posttoday

มองอนาคตไทยผ่าน...แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมฉบับใหม่

07 มิถุนายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ขอพักประเด็นเศรษฐกิจ-การเมืองและวัคซีน “พร้อมไม่พร้อม” ที่จำเจย่ำอยู่กับที่มองไม่เห็นอนาคต ฉบับนี้อยากให้มองทะลุเห็นอนาคตผ่านกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่สภาพัฒน์ฯ หรือ “สศช.” อยู่ระหว่างจัดทำซึ่งจะนำมาใช้เป็นเข็มทิศประเทศในไตรมาสสุดท้าย เป็นแผนชาติทางเดิน “Roadmap” ของประเทศใน 5 ปีข้างหน้า

ไทยมีแผนพัฒนาประเทศใช้ต่อเนื่องมา 60 ปีส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศรุดหน้า ขนาดของ GDP อยู่ในอันดับ 22 ของโลก (IMF) เป็น “เสี่ย” ที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลำดับที่ 13 ในอาเซียนเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์แต่ยังมีคนที่มีรายได้ต่ำยังชีพได้ด้วยบัตรคนจนเกือบ 14 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด

เหตุจูงใจเขียนเรื่องนี้เพราะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นสนทนากับ คุณธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์   อดีตผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 ของสศช. เป็นผู้คร่ำหวอดการทำแผนด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องมาหลายฉบับ อนาคตไทยในช่วงปีเศษที่ผ่านมาและคงยาวไปถึงสิ้นปีถูกยึดโยงกับวิกฤตที่มาจากการแพร่ระบาดของโควิดโดยหวังว่า “โรคห่ากินเมือง”ของศตวรรษที่ 21 คงจะจบภายในปลายปีนี้ ภูมิทัศน์ใหม่หลังพ้นยุคโควิดจะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับการปรับตัวของทุกองคาพยพ เช่น ข้าราชการ ภาคเอกชน ผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ที่เป็น “New Normal” สิ่งที่คุ้นเคยจะเปลี่ยนไปไม่มีวันเหมือนเดิมโดยเฉพาะการเข้ามาของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ข้อมูลข่าวสารและการรับรู้เปลี่ยนจากเดิมที่ภาครัฐเป็นศูนย์กลางจะไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป

ขณะที่ภาคธุรกิจที่เคยใช้สื่อกระแสหลักหรือพึ่งเริ่มต้นปรับเป็นออนไลน์เพื่อป้อนข้อมูลโฆษณาสินค้าและบริการ แต่ภายใต้ “IoT Platform” ประชาชนและผู้บริโภครับรู้ข้อมูลทางเลือกของเขาเองผ่านโซเซียลมีเดียที่รัฐจะสูญเสียการครอบงำทางความคิดเหมือนในอดีต หลังการผ่านพ้นของยุค “Post Pandemic Covid-19” การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของดิสรัป (Disruptive Changing) จะถาถมเข้ามาในทุกมิติทั้งการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมเป็นยุคที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง กรณีของกระแสข่าว “ลุงพล” บนสื่อโซเซียลคงเป็นอุทาหรณ์ที่ชัดเจน

ดังนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ “สศช.” ที่จะนำออกมาใช้จำเป็นจะต้องทบทวนการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ชูสโลแกน “ไทยแลนด์ 4.0” ผ่านมาเกือบห้าปีแทบไม่เห็นว่าจะนำไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างไรยังคงเห็นภาคราชการเป็นระบบอุปถัมภ์โดยเปลือกนอกเป็นดิจิทัลแต่เนื้อในยังเป็นอนาล็อกไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนส่วนใหญ่ยังคงย่ำอยู่กับธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่ใช้ภูมิปัญญาน้อยและเทคโนโลยีแบบเจือจางแทบไม่มีนวัตกรรมเป็นของตนเอง การผลิตส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมรับจ้าง (OEM) ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งของไทยและต่างด้าว เศรษฐกิจที่ผ่านมายังพึ่งพาการส่งออกที่มูลค่าลดลงเพราะเริ่มแข่งขันได้ยากขึ้นอีกทั้งพึ่งพาการท่องเที่ยวต่างชาติในระดับสูงพอเจอพิษโควิดเศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวอย่างที่เห็น

ต้องยอมรับว่าหกศตวรรษที่ผ่านมาไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมต่อเนื่อง 12 ฉบับใช้เงินไปมหาศาลแต่ทำไมคนจนจึงยังมีมากมาย ตัวเลขทางการระบุว่ามีถึง 13.7 ล้านคนทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงสุดติดลำดับโลกอีกทั้งการคอรัปชั่นซึ่งไม่ได้ลดลงแต่กลับพุ่งสูงสุดช่วง 7 ปีดัชนีคอรัปชั่น (CPI : Corruption Perceptions Index) จากลำดับที่ 85 ของโลกมาอยู่ลำดับ 104 จาก 180 ประเทศ แผน “สศช.” ฉบับใหม่จะต้องถอดบทเรียนความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศที่ยังคงเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเภทก่อสร้างขนาดใหญ่ “Physical Infrastructure” เป็นหลักที่อาจไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยสมาร์ทเทคโนโลยีซึ่งอาจพลิกจากโอกาสกลายเป็นการถอยหลัง กรณีศึกษาเวียดนามที่ส่งออกแซงหน้าไทยมาหลายปีและเศรษฐกิจขยายตัวโตอย่างต่อเนื่องอาจสะท้อนภาพได้อย่างชัดเจน

ภายใต้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเศรษฐกิจจะเปิดกว้างให้ทุนใหญ่ทั้งจากภายในประเทศและนอกประเทศเข้ามากลืนธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ SMEs ที่มีความเปราะบางเป็นแหล่งจ้างงานร้อยละ 42.8 ของการจ้างงานในภาคธุรกิจเอกชน ประเด็นคือธุรกิจเหล่านี้จะอยู่รอดก้าวผ่านศตวรรษหน้าได้อย่างไรโดยไม่ถูกเจ้าสัวผูกขาดกลืนกินไปก่อน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ที่จะใช้ภายในปลายปีนี้สาระสำคัญให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมุ่งหวังพลิกโฉมประเทศด้วยการพัฒนาคนและสร้างคนรุ่นใหม่ เชิงโครงสร้างจะมีการปฏิรูประบบราชการที่ปฏิรูปอย่างไรไม่ก้าวหน้านับวันยิ่งถอยหลังย้อนยุคกลับไปสมัยอำมาตยาธิปไตย ไม่เชื่อทุกวันจันทร์จะเห็นคุณพระ-คุณหลวงใส่เครื่องแบบสีกากีหรือเครื่องแบบรัฐวิสาหกิจติดยศเต็มบ้านเต็มเมืองเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้านสังคม แนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการมีมานานหลายรัฐบาลแต่ทำไม่สำเร็จเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัลเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วให้ทันต่อยุคสมัยซึ่งต้องมีความยืดหยุ่นสูง แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นเหมือนศิลาจารึกในพิพิธภัณฑ์ถูกล็อกไว้ด้วยรัฐธรรมนูญยากที่จะแก้ไขได้ง่ายๆ แม้แต่แผนของ “สศช.” ยังต้องใช้เป็นแกนหลัก การที่ถูกล็อกไว้เช่นนี้ไม่มีใครรู้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนโลกไปอย่างไรแม้แต่เทวดาก็ไม่รู้ ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์เขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติจะมีกึ๋นเพียงใดที่จะวางกรอบการพัฒนาประเทศโดยแก้ไขไม่ได้ยาวได้ถึงยี่สิบปีแล้วประเทศนี้จะก้าวพ้นกับดักการพัฒนาได้อย่างไร

อนาคตของประเทศหลังข้ามช็อตการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ต่างๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมฉบับใหม่จะต้องตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และต้องสอดคล้องกับเศรษฐกิจของยุคดิจิทัลที่กำลังจะก้าวผ่านสู่“เศรษฐกิจควอนตัม”  การเมืองในรูปแบบอุปถัมภ์จะต้องลดบทบาทหรือขจัดจากสังคมไทยได้อย่างไรเป็นคำถามที่ไม่เห็นคำตอบในช่วง 10 ปีจากนี้ อนาคตที่ปฏิเสธไม่ได้ประเทศไทยต้องเดินทางไปตามบริบทใหม่ของทิศทางของโลกเป็นทางเดินใหม่มีความไม่แน่นอนสูงและไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร? ขาดผู้รู้จริงหวังว่าแผน “สศช.” คงพอมีคำตอบได้บ้าง

โจทย์อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไรเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเศรษฐกิจวันนี้ให้สามารถอยู่รอด ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ความสามารถการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิดที่ยังคงมืดมนถึงจะมีไทม์ไลน์หรือผู้มีอำนาจออกมายืนยัน แต่ภาพหรือข้อมูลที่ออกมาดูเหมือนการจองและระยะเวลาการได้มาของวัคซีนยังไม่แน่นอน แม้แต่ผู้เขียนสัปดาห์หน้าได้คิว  หมอพร้อมแต่โรงพยาบาลที่จะฉีดก็ยังไม่มั่นใจบอกว่าใกล้ๆ ให้โทรมาถามว่าจะเข้ามาหรือไม่ แค่เริ่มต้นโรงพยาบาลตามจังหวัดต่างๆ ทยอยประกาศเลื่อนวันฉีดวัคซีนออกไป....รอบนี้คนฉีดพร้อม หมอก็พร้อมแต่ “วัคซีนไม่พร้อม”    ทำให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่น ซึ่งประเด็นนี้แก้ยากครับ

 สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat