posttoday

นายจ้าง-ลูกจ้างต้องร่วมกันก้าวผ่าน...การเปลี่ยนแปลงหลังยุคโควิด-19

04 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

บทความนี้มีเจตจำนงให้มองข้ามช็อตพ้นจากน้ำท่วมและการเข้าถึงวัคซีนเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวผ่านไปสู่เศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มเบาบางซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงกลางปีหน้า การมองทะลุอนาคตเป็นปัจจัยสำคัญของความอยู่รอดทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างต้องไม่ติดอยู่กับอดีตด้วยการเดินหน้าต่อไปไม่ใช่รอให้โควิดหายไปหรือท้อแท้ไม่ลุกขึ้นรอขอแต่เงินเยียวยาคงไปไม่รอด การก้าวผ่านวิกฤตโควิดที่ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ซึ่งเหลือเวลา 2 เดือนเศษก็จะเข้าสู่ปีพ.ศ.2565 ถึงแม้ยังมีความไม่แน่นอนจากการติดเชื้อรายวันยังน่ากังวล

ด้านเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณทางบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปัจจัยสำคัญมาจาก จำนวนประชากรเข้าถึงวัคซีนเข็ม 2 ในปลายไตรมาส 4 จะมีสัดส่วนร้อยละ70 รวมถึงการคลายล็อกเปิดธุรกิจ-ขยายเวลาเคอร์ฟิวและเปิดประเทศตลอดจนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเป็นนัยโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, จีนและประเทศที่พัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ดีธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทยปรับลดการขยายตัวปีนี้ลดจากร้อยละ2.2 เหลือร้อยละ1.0  ขณะที่แบงค์ชาติคาดว่าขยายตัวร้อยละ 0.7 และปีหน้าอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.7-4.0 เป็นอัตราการขยายตัวต่ำอยู่ในระดับท้ายๆ ของเอเชีย การฟื้นตัวให้เหมือนก่อนโควิด-19 ระบาดอาจต้องใช้เวลา 3 ปีเชื่อไม่เชื่อแล้วแต่จะคิด

ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยถึงแม้จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแต่ยังมีความเปราะบางและทิ้งบาดแผล “Pain Point” ไว้มากมายหลายธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้ ส่วนธุรกิจที่ยังคงเดินหน้าเส้นทางอาจไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งมาพร้อมกับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนายจ้างและมนุษย์เงินเดือนไม่ว่าจะเป็นแรงงานหนุ่ม-สาวหรือแรงงานที่ผมเริ่มสีเทาจะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้ จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดสร้าง “New Mindset” ให้สอดคล้องเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่รุนแรงและคาดเดาไม่ได้

แม้แต่มนุษย์เงินเดือนก็เผชิญกับการแข่งขันกับเด็กรุ่นใหม่ที่ต้นทุนถูกกว่า-สมาร์ทกว่าและเฟรชกว่า บริบทใหม่ของธุรกิจภายใต้ “New Land Scape” ที่ภูมิการแข่งขันจะไม่เหมือนเดิมความต้องการของลูกค้าจะต่างไปจากเดิมเนื่องจากลูกค้าแต่ละรายเผชิญกับการแข่งขันทั้งด้านต้นทุนและความรวดเร็ว ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลจะค่อยเลื่อนหายไป ผู้ประกอบการหากต้องการอยู่ในซัพพลายเชนของลูกค้าก็ต้องปรับเปลี่ยนยกเครื่ององค์กรให้มีศักยภาพ หากเป็นลูกจ้างก็ต้องปรับตัวเองให้คุ้มกับเงินค่าจ้างที่จะทำไม่ให้ถูกออกจากงาน   

ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SME หากต้องการจะมีที่ยืนอยู่ในโลกใหม่หลังยุคโควิดจะต้องมีการรีเซตองค์กรครั้งใหญ่ (The Great Business Reset)  ด้วยการปรับรูปแบบธุรกรรมของธุรกิจให้สามารถเชื่อมต่อบนแพลตฟอร์มซัพพลายของลูกค้าได้อย่างลงตัว เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลในการเชื่อมต่อข้อมูลกับลูกค้าและธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในโซ่อุปทานได้อย่างไร้รอยต่อ ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตหรือภาคบริการจะต้องเพิ่มขีดจำกัดแบบ “ทะลุเพดาน” ให้มีภูมิคุ้มกันสามารถแข่งขันได้ทุกสภาวะ หลังผ่านยุควิกฤตโควิด-19 จะเห็นการเร่งตัวทั้งจากผู้บริโภคและลูกค้าในการทำธุรกิจที่เชื่อมต่อข้อมูลแบบออนไลน์ จำเป็นที่องค์กรจะต้องปรับใช้นำเทคโนโลยีก้าวหน้าที่เหมาะสมประยุกต์ใช้ในองค์กรโดยต้องมี “พิมพ์เขียว” เพื่อขับเคลื่อนองคาพยพยกระดับไปสู่ “Digital Business Transformation” ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ  

กุญแจแห่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับนายจ้างและลูกจ้างจะต้องร่วมมือกันฝ่าฟันให้ธุรกิจอยู่รอดและยังมีเงินเดือนมาเลี้ยงครอบครัว จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวางแผนด้วยการสร้างยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากลูกค้า ตลอดจนการมีโรดแมปที่ชัดเจนในการปรับลดกระบวนการและขั้นตอนที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพของปฏิบัติการในหน่วยงานต่างๆ ในองค์กร จะต้องมุ่งเน้นเชิงรุกพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันในรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและรองรับความต้องการของลูกค้าซึ่งไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งต้องมีการทบทวน “Product Review” เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นตัวสินค้าและ/หรือการให้บริการที่เคยเป็นจุดแข็งสร้างรายได้และกำไรอาจไม่คงอยู่ แม้แต่มนุษย์เงินเดือนไม่อาจที่จะนำผลงานในอดีตมาเป็นบุญเก่าส่งเสริมความมั่นคงอาชีพการงานในอนาคตได้อีกต่อไป

ทางเดินของธุรกิจภายใต้ยุค “New Normal” ไม่สามารถคิดแบบเดิมหรือทำงานแบบเดิมๆหากปรับตัวไม่ได้อาจจะไม่มีที่ยืนทั้งตัวพนักงานและองค์กรก็อยู่ไม่ได้ จำเป็นที่ผู้บริหารตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่างจะต้องมีวิสัยทัศน์เห็นการเปลี่ยแปลงใน2-3 ปีข้างหน้า การจ้างงานในอนาคตจะไม่มีแต้มต่อหลายองค์กรเริ่มเห็นคนอายุ 50 ปีถูกออกจากงาน ที่พึงสังวรณ์แม้ตัวเองจะอายุมากไปตามกาลเวลาแต่ความคิด-ผลิตภาพงานและผลงานต้องไม่แก่ไปตามวัย สำหรับองค์กรก็ไม่มีแต้มต่อว่าจะเป็น SME หรือรายย่อยเป็นยุคธุรกิจใหญ่กินรวบ การเอื้ออาทรเป็นสโลแกนชวนเชื่อ “CSR” อยู่ในโฆษณาประชาสัมพันธ์ ความอยู่รอดภายใต้บริบทเศรษฐกิจดิจิทัลองค์กรธุรกิจจะต้องธำรงความเป็นหนุ่ม-เป็นสาวสามารถแข่งขันภายใต้บริบทใหม่เกี่ยวข้องกับการปรับรูปแบบการจัดการให้ทันยุคทันสมัย

ผู้บริหารที่จะประสบความสำเร็จต้องไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญด้วยการนำคนเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนองค์กร เกี่ยวข้องกับความสามารถในการผสมผสานใช้คนรุ่นใหม่ที่สมาร์ท-คิดนอกกรอบแต่อาจอยู่ไม่ทนให้สามารถทำงานคู่ขนานกับคนรุ่นเก่าที่อยู่ในกรอบและมีความภักดีต่อองค์กร ประเด็นคือจะจัดการความสมดุลระหว่างคน 2 ยุคนี้ได้อย่างไร การทำธุรกิจแบบเดิมในสมรภูมิเดิมไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปการปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จให้ทั้งคนและองค์กรสามารถก้าวผ่านได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน