posttoday

Empathy และพรหมวิหาร4: ความเหมือนจากสองฝั่งโลก

01 สิงหาคม 2564

โดย ดิลก ถือกล้า

ความตึงเครียดของโลกจากการเกิดปัญหาจากโรคโควิทที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก สร้างความท้าทายในการรับมือ การแก้ปัญหา การบริหารจัดการทั้งระดับการบริหารองค์กรและระดับการบริหารประเทศ ความตึงเครียดที่ได้เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม ทำให้ความสัมพันธ์ระดับบุคคลต่อบุคคลได้ขาดหายสิ่งที่ทางโลกตะวันตกเรียกว่า Empathy หรือการเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้งปรากฎให้เห็นทั้งในโลกจริงและในโลกเสมือนจริงที่เราจะสัมผัสได้ทุกๆวัน

Empathy คืออะไร ทำไมจำเป็นในการอยู่ร่วมกันทั้งชีวิตและการทำงาน

Empathy คือ การเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง เป็นคุณลักษณะที่จะถูกกำหนดไว้สำหรับการพัฒนาภาวะผู้นำ การพัฒนาตนเองของทางฟากฝั่งตะวันตก ซึ่งได้มีการให้นิยามไว้หลายอย่างที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่ผมชอบมากเพราะเขาได้ให้ความหมายได้ชัดเจน ครบถ้วน คือ นิยามของ verywellmind ที่บอกว่า

“Empathy คือ ความสามารถของเราในการใช้ความรู้สึกเข้าใจถึงสิ่งที่บุคคลอื่นรู้สึก มองเห็นด้วยสายตาที่คนอื่นมองเห็น และจินตนาการตัวเราเองได้ในสถานการณ์ที่คนอื่นกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสามารถวางตัวเราเองไปอยู่ในจุดที่บุคคลอื่นอยู่และรับรู้ได้ว่าบุคคลนั้นจะต้องรู้สึกอย่างไร”

ต่อคำถามว่า ทำไมแนวคิดการพัฒนาตนเองหรือการพัฒนาภาวะผู้นำทางฝั่งตะวันตกจึงต้องมี Empathy เพราะการมี Empathy จะทำให้คนๆหนึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงบุคคลหนึ่ง และด้วยการเชื่อมโยงด้วยความเข้าใจว่า ผู้อื่นคิดและรู้สึกอย่างไร คนๆนั้นจะสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะตามสถานการณ์ทางสังคม และในทางกลับกัน Empathy จะช่วยให้เราจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยเราในการบริหารภาวะความรู้สึกของเราแม้ในสถานการณ์ที่กดดัน

อะไรที่ทำให้คนขาด Empathy

ในทางตะวันตกเขามองว่า การที่คนส่วนใหญ่ขาด Empathy ด้วยสาเหตุหลักๆคือ

  • มองโลกด้วยอคติ - มีความอคติอยู่ในใจ เช่น เวลาเจอความล้มเหลวของคนอื่น จะคิดว่าเป็นเพราะเขาไม่มีความสามารถ แต่ถ้าเป็นความล้มเหลวของตัวเอง จะโทษสภาพแวดล้อม
  • ไม่มองคนอื่นเป็นมนุษย์แบบเดียวกับตนเอง - เป็นการมองคนอื่นเสมือนไม่ใช่เป็นมนุษย์ที่รู้สึก ที่มีความคิดเช่นกันกับตน
  • กล่าวโทษผู้เป็นเหยื่อ - เป็นการมองคนที่ถูกกระทำว่า ทำตัวไม่ดีเอง ไม่ระวังเอง เลยตกเป็นเหยื่อ

ทางฝั่งตะวันออกมี Empathy หรือไม่ อยู่ในเรื่องอะไร

หากดูนิยามของทางฝั่งตะวันตก ทางฝั่งตะวันออกเองก็มีหลักการที่คล้ายกับ Empathy นั่นคือ หลักพรหมวิหาร 4 ที่ประกอบด้วยคำสั้นๆ 4 คำคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งผมมองว่าเป็นคำสอนทางพุทธศาสนาที่มีแนวทางให้มนุษย์มี Empathy ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เพราะการมีพรหมวิหาร 4 จะไปทำลายสาเหตุของการปิดกั้นไม่ให้เราเกิด Empathy นั่นคือ

  • เมตตา -เป็นความปรารถนาที่เกิดขึ้นในจิตที่อยากให้ผู้อื่นมีความสุข แน่นอนว่า การเกิดจิตที่เมตตาเป็นการทำลายอุปสรรคในการเกิด Empathy ข้อที่เกี่ยวกับการ “มองโลกด้วยอคติ”
  • กรุณา- เป็นความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ บนพื้นฐานจิตใจอันบริสุทธิ์ อยากช่วยจริงๆโดยไม่หวังสิ่งใด ความกรุณาจะทำลายอุปสรรคการเกิด Empathy เรื่อง “การไม่มองคนอื่นเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับตน” และช่วยทำลายอุปสรรคการเกิด Empathy เรื่อง “การกล่าวโทษผู้เป็นเหยื่อ” เพราะเมื่อมีความปรารถนาที่อยากช่วยคนอื่นแล้วย่อมมองคนอื่นเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับตน และไม่มีความคิดที่จะกล่าวโทษ ตำหนิเขาแต่อย่างใด
  • มุทิตา-ความอิ่มเอิบ และยินดีในใจที่ได้เห็นผู้อื่นมีความสุข และการพ้นจากทุกข์
  • อุเบกขา - ความสงบของจิตใจด้วยการวางใจเป็นกลางต่อความสุขหรือความทุกข์ที่ตนหรือผู้อื่นได้รับ ที่ประกอบขึ้นด้วยจิตที่ปราศจากความเศร้าหมองหรือความอิจฉาริษยาต่อสิ่งนั้นๆ

โดยทั้งข้อมุทิตา อุเบกขา เป็นการรวบยอดความมี Empathy ทั้งหมด ด้วยที่สุดของ Empathy คือ การได้ช่วยเหลือ การได้รับฟัง การได้เข้าไปปรึกษา อย่างเข้าอกเข้าใจด้วยใจที่ยังเป็นกลางที่จะทำให้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ

นี่คือ ความเชื่อมโยงที่น่าสนใจของพรมวิหาร 4 ที่เป็นหลักการจากโลกตะวันออก กับ Empathy ที่เป็นแนวคิดทางตะวันตก ที่ส่งเสริมกันได้อย่างกลมกลืน

และผมเชื่อว่า ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ทำให้เกิด Empathy และพรหมวิหาร 4 ทั้งในระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับสังคม เพราะเป็นสิ่งนี้คือที่จะยังทำให้มนุษย์ยังรู้สึกตัวเองยังมีคุณค่าที่จะต่อสู่เพื่อตนเองและคนรอบข้างต่อไป

อ้างอิงข้อมูล

https://www.verywellmind.com/what-is-empathy-2795562 

https://thaihealthlife.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A34 

_______________________________________________________________________________