posttoday

มีคุณค่ากับผู้คนรอบตัว

01 ตุลาคม 2564

คอลัมน์ Great Talk

ตายแล้วไปไหนครับ อาจารย์

จาก ลูกศิษย์ ม.กรุงเทพ

ไปที่ชอบที่ชอบครับ เพราะถ้าไม่ชอบก็คงกลับมาเอง 55 ผมเคยถามคำถามแบบนี้กับผู้ใหญ่ท่านนึงตอนสมัยผมเป็นนักศึกษาแบบเดียวกับเรานี่แหล่ะครับสุดแล้วท่านก็ตอบแบบนี้ครับ

พอผมถามต่อว่า “แล้วที่ชอบคือที่ไหนครับ” "ที่ชอบก็แล้วแต่ว่าคนตายจะชอบที่ไหน ชอบที่ไหนมากก็ไปที่นั้นตอนตาย”

เรื่องราวสนทนานี้ผมไม่ได้สรุปความหมายของ สถานที่ของผู้ตายแต่อย่างใดเพราะสิ่งสำคัญคือ “ความเชื่อ”ครับ

ความเชื่อมีหลากหลายและแบ่งตามภูมิประเทศและท้องถิ่นด้วยนะครับไม่ใช่แบ่งแค่ตามศาสนาเพียงอย่างเดียว เพราะศาสนาก็ถูกหยิบยกมาจากความเชื่อแตกต่างกันไป

เช่น ชาวญี่ปุ่นโบราณและลัทธิเต๋า เชื่อว่าผู้ที่ตายแล้วจะไปสู่โลกเบื้องล่าง ชื่อว่า “โยมิ” ผ่านทางลาดที่เชื่อต่อกับโลก ชื่อ “โยมิซึฮิราซากะ” ทำให้คนสมัยก่อนเวลานึกถึงคนตายจะก้มมองผืนดิน ต่างกับปัจจุบันที่แหงนมองขึ้นท้องฟ้า

ส่วนชาวไอนุ(ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยบนเกาะฮอกไกโด) มีความเชื่อว่า โลกเบื้องล่างคือโลกคู่ขนานที่แม้เราตายไปแล้วเราก็จะไปอาศัยอยู่ที่นั้นเพียงแต่ว่าทุกอย่างจะสลับกันเช่น หากโลกความจริงเป็นฤดูร้อน โลกเบื้องล่างจะเป็นฤดูหนาว

เพราะฉะนั้นหากมีคนตายในฤดูร้อน ความเชื่อของชาวไอนุจะทำการแต่งตัวให้กับผู้ตายด้วยชุดกันหนาวเป็นต้นครับ

มาดูศาสนาพุทธกันบ้าง ร่างกายของเรามีชีวิตนี้ เกิดด้วยธาตุทั้งสี่ คือ ดิน(กระดูกและเล็บ) น้ำ(เลือดและน้ำเหลือง) ลม(การไหลเคลื่อนภายในกาย หัวใจ มือและเท้า) ไฟ (อุณหภมิในร่างกาย) เมื่อเราตายไปธาตุทั้งสี่จะแยกจากกันและผู้คนนั้นก็จะไปเกิดยังภพภูมิต่างๆ ตามกรรมดีและกรรมไม่ดีที่เขาทำไว้ ยกเว้นอริยบุคคลที่จะมีระดับขั้นในการเกิดและไปสู่นิพพาน(Nervana)

ยกตัวอย่างแค่ไม่กี่ความเชื่อทางศาสนาเราจะเห็นว่า ต่างสถานที่ต่างเหตุการณ์ก็ต่างความเชื่อกันไปแต่หากถามความเห็นส่วนตัว ผมมีความเชื่อว่า การตายไม่สำคัญอยู่ที่ว่าตอนเรามีชีวิตอยู่เราทำประโยชน์ต่อโลกอย่างไร

โดยส่วนตัวผมชอบไปงานศพ มากกว่างานรื่นเริงทุกประเภทสาเหตุเพราะว่า งานศพจะทำให้เราเห็นความจริงของบุคคลนั้นว่าทำคุณประโยชน์ต่อโลกไว้มากมายแค่ไหน

งานศพบางงานผู้คนมามากมายแต่มาพูดคุยพบปะสังสรรค์กันเหมือนงานเลี้ยงรุ่น หัวข้อสนทนา “เป็นไงบ้างวะไม่เจอกันนาน” งานศพบางงานผู้คนมากมายล้วนพูดคุยกันถึงความดีที่ผู้เสียชีวิตได้เคยทำให้กับผู้คนรอบตัว

หัวข้อสนทนา “ท่าน(ผู้เสียชีวิต) เคยให้โอกาสกับผมในเรื่องการเรียนหนังสือทำให้ผมได้มีวันนี้ ต่างวาระ ต่างหัวข้อ มางานเดียวกัน

อย่างล่าสุดผมได้มีโอกาสได้ไปงานของ “คุณพ่อ" ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมเคารพ ผมได้ฟังเรื่องราวของท่านกับคุณพ่อท่าน ผมซาบซึ้งใจอย่างมาก ผู้ใหญ่ท่านนี้ท่านต้องทำงานและดูแลคุณพ่อไปด้วยตลอดเวลาหลายปี

ประชุมออนไลน์กับที่ทำงานในขณะเดียวกัน ท่านต้องดูแลคุณพ่อของท่านไปด้วยระหว่างประชุม

“โต๊ะทำงานแทบจะอยู่บนเตียงคุณพ่อ” เพราะต้องดูแลไม่ห่าง

ทำงานเสร็จขับรถไปดูแลคุณพ่อที่ต่างจังหวัด เทียวไปกลับอย่างนี้หลายต่อหลายปี เลือกสละเวลาส่วนตัวเหลือเพียงเวลาเพื่อคุณพ่อของท่านอย่างเต็มที่

นี่คือความกตัญญูอย่างหาที่สุดไม่ได้

ตายแล้วไปไหนไม่สำคัญเพราะหากเรามีคุณค่าพอกับผู้คนรอบตัว สิ่งนั้นจะกลายเป็นความทรงจำของเขาที่มาบอกเล่าเรื่องราวของเราเอง

“จงมีลมหายใจเพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น ที่เหลือปล่อยให้คืนกลับธรรมชาติเถอะครับ”