posttoday

สภาวะเศรษฐกิจ-ตลาดแรงงาน...หลังแนวโน้มยกเลิกพรก.ฉุกเฉิก

13 กันยายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

แนวโน้มการไม่ขยายต่อพรก.ฉุกเฉินที่ใช้มาเกือบ 2 ปีเพื่อให้สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศซึ่งตั้งเป้า  ดีเดย์วันที่ 1 ตุลาคม จะถึงขั้นยกเลิกพรก.หรือเพียงไม่ขยายต่อเวลา แต่อย่างน้อยเป็นการปลดล็อกเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนคู่ขนานไปกับการคุมเข้มด้านสาธารณสุข มาตรการคุมเข้มแบบเต็มร้อยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านอกจากไม่สามารถควบคุมทำให้การแพร่ระบาดลดลงแต่กลับสูงขึ้นทั้งคนติดเชื้อและคนเสียชีวิตจำนวนมาก ด้านเศรษฐกิจจากข้อมูลของธนาคารโลกในช่วงเกือบ 2 ปี ที่ผ่านมาระบุว่าเศรษฐกิจที่ทรุดตัวแรงทำให้คนไทยยากจนเพิ่มมากขึ้นกว่า 1.5 ล้านคน ประเด็นคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการเดินหน้าเศรษฐกิจกับการจำกัดและลดจำนวนคนติดเชื้อเป็นความท้าทาย

กระแสยกเลิกพรก.ฉุกเฉินนัยว่า “ศบค.ชุดใหญ่” มีการประชุมในวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนต้องส่งบทความก่อนประชุมเสร็จจึงไม่ทราบว่ามติจะเป็นอย่างไร ดูเหมือนว่าทางปลัดสาธารณสุขยัง “กั๊ก” ว่าอาจต้องมีกฎหมายใหม่ออกมารองรับก่อนเพราะพรบ.โรคติดต่อที่มีอยู่เนื้อหาไม่เพียงพอที่จะรับมือและดูเหมือนว่ายังกังวลต่อจำนวนคนติดเชื้อที่ยังสูง อันที่จริงการยกเลิกพรก.ฉุกเฉินหากยังไม่พร้อมก็ไม่ควรขยายต่อระยะเวลาซึ่งจะสิ้นสุดปลายเดือนกันยายน การปลดล็อกประเทศจะต้องไม่ละเลยมาตรการสาธารณสุขโดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพให้ครบโดสและการเข้าถึงการตรวจ “ATK” ของประชาชนแบบถ้วนหน้ารวมถึงมาตรการคุ้มเข้มในสถานประกอบการและโรงงานต่างๆ (Covid Free Setting) 

ด้านการตอบสนองทางเศรษฐกิจจะทำให้ผู้คนสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันทำให้พลวัตรของอุปสงค์การจับจ่ายใช้สอยกลับมาขับเคลื่อน เห็นได้จากช่วงคลายล็อกก่อนหน้านี้ที่ห้างสรรพสินค้า-ร้านค้าปลีกทั้งเล็กและใหญ่มีผู้คนจำนวนมากเข้าไปจับจ่ายใช้สอย อีกทั้งร้านอาหารและสถานบริการต่างๆ กลับมาคึกคักถึงแม้อาจเปิดได้เพียงครึ่งหนึ่งกว่าปกติก็เป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัว การจับจ่ายใช้สอยจะทำให้เกิดการผลิตสินค้าเข้ามาเติมเต็มและทำให้การเพิ่มขึ้นของการใช้อัตราเดินเครื่องจักร (CPU) ปรับตัวสูงขึ้น สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 35.4 สูงสุดในช่วง 7 เดือน ขณะเดียวกันการนำเข้าวัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ มีการขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 51.5 ทำให้การจ้างงานเริ่มกลับมา

เพื่อให้เห็นภาพของตลาดแรงงานก่อนที่จะมีการยกเลิกพรก.ฉุกเฉินหรือเปิดประเทศ จากข้อมูลสภาวะแรงงานเดือนกรกฎาคม มีสถานประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคลรวมกัน 789,851 กิจการโดยร้อยละ 54 อยู่ในกทม.และปริมณฑลอีกร้อยละ 9.38 อยู่ในพื้นที่ EEC  มีโรงงานอุตสาหกรรมถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 141,127 กิจการ ผู้มีงานทำในภาคเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบประมาณ 24.283 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานอยู่ในภาค SME ประมาณ 12.71 ล้านคนส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ จำนวนคนว่างงานข้อมูลทางการระบุประมาณ 7.3 แสนคนตัวเลขที่น่าสนใจคือแรงงานที่ทำงานไม่เกิน 1-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือเรียกว่าผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนสูงถึง 3.53 ล้านคน แรงงานเหล่านี้เป็นผู้ว่างงานแฝงอยู่ในตลาดแรงงานในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 21 เป็นคนที่ทำงานในหนึ่งสัปดาห์น้อยกว่า 1 ชั่วโมงคือสภาพไม่ต่างจากคนว่างงาน

ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางการจ้างงานของประเทศซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการจ้างงานจริงยังไม่กลับมา ข้อมูลเชิงประจักษ์สะท้อนจากแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เดือนกรกฎาคมมีจำนวน 11.127 ล้านคน เปรียบเทียบในช่วงมกราคมถึงกรกฎาคม 2564 มีการจ้างงานรวมกันเพียง 71,720 คนหรือเฉลี่ยเพียงเดือนละหมื่นเศษต่างจากข้อมูลรัฐที่ระบุว่ามีการจ้างงานเป็นหลักแสนหลักล้าน ขณะเดียวกันข้อมูลในเดือนดังกล่าวเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดระบาดพบว่าแรงงานในระบบประกันสังคมลดลงถึง 607,118 คนหรือหายไปคิดเป็นร้อยละ 5.14  ข้อมูลที่น่าสนใจเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจำนวนแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 สูงสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปีเป็นสัญญาณว่าตลาดแรงงานค่อยๆ ฟื้นตัวแต่ยังมีความอ่อนไหว

ประเด็นที่พยายามนำเสนอคือการยกเลิกพรก.ฉุกเฉินซึ่งถือเป็นการปลดล็อกเปิดประเทศโดยปริยายถือว่ามาถูกทางแล้ว ถึงจะเสี่ยงกับการเพิ่มขึ้นของการแพร่ระบาดก็ต้องมีมาตรการคุมเข้มด้านสาธารณสุขคู่กันไป เพราะลำพังเศรษฐกิจจะอาศัยแค่เชคเตอร์ส่งออกมีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีประมาณร้อยละ 51 ถึงแม้จะขยายตัวได้ดีก็ไม่พอดันเศรษฐกิจ อีกทั้งภาคส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อย่างรุนแรงทำให้ค่าระวางเรือหรือ “Freight Charge” พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น เส้นทางไปท่าเรือหลักสหรัฐต้องเสียค่า Peak Season และ Premium Rate เพิ่มต่างหากอีก 7,850.- เหรียญสหรัฐต่อตู้/TEU. ไว้มีโอกาสผมจะมาบอกเล่าให้ฟัง

การผลักดันเศรษฐกิจให้ฟื้นอย่างยั่งยืนจะต้องผลักดันให้การบริโภคของประชาชนฟื้นเพราะภาคการค้าและบริการมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งอยู่ในจีดีพีเกี่ยวข้องกับแรงงานจำนวนมากประมาณ 15.5 ล้านคน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมภาคท่องเที่ยวในปีปกติมีสัดส่วนอยู่ในจีดีพีประมาณร้อยละ 17.75 เกี่ยวข้องกับแรงงานทางตรงทางอ้อมประมาณ 2.94 ล้านคนคาดว่าไตรมาส 4 หากไม่มีอุบัติเหตุต้องกลับมาล็อกดาวน์ภาคใหม่ จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศค่อยๆ ฟื้นแต่ทัวร์ต่างชาติปีหน้าจะได้ของ 1 ใน 3 ของที่เคยมาจะได้หรือไม่คงต้องลุ้นการปลดล็อกเศรษฐกิจด้วยการยกเลิกพรก.ฉุกเฉินหรือไม่ต่อขยายระยะเวลา เป็นแนวทางที่ถูกต้องจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการทำมาหากินเกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้าน....ยกเลิกแล้วอย่าไปออกกฎหมายอะไรที่หนักกว่าเดิมนะครับ

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat