น้ำหลากท่วมบ้านเรือนชาวบ้านและพื้นที่เกษตรแบบไม่ทันตั้งตัว

ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมเป็นเรื่องคาราคาซังต่อเนื่องมานานแล้วตอนน้ำท่วมก็แก้กันแบบพอไปที พอน้ำลดแล้วก็ลืมเปลี่ยนเป็นปัญหาภัยแล้งไม่เชื่อเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ปีหน้าจะมีชาวบ้ายโวยว่าไม่มีน้ำเพาะปลูกไร่-นาเสียหายก็ต้องมีงบแก้ภัยแล้งเป็นปัญหาวนไม่รู้จบ การแก้ปัญหาแต่ละครั้งทรัพย์สินทั้งของรัฐและประชาชนหายไปกับน้ำเป็นมูลค่ามหาศาล แต่ละปีต้องใช้งบประมาณจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุในลักษณะเยียวยา ควรจะมีการวางแผนการจัดการน้ำระดับชาติช่วงน้ำมากนอกจากไปทำลายพื้นที่เศรษฐกิจชาวบ้านเดือดร้อนยังปล่อยมวลน้ำที่มีค่าออกสู่ทะเล หากเป็นภาคอีสานแม่น้ำสายหลัก เช่น แม่น้ำชี, แม่น้ำมูล, แม่น้ำสงคราม ล้วนไหลลงแม่น้ำโขงกลายเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ไทยมีสิทธิน้อยนิดที่จะได้ใช้ประโยชน์ควรจะมีโครงการผันน้ำแม่โขงเข้ามาใช้ประโยชน์ ขณะที่ภาคกลางรับน้ำจากภาคเหนือมีเขื่อนภูมิพลจังหวัดตากเป็นเขื่อนหลักใช้ประโยชน์ทั้งกักเก็บน้ำและพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ป้องกันปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำป่าสักและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาหากไม่ได้พระบารมีนายหลวงรัชกาลที่เก้าคงไม่ได้เกิด

คงต้องกลับมาทบทวนการแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำมากที่เป็นปัญหาโลกแตกของชาติจะต้องเป็นวาระแห่งชาติวางแผนให้ชัดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น จะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำยมที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่เพื่อกักเก็บน้ำไว้เพื่อประโยชน์ด้านการเกษตรในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน คิดมานานแล้วไม่ได้สร้างปล่อยให้น้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยและอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกมาช้านาน หลังจบอุทกภัยรอบนี้ลองเชิญพวกที่คัดค้านการสร้างเขื่อนมาเจรจาว่าช่วงน้ำท่วมหรือบางปีฝนไม่ตกพื้นที่เกษตรเสียหายเหมือนกัน ชาวบ้านเกือบแสนครัวเรือนเด็ดร้อนพวกเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ตรงนี้ต้องขอโทษกลุ่มเห็นต่าง “ผู้เขียน” อาจเป็นคนไม่ใช่มองโลกสวยแต่มองโลกที่เป็นความจริงว่าชาวบ้านเดือดร้อนกันมานานแล้ว

บาดแผลที่ตามมาหลังน้ำท่วมคือคนยิ่งจนลงถึงแม้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นการผ่อนปรนยืดหนี้หรือให้กู้ดอกเบี้ยถูกๆ แต่ก็เป็นการสร้างหนี้ครัวเรือนที่มากอยู่แล้วให้มากขึ้นกลายเป็นคนจนไม่รู้จบเพราะอุทกภัยแต่ละครั้งทำให้คนยากจนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะเกษตรกร อย่าให้น้ำท่วมเป็นประเด็นการเมือง แข่งขันประลองกำลังสร้างเครดิตให้ตัวเองหรือดิสเครดิตการเมืองฝ่ายตรงข้าม อุทกภัยครั้งนี้ซึ่งยังเร็วไปที่จะประเมินพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบและประเมินความเสียหายจะเป็นการซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วให้แย่กว่าเดิม....เหนื่อยครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat