posttoday

“แรงขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลง”

08 กรกฎาคม 2564

คอลัมน์ Great Talk

คนคิดลบติดต่อกันได้ใช่ไหมครับ อจ. ผมเคยทำงานกับพวกที่คอย ติโน่นตินี่ ใครทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง พอฟังไปมากๆเข้า ตัวผมเองเริ่มรู้สึกขี้บ่นเหมือนเขาไปด้วย ตอนแรกก็ไม่รู้ตัวหรอกครับ พอภรรยาที่บ้านบอกถึงรู้สึกตัวเองครับ

ป้อม

บางทีผมก็เบื่อกับคนที่ทำงานที่วันๆเอาแต่นั่งนินทากัน ทำไมไม่ยอมเอาเวลาไปทำงาน

จาก เติม ครับ

สวัสดีครับประสบการณ์ที่ คุณป้อม คุณเติมพบเจอผมเรียกว่า“แรงขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลง” ครับ ความหมายคือ สิ่งใดหรือผู้คนแบบใดก็ตามสามารถมีพลังงานอะไรบางอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกหรือพฤติกรรมของผู้คนรอบตัวได้ทั้งทางลบและทางบวก ครับ

สิ่งแวดล้อมสำหรับคนทำงานมีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตเราครับ เริ่มตั้งแต่ผู้คนรอบตัวเช่น ครอบครัว พี่น้อง เพื่อนฝูง ไปจนถึงเพื่อนที่ทำงาน เพราะถ้าหากเรามีเพื่อนที่ทำงานคอยบ่น คอยบอกว่าทุกอย่างมีแต่ปัญหา อะไรก็เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ ไม่ดี นั้นย่อมทำให้เกิดปัจจัยต่างๆตามมา ครับและนี่คือผลลัพธ์ของคนที่คิดลบในที่ทำงานครับ

ดูดพลังหัวหน้างานจนเขาไม่เหลือเวลาไปทำงานและไม่เหลือเวลามาพัฒนาศักยภาพของทีมงาน ฉุดรั้งให้คุณภาพความเห็นที่คอยแลกเปลี่ยนความรู้และไอเดียต่างๆในทีมให้ต่ำลง โดยรวมแล้วทั้งไอคิวและอีคิวในทีมจึงต่ำลง กดดันให้คนอื่นหรือมีเหตุผลข้อแม้ต่างๆที่เรียกร้องให้ทีมงานหรือหัวหน้างานช่วยประคับประคอง ทำให้ลดประสิทธิภาพการทำงาน ผลักไสไล่ส่งคนดีๆคนมีความสามารถให้ออกจากทีมไปเพราะว่าคงไม่มีคนที่ทุ่มเทอยากอยู่ร่วมทีมกับคนที่ไม่ได้ใส่ใจอะไรเลย

เราเองต้องมาคอยฟังปัญหาต่างๆของคนคิดลบในที่ทำงานจนปวดหัวหากเราเป็นคนที่แคร์คนอื่นเราก็ยิ่งปวดหัวเพราะต้องการรับฟังแต่พอให้ข้อเสนอแนะไปให้แก้ไข เขาเองก็ไม่ยอมแก้ไข กลับมาปวดหัวต้องฟังปัญหาเดิมๆ

นี่คือเหตุผลเบื้องต้นในการทำงานที่แวดล้อมด้วยผู้คนที่คิดลบแต่ไม่ใช่แค่จากความเห็นของผมเองเท่านั้นนะครับ องค์กรใหญ่ๆ อย่าง Netflix ก็มีวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ต่างความคิด โดยทางบริษัทได้ทำการวิจัยกับทีมนักศึกษาฝึกงานโดยแบ่งเป็นทีมงานหลายทีม แต่ละทีมมีสี่คนแล้วมอบหมายให้แต่ละทีมทำงานให้เสร็จหนึ่งชิ้นภายใน 45 นาที ทีมไหนมีผลงานดีที่สุดจะได้รับเงินรางวัลหนึ่งร้อยดอลลาร์

แต่ที่นักศึกษาไม่รู้คือ ทาง Netflix ได้ส่งปัจจัยนอกบทเข้าไปด้วย คือกลุ่มนักแสดงที่แฝงตัวเข้าไปโดยรับบท “จอมอู้” คือเข้าไปบ่น เข้าไปบอกว่ายากเหลือเกินระหว่างทำงาน หรือบท “จอมหดหู่” พวกนี้จะเข้าไปคิดลบชวนให้ท้อ อะไรก็ยากไปหมด

สุดท้ายได้ผลลัพธ์มาว่า ต่อให้สมาชิกในทีมเก่งกาจแค่ไหน บทบาทของนักแสดง “จอมอู้” และ “จอมหดหู่” สามารถดึงให้ผลงานของทีมตกต่ำลงได้ Netflix ทดลองหลายสิบครั้งนานอยู่เป็นเดือนนะครับ จนได้ข้อสรุปมาว่า กลุ่มนักศึกษาที่มีกลุ่มนักแสดงอยู่ด้วยแม้เพียงคนเดียว ทำให้การทำงานของทีมย่ำแย่กว่าทีมอื่นถึง 20-40% เลยทีเดียว

เห็นไหนไหมครับ ว่าความคิดลบสามารถส่งผลให้การทำงานประสิทธิภาพแย่ลงได้จริงๆ ดังนั้น ก็ใช้วิธี เอาแค่ฟังพอสังคมแต่อย่าไปใส่ใจและตั้งหน้าตั้งตาทำงานของเราก็พอครับ