posttoday

แตกต่างแค่เรื่องเดียว

03 มิถุนายน 2564

คอลัมน์ Great Talk

คุณเกรทครับ

ผมเป็นคนไม่ค่อยมีความสามารถพิเศษอะไรเลย คือทำอะไรก็เป็นเรื่องที่ไม่โดดเด่น เรียนไม่เก่ง พูดไม่เก่ง คิดอะไรก็ช้า ทำงานก็ไม่ได้เติบโตอะไรใครๆก็บอกผมว่าผมไม่น่าจะสำเร็จอะไรได้ เขาบอกกันว่าคนที่จะสำเร็จทำอะไรก็ต้องเก่งทุกอย่าง คุณเกรทว่าจริงไหมครับ

สวัสดีครับ

ผมว่าคนเราจะมีเรื่องที่ตนเองทำได้ดีอยู่ทุกคน 

คุณก็เพียงแค่พยายามหาว่าอะไรที่เราเท่านั้นสามารถทำมันได้ ไม่ต้องดีมากก็ได้ครับแค่เพียงเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันที่เราชอบหรือรักที่จะทำมัน เช่นอาจเป็นการสะสมสแตมป์ การเก็บตั๋วรถเมล์(สมัยก่อนผมชอบสะสมตั๋วรถเมล์) หรือการวาดภาพคนแบบไม่เหมือน(ผมวาดภาพไม่ได้เรื่องเลยแต่ชอบวาดตอนเด็กๆผมถึงเรียกว่าวาดภาพคนแบบไม่เหมือน^^) 

หาอะไรก็ได้ครับแล้วนำเสนอให้ถูกทางเดี๋ยวก็ดีเองครับ ผมจะเล่าเรื่องสารคดีเรื่องนึงที่มีโอกาสได้ไปดูมา

เป็นสารคดีเรื่อง “Earth At Night In Color” ที่เกี่ยวกับชีวิตของสัตว์ป่าในแอฟริกาโดยมี Tom Hiddleston เป็นคนที่ให้เสียงบรรยาย(คนที่เล่นเป็นโลกิในเรื่อง The Avenger) เป็นการติดตามเรื่องราวการดำรงชีวิตการหาอาหารการเลี้ยงดูลูกและพฤติกรรมต่างๆของสัตว์ป่าเช่น ช้าง สิงโต แมลงตัวเล็กๆ รวมไปถึงตัวลิงมาโมเสท(ลิงตัวเล็กๆตาโตขนาดความยาวประมาณ14-16ซม.) 

ฟังดูก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สารคดีทุกที่ทำกันแต่ประเด็นที่ต่างกันออกไปคือ เป็นครั้งแรกที่ใช้กล้องที่สามารถถ่ายเห็นชีวิตของสัตว์ดังกล่าวได้ในเวลากลางคืนนี่สิครับ 

ซึ่งปกติแล้วหากเราจะสามารถมองเห็นได้ตอนกลางคืนอย่างมีสีสันเหมือนตอนกลางวันแล้ว เราอาจต้องมีสายตาเหมือนแมว(แมวสามารถมองเห็นตอนกลางคืนได้ชัดเจนกว่ามนุษย์100เท่า) 

ทีแรกผมก็คิดอยู่ในใจว่า “กะอีแค่ถ่ายได้ตอนกลางคืนมันก็เหมือนๆกับสารคดีทั่วไปนั้นแหล่ะมั้ง” แต่พอดูๆไปเริ่มเห็นการนำเสนอที่แตกต่างต่าง

เมื่อเก็บภาพตอนกลางคืนได้ สิ่งที่นำเสนอก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง..

ใช่ครับแค่เพียงเราเก็บภาพตอนกลางคืนได้ เรื่องราวต่างๆมากมายก็เปลี่ยนไปจากสารคดีรูปแบบเดิมๆที่มีมา เช่น ปกติเราจะเห็นเรื่องราวการใช้ชีวิตของช้างในป่า (ย้ำนะครับในป่าแบบเปิดตามธรรมชาติไม่ใช่ในสวนสัตว์ที่จำลองการใช้ชีวิตในป่า) 

เราจะได้เห็นว่า ฝูงช้างจะมีการเดินทางเพื่อหาแหล่งอาหารในตอนกลางคืนและเดินทางเป็นระยะทางไกลกว่า 10กิโลโดยช้างจะไม่ออกเดินหาอาหารในเวลากลางวัน เพราะผิวหนังของช้างแม้จะดูหนาและแข็งแรงแต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น 

ผิวหนังของช้างค่อนข้างเปราะบางไม่ได้เหนียวเหมือนหนังวัวหรือหนังควาย ช้างมีความรู้สึกไวมากและขี้ร้อนเหมือนที่เราจะเห็นว่าช้างจะชอบเล่นโคลนเอาดินมาทาตัวเพราะต้องการระบายความร้อนเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดดนั้นเอง 

คราวนี้พอฝูงช้างเดินทางตอนกลางคืนก็ทำให้เราได้เห็นพฤติกรรมการล่าของสิงโตและฝูงไฮยีน่าที่ออกล่าในตอนกลางคืนเช่นกัน โดยสิงโตหรือฝูงไฮยีน่าจะเลือกหาเหยื่อที่ดูอ่อนแอที่สุดนั้นก็คือ ลูกช้างนั้นเอง 

โดยไฮยีน่าจะคอยตามกัดหางลูกช้าง ส่วนแม่ช้างก็จะคอยไล่ตามเตะฝูงไฮยีน่า เป็นภาพเหมือนการชักกะเย่อ ระหว่างไฮยีน่ากับแม่ช้างโดยมีก้นลูกช้างเป็นเส้นบางๆระหว่างความเป็นกับความตาย 

คราวนี้ลองมาดูเรื่องราวของสิงโตกันบ้าง ยามค่ำคืน สิงโตตัวผู้จะออกเดินทางเพื่อตรวจสอบบริเวณรอบๆฝูงของตัวเอง(ซึ่งในฝูงของสิงโตตัวผู้จะมีสิงโตตัวเมียประมาณ4-8 ตัว 

นอกนั้นก็จะเป็นบรรดาลูกๆของแม่สิงโตที่เกิดจากพ่อสิงโตตัวเดียว) โดยสิงโตตัวผู้จะเดินในรัศมีประมาณไม่เกินสามกิโลเมตรจากจุดที่ฝูงอาศัยอยู่แล้วทำหน้าคำรามไปเรื่อยๆเพื่อให้สัตว์ป่าตัวอื่นๆที่อยู่ในบริเวณนั้นไม่เข้ามาใกล้ 

เสียงคำรามของสิงโตสามารถไปได้ไกลถึง 7กิโลเมตรเพื่อปกป้องฝูงของตนเหมือนกับว่า ข้าอยู่แถวนี้นะใครอย่ามาอาณาเขตของข้าเชียว คำรามไปทั้งคืน เสียงหมดก็ต้องคำรามบางจังหวะเหมือนเสียงสุนัขหอนมากกว่าเพราะเหมือนพ่อสิงโตเสียงหมด 

พอพ่อสิงโตไปยึดอาณาเขตด้วยการคำรามขู่สัตว์โดยรอบแล้วคราวนี้แม่สิงโตก็ต้องออกไปล่าเหยื่อหาอาหารโดยต้องทิ้งลูกสิงโตไว้สักที่(อันนี้ผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าแม่สิงโตไม่ฝากลูกๆไว้กับบรรดาเมียๆของพ่อสิงโต อาจจะเป็นเพราะลูกใครลูกมันละมั้ง) พอแม่สิงโตไปล่ากวางมาได้ เอ้า...กลับมาลูกสิงโตมัวแต่เล่นหายตัวไปอีก กลายเป็นแม่ต้องมาคอยเดินตามหาจนเช้า

เห็นไหมครับว่า สิ่งเดียวที่ทำได้หากทำมันให้ดีและบวกความคิดสร้างสรรค์อีกเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เห็นความแตกต่างได้อย่างแท้จริง เพราะจุดแตกต่างของสารคดีนี้

คือการที่ทำให้เราสามารถเห็นธรรมชาติที่แท้จริงผ่านกล้องที่เพียงแค่ “ถ่ายได้ตอนกลางคืน” แค่นั้นเอง