posttoday

ดีเดย์เปิดประเทศ 120 วัน....ความท้าทายอยู่ที่การเข้าถึงวัคซีนทั่วประเทศ

21 มิถุนายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สัปดาห์ที่แล้วประเด็นวัคซีนไม่มาตามตารางวันนัดสร้างความผิดหวังและท้อแท้กับการทำงานของหน่วยงานรัฐรวมถึงไม่พอใจต่อรัฐบาล มีการแสดงออกแบบไม่เกรงใจทั้งหมอ กลุ่มอีลีท นักธุรกิจตลอดจนประชาชนทั้งในเมืองและชนบทสามัคคีออกมาอัดการทำงานที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ แต่ละหน่วยงานของรัฐออกมาพูด “ฉันไม่ผิด-ฉันไม่เกี่ยว” โยนกันไปมา มีการออกมาขอโทษก็ทำไปแบบเสียไม่ได้เพราะสีหน้าท่าทางไม่ได้บ่งบอกว่าขอโทษจริง ความผิดพลาดใหญ่ระดับชาติเช่นนี้หากเป็นภาคธุรกิจ “CEO” ที่รับผิดชอบคงอยู่ยากแต่ภาคการเมืองเขาใช้กระเบื้องตราช้างวัดที่ความหนาและจำนวนมือที่ยกให้ในสภาว่าฝ่ายไหนมากกว่ากัน การถามหาสปิริต “ไม่มี” เพราะเป็นวัฒนธรรมการเมืองน้ำเน่าไม่ว่าการเมืองยุคไหนก็เหมือนกันหมด

ณ วันนี้ไม่ใช่เวลาจะไปชี้ว่าใครผิดใครต้องรับผิดชอบหากจะโทษคงเป็นโครงสร้างระบบราชการที่ยึดติดกฎหมาย ประกาศ-กฎเกณฑ์ในลักษณะกำกับ-บังคับและควบคุมที่ไม่เคยต้องลงมือปฏิบัติจริง พอมาเจอการจัดหาและกระจายวัคซีนซึ่งไม่ใช่รูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างปกติเนื่องจากปริมาณซัพพลายจัดส่งน้อยกว่าดีมานด์หรือพูดง่ายๆ สินค้าไม่พอขายทำให้ผู้ผลิตไม่ง้อคนซื้อ ระบบราชการไทยชินแต่คนขายมาง้อแถมพกน้ำร้อนน้ำชามาให้พอเจอแบบนี้เดินไม่เป็น การไปกดดันผู้ผลิตวัคซีนในประเทศซึ่งเขาเป็นแค่โรงงานรับจ้างผลิต (OEM) จะขายให้ใครอยู่ที่บริษัทแม่ต่างชาติ

การผลิตและจัดส่งสินค้าของภาคเอกชนรวมถึงวัคซีนโควิดมีตารางการผลิตที่ชัดเจนไม่เหมือนขายขนมครกทำไปขายไป การผลิตสินค้าแต่ละวันจะมี “Production Planning” ออกล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ แต่ละล็อตหรือ “Batch”  รู้ว่าสินค้าที่ผลิตทั้งจำนวนและประเภทจะส่งให้กับใครและเมื่อใดเป็นตาม P/O หรือใบสั่งซื้อ มีการเตรียมการจัดตารางการจัดส่งประสานงานกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ การที่บอกว่าเขาไม่ส่งหรือสินค้าไม่พอแบบกะทันหันในทางการค้าไม่ค่อยเกิดหรอกครับ เนื่องจากระบบการผลิตเกี่ยวข้องกับการวางแผนตั้งแต่วัตถุดิบแพ็คเกจจิ้งตลอดจนการส่งมอบที่ต้อง “Just in Time” ซึ่งเป็นพื้นฐานของการค้า

อย่างที่กล่าวอย่าฟื้นหาตะเข็บไม่เป็นประโยชน์ที่ต้องเข้าใจการฟื้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมาไม่ใช่พูดปากเปล่าโดยขาดกลยุทธ์และการติดตามการทำงาน องค์ประกอบสำคัญขึ้นอยู่กับการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนซึ่งวันนี้จำนวน “โดส” ที่ฉีดสะสมไปแล้วประมาณร้อยละ 8.0 ห่างไกลเป้าหมายที่ระบุว่าจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสคิดเป็นจำนวนประชากร 50 ล้านคน หากล่าช้าออกไปเศรษฐกิจจะฟื้นตัวออกไปอีก

ขณะที่ธุรกิจและผู้ประกอบการอาชีพอิสระต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพอ่อนแอ ภาคโรงแรมผู้ประกอบการร้อยละ 60 เปิดแค่บางส่วนหรือต้องปิดกิจการ การจะฟื้นเศรษฐกิจและเปิดประเทศเมื่อใดต้องถามว่าคุมโควิดให้หมดไปหรือยัง หากวัคซีนมาแบบกะปิดกะปอยถึงจะเปิดประเทศก็ไม่แน่ว่าเขาจะมาเที่ยว แม้แต่คนไทยยังไม่กล้าจะไปเที่ยวไหนแค่การช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าคนเดิน “โหรงเหรง”  ส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ในห้างจะทนอยู่ได้อีกกี่เดือน แม้แต่ห้างดังๆ ก่อนโควิดระบาดไปลงทุนขยายพื้นที่เปิดห้างใหม่ใหญ่โตระดับโลกยังหนาวๆ ร้อนๆ

เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดรอบ 3 รุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมาภาคส่วนที่ยังพอไปได้เกี่ยวข้องกับ   เซ็กเตอร์ส่งออกและธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซอุปทานแต่ส่วนใหญ่อย่างเก่งก็แค่ประคองตัว ที่อาการหนักรองจากภาคท่องเที่ยวคือเชคเตอร์บริการไล่มาแต่ค้าปลีก ร้านอาหาร ซึ่งทางสมาคมที่เกี่ยวข้องระบุว่ามีห้าแสนกิจการซึ่ง 1 ใน 5 ปิดตัวไปแล้วและกำลังทยอยปิดตัวในเดือนหน้า ขณะที่ธุรกิจรายย่อย เช่น ร้านทำผม ร้านนวดซึ่งได้แต่นวดที่ขาโดนตัวไม่ได้รวมถึงผับบาร์-คาราโอเกะธุรกิจเอนเทอร์เทนเม้นท์ตลอดจนแท๊กซี่รับจ้างอยู่ในสภาพย่ำแย่ รัฐบาลมีการออกแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น คนละครึ่งเฟส 3 คงช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้พอไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต GDP ไตรมาส 2 อาจขยายได้เพียงร้อยละ 1

ปัญหาจากวิกฤตโควิดลามมาถึงฐานะครัวเรือนซึ่งอยู่ในสภาพย่ำแย่สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งทะลุร้อยละ 90 ต่อ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยร้อยละ 76.9 เป็นสินเชื่อจากอุปโภค-บริโภคส่วนบุคคล จากการสำรวจของศูนย์วิจัยธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งระบุว่าประชาชนมีหนี้ต่อรายได้เฉลี่ยร้อยละ 47 คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้เป็นการนำเงินที่ควรจะไปจับจ่ายใช้สอยแต่กลับต้องไปชำระเงินกู้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผ่อนบ้าน-คอนโดและผ่อนพาหนะรวมถึงบัตรเครดิต

ล่าสุดรัฐบาลได้ยกเป็นวาระแห่งชาติโดยครม. (15 มิ.ย. 64) มีมติตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนแบบรายกลุ่มมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาวลดดอกเบี้ยและการเข้าถึงแหล่งเงินที่ฮือฮาคือการเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำแสดงให้เห็นว่า “พิษจากโควิด” เล่นงานไปถึงฐานรากของเศรษฐกิจ

ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวเป็นวิกฤตของชาติยกระดับเป็น “Double Crisis” ที่ต้องก้าวผ่านซึ่งนายกรัฐมนตรี รู้ปัญหาดีตัดสินใจประกาศ “ดีเดย์” เปิดประเทศนับถอยหลัง 120 วันนับถอยหลังเริ่ม 1 กรกฎาคมนี้หากเป็นไปตามแผนฤกษ์เปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เพื่อให้ประเทศเดินหน้าท่ามกลางความเสี่ยง ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายและกล้าหาญของ “บิ๊กตู่” ที่เดิมพันทางการเมืองครั้งสำคัญเพราะหากจะรอจนโควิดหมดไปคงอีกนานเศรษฐกิจของประเทศจะพังไปก่อนโดยเฉพาะธุรกิจรายเล็กรายใหญ่จนถึงรายย่อยกำลังจะเจ๊ง ที่ตามมาติดๆ คือการว่างงานและว่างงานแฝงมีจำนวน 2-3 ล้านคนโดยส่วนตัวผมเชียร์เต็มที่ เกี่ยวกับไวรัสโควิดต้องเข้าใจว่าคงไม่หายไปไหนเหมือนไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไวรัส HIV จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่จะอยู่กับเราตลอดไปที่สุดก็จะกลายเป็น “New Normal” น็น้ด

การเปิดประเทศองค์ประกอบสำคัญขึ้นอยู่กับการเข้าถึงวัคซีนมีการยืนยันว่าสั่งซื้อและจองไปแล้ว 105.5 โดสซึ่งต้องมาตามนัดและฉีดให้กับประชาชนทุกกลุ่มตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้อย่าง

ชัดเจน กรณีวัคซีนช็อตทั้งที่ Fixed วันและระบุชื่อคนที่จะฉีดเป็นการดิสเครดิตรัฐบาลที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ปัญหาเกิดจากอะไรรู้กันดีอยู่แล้วให้นำมาใช้เป็นกรณีศึกษาอย่าให้เกิดซ้ำอีก คนไทยเป็นประเภทใจอ่อน-ลืมง่ายเพียงแต่วัคซีนจะต้องเข้ามาและกระจายให้ทั่วถึง การสัญญากับประชาชนเป็นพันธะผูกพันที่ต้องรับผิดชอบว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในอีก 4 เดือนข้างหน้าเป็นเดิมพันของรัฐบาลและเป็นเดิมพันของประเทศ....ครับ!    

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat