posttoday

อภิปรายไม่ไว้วางใจ....พรรครัฐบาลมีรอยร้าวอาจเห็นการเปลี่ยนแปลง

06 กันยายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และอีก 5 รัฐมนตรีผ่านไปแล้วในรัฐสภาคงคว่ำนายกฯ ไม่ได้ ปรากฏการณ์ที่เห็นพรรครัฐบาลมีรอยร้าวแบ่งขั้วเล่นกันแรงกะจะคว่ำนายกรัฐมนตรี ภายใต้การเมืองแบบรัฐสภาที่ให้น้ำหนักจำนวนมือของส.ส.สำคัญกว่าผลงานคงยกมือผ่าน เป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัยโอกาสเห็นรัฐบาลคว่ำกลางสภาเพราะแพ้โหวตมีให้เห็นน้อยมากเนื่องจากจะตั้งรัฐบาลได้ต้องรวบรวมพรรคการเมืองต่างๆ แม้แต่ในพรรคเองยังแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก๊วนต้องแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีและผลประโยชน์ให้ลงตัวเพื่อที่จะได้จำนวนส.ส.อย่างน้อยเกินครึ่งหนึ่งมาหนุนให้อยู่นานๆ จะโทษใครไม่ได้เพราะเราๆ ท่านๆ ล้วนเป็นคนเลือกเข้ามาโดยไม่ได้ดูความสามารถหรือคนไม่โกง ส่วนใหญ่เลือกเพราะชอบหรือมีการซื้อเสียง พอเข้าสภาก็ต้องถอนทุนเพื่อแลกกับ “กล้วย” คนที่ให้กล้วยใครเขาจะให้ฟรีๆ ก็ต้องไปถอนทุนบวกกำไรอีกหลายเท่า

นักปรัชญาการเมือง “เพลโต้” พูดไว้เมื่อเกือบสองพันห้าร้อยปีว่า “การเมืองคือการแข่งขัน-ช่วงชิง-แบ่งปันอำนาจเพื่อการปกครองรัฐ เมื่อได้อำนาจรัฐก็ต้องมีการจัดสรรผลประโยชน์กับกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นฐานรักษาอำนาจพออยู่ไปนานๆ ติดกับดักอำนาจต้องการอยู่ยาวไม่รู้จักพอ” คนดีๆ หลายคนเสียคนเพราะติดกับดักไม่รู้จักพอจากที่เคยเป็น “ฮีโร” กลายเป็น “ทรราช” จนต้องถูกขับไล่ก็ประจักษ์เห็นกันอยู่

ขณะเดียวกันพรรคการเมืองหรือคนที่ตกขบวนกลายเป็นฝ่ายค้านก็จ้องที่จะใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อที่จะเข้าไปมีอำนาจ จนถึงปัจจุบันสิ่งที่ “เพลโต้” กล่าวไว้ก็ยังคงอยู่ที่ผ่านมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจน้อยมากที่รัฐบาลจะแพ้โหวตในสภาเว้นเสียแต่เกิดจาก “สนิมภายใน” คือ ส.ส.ในพรรคตัวเองหรือพรรคร่วมไม่เอานายกฯ ให้อยู่ต่อเกี่ยวข้องกับการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ไม่ลงตัว

พรรณนาเสียยาวเพื่อให้เห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองแท้ๆ ตรรกะคงไม่ต่างจากที่กล่าว ช่วงเริ่มต้นฝ่ายค้านโหมโรงว่ามีข้อมูลเด็ดแต่เอาเข้าจริงไม่เห็นมีน้ำหนัก ส.ส.ยังใช้สำบัด-สำนวนหรือถากถางเนื้อหาไม่แน่น ข้อมูลไม่มีอะไรใหม่ส่วนใหญ่นำมาจากสื่อหรือโซเซียลมีเดีย เอกสารที่นำมาโชว์ เช่น กรณีกล่าวหาว่ากองทัพสั่งการให้มีการแทรกแซงแก้ข่าวหรือที่เรียกว่า “IO”  แทนที่จะเป็นหมัดน็อกกลับถูกตอกกลับว่าเป็น “เอกสารเก๊” ถูกแจ้งความกลับบ่งบอกว่าทำการบ้านไม่ดี ด้านซีกรัฐบาลแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ คอยขัดจังหวะตีรวนแม้แต่บิ๊กตู่ยังชี้แจงแบบเดิมๆ ใช้อารมณ์ใครอัดมาก็อัดตอบจนลืมไปว่าท่านเป็นหลักของประเทศ

ขณะที่รัฐมนตรีบางท่านชี้แจงไม่เคลียร์หรือตะกุกตะกักไม่น่าเชื่อถือ ฝ่ายค้านโหมโรงเรียกเรทติ้งเล่นงานจุดอ่อนประเด็นจัดซื้อวัคซีนที่ยังมีข้อกังขาและความล้มเหลวแก้ปัญหาโควิดผู้ติดเชื้อสะสมมากถึง 1.23 ล้านคน ผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นคนตลอดจนระบบสาธารณสุขล้มเหลวซึ่งควรจะเป็นหมัดน็อก แต่ข้อมูลไม่หนักพอที่จะคว่ำรัฐบาล  ส.ส.ส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์อภิปรายวกวนเสียดสีใช้คำหยาบ

ขณะที่ซีกรัฐบาลยังใช้กลยุทธ์เดิมๆ มีส.ส.องครักษ์พิทักษ์ท่านผู้นำออกมาขัดจังหวะการเมืองไทยผ่านมา 8 ทศวรรษยังวนอยู่ในอ่างไม่ไปไหน ข้อสังเกตุการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ ช่วงหลังๆ ไม่มีดาวสภาเด่นๆ ที่ลีลา-คารมจัดเรียกคนดูแต่มีส.ส.คลื่นลูกใหม่หลายคนมีความรู้ทำการบ้านมาดีสู้กันที่เนื้อหาและข้อมูลตรงนี้ต้องชม  

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมาแทนที่เป็นพรรคฝ่ายค้านจะโหวตคว่ำรัฐบาลกลับเป็นคนภายในพรรค “พปชร.”  แกนนำที่คุมส.ส.จำนวนมากเปิดหน้าแบ่งขั้วมีข่าวล็อบบี้ส.ส.พรรครัฐบาลให้โหวตสวนไม่หนุนบิ๊กตู่และรัฐมนตรีบางคนที่อ้างว่าไม่มีผลงาน ประเด็นล็อบบี้ล้มนายกฯ ถึงขั้นเปิดหน้าชนกัน ข้อมูลเหล่านี้ผู้เขียนได้มาจากสื่อผิดถูกไม่ทราบที่แน่ๆ คงไม่ใช่แค่ปล่อยข่าวแบบไม่มีมูลเพราะขนาดระดับ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เบรกแตกประกาศชัดไม่ยุบ-ไม่ปรับครม.-ไม่ลาออก พร้อมทั้งกล่าวว่าได้เคลียร์กับบิ๊กป้อมว่าโอเคไม่มีอะไร รายละเอียดเหล่านี้ขอไม่กล่าวคงรับรู้จากสื่อต่างๆ มาก่อนแล้ว

ผมเขียนและส่งบทความนี้ช่วงระหว่างการอภิปรายในรัฐสภายังไม่จบไม่ทราบว่าผลลงมติจะเป็นอย่างไรแต่คาดว่าบิ๊กๆ ในพรรครัฐบาลคงเคลียร์กันจบ ต้องทำใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยวัด   ด้วยจำนวนมือของส.ส.ที่จะยกหนุนแต่สมัยนี้เปลี่ยนเป็นกดถึงขั้นกดแทนกันจนเป็นปัญหาก็มี กระแสข่าวว่า “กล้วยขายดี” ภายใต้สถานการณ์ไม่เอื้อคงไม่สามารถคว่ำนายกฯ ลงจากเก้าอี้ การเปิดหน้าของแกนนำรวมถึงบิ๊กตู่ที่ออกมาพูดแรงๆ คงไม่จบง่ายๆ แสดงให้เห็นถึงแรงกระเพื่อมและรอยปริใน “พปชร.” ที่ยากจะประสาน ที่ผ่านมาเป็นการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันแต่เหมือนกันตรงช่วงนั้นเห็น     พลเอกประยุทธ์ฯ มาแรงน่าจะเป็นจุดขายเป็นการรวมตัวกันแบบหลวมๆ วันนี้จุดขายอาจใกล้ “Expired” จึงไม่ต้องเกรงใจ

อย่างที่เกริ่นมาแต่ต้นว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์มีการช่วงชิงอำนาจซึ่งหมายถึงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อเก้าอี้มีไม่พอหรือกระทรวงเกรดเอมีไม่พอแบ่งต่างมีการประนีประนอมแบ่งปันกันอย่างลงตัว หลังอภิปรายไม่มีฝ่ายใดต้องการแตกหักเพราะช่วงนี้ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านไม่พร้อมไม่มีใครเสี่ยงอยากเลือกตั้งใหม่ซึ่งผลที่ออกมาคาดเดายาก อีกทั้งประชาชนเบื่ออาจเทไปเลือกพรรคที่จัดตั้งใหม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า การันตีได้ว่าอย่างไรก็ต้องมีการเช็คบิลหรือกลืนน้ำลายตัวเองรอมชอมปรับครม.ทู่ซี้ทนอยู่ด้วยกันเพื่อความอยู่รอด เรียกให้ดูดีว่า “เสถียรภาพรัฐบาล”

อำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ครม., ส.ส., วุฒิสมาชิกรวมถึงตำแหน่งการเมืองต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนไปถึงระดับประเทศเกี่ยวข้องกับอำนาจเป็นที่มาของผลประโยชน์

ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อได้มาแล้วอยากอยู่ยาวกลายเป็นเสพติดอำนาจ เมื่อช่วงชิงไม่ได้จะเห็นการแบ่งปันอำนาจจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีใหม่จนลงตัวเพื่อให้อยู่นาน เป็นวิถีของนักการเมืองประชาชนมีหน้าที่แค่กาบัตรเลือกตั้งหลังจากนั้นเป็นได้เพียงคนดู.....ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้ว่าใครอยู่ในหนังสือ “Republic” เขียนโดยเพลโต้เป็นตำรารัฐศาสตร์ไปอ่านเอาเองครับ      

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat