posttoday

เศรษฐกิจพึ่งพาแรงงานต่างด้าว...ภายใต้ภาวะโควิดทางออกอยู่ที่ไหน ?

31 พฤษภาคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

เป็นที่ทราบกันดีว่าโควิดระลอก 3 กำลังระบาดหนักประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซียอยู่ในสภาวะไม่ต่างกับไทย แรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่ในสถานประกอบการรวมถึงบ้านเรือนปะปนอยู่ในสังคมและชุมชนจึงเป็นความเสี่ยงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการแพร่เชื้อ ตัวอย่างที่ชัดเจนปีที่แล้วเริ่มจากคลัสเตอร์โรงงานอาหารทะเลแปรรูปจังหวัดสมุทรสาคร ปีนี้พบการระบาดในหลายพื้นที่ เช่น เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ฯลฯ  ล่าสุดแคมป์ก่อสร้างจังหวัดนนทบุรีมีคนติดเชื้อเกือบครึ่งพันคนยังไม่รวมแคมป์ก่อสร้างต่างๆ ในเขตกทม.กว่า 400 แห่งและที่ทำงานตามสถานประกอบการ โรงงาน ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและแผงลอยต่างๆ

ประเทศไทย ณ เดือนมีนาคม 2564 มีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายจำนวน 2,176,501 คนคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของประชากรที่มีงานทำทั้งหมด ตัวเลขนี้เป็นแรงงานถูกกฎหมายไม่รวมที่ลักลอบเข้ามาทำงานอีกเป็นหลักหลายแสนคน แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศเมียนมาร์มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 รองลงมาเป็นประเทศกัมพูชาสัดส่วนร้อยละ 21.4 ที่เหลือเป็นประเทศสปป.ลาว ตัวเลขแรงงานต่างด้าวก่อนการระบาดของโควิดในเดือนมีนาคมปีที่แล้วมีจำนวน 3.034 ล้านคน ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงถึง 8.582 แสนคนคิดเป็นร้อยละ 28  คนเหล่านี้ต้องมองว่าพวกเขาเป็นกำลังแรงงานของชาติและเป็นปัจจัยการผลิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจหากวันนี้ไม่มีพวกเขาหลายอุตสาหกรรมของเราคงอยู่ไม่ได้

มีคำถามว่าทำไมไทยจึงต้องใช้แรงงานพวกนี้ทั้งที่คนไทยช่วงนี้ว่างงานและว่างงานแฝงรวมกันประมาณ 4.5 ล้านคน ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาเสริมงานทักษะต่ำหรือ “Low Skill” เป็นงานประเภทยุค 2.0 ที่คนไทยวันนี้การศึกษาดีเลือกที่จะไม่ทำ อีกทั้งไทยอยู่ในช่วงสังคมสูงวัยมีคนแก่ที่อายุเกิน 60 ปีประมาณ 11.5 ถึง 12ล้านคน ช่วงห้าปีที่ผ่านมากำลังแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่องและจะยิ่งเป็นปัญหาในอนาคต กำลังแรงงานคนต่างชาติเหล่านี้เข้ามาช่วยเสริมงานต่างๆ หากจะไล่เรียงเริ่มจากงานประเภทก่อสร้างขนอิฐ หิน ดิน ทราย ทำตึก-คอนโด อาคารบ้านเรือนตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

งานที่ใช้ต่างด้าวมากและส่วนใหญ่เป็นผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีนายจ้างและลักษณะงานเร่ร่อนไม่แน่นอน เกี่ยวข้องกับงานภาคเกษตรกรรมและเกษตรแปรรูปต่อเนื่อง เช่น งานที่ทำงานอยู่ในเรือประมงและแพปลา, งานที่เกี่ยวกับปศุสัตว์และแปรรูป แรงงานกรีดยางพารา ตัดตออ้อย เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ฯลฯ  มูลค่าทางเศรษฐกิจ ในรูปของการส่งออกสินค้าเกษตรแต่ละปีทำเงินได้เป็นหลักล้านล้านบาท แต่ละปีไทยส่งออกสินค้าเกษตรและ ปศุสัตว์ประมาณ 6.559 แสนล้านบาท เช่น ข้าว, ยางพารา, แป้งมัน, น้ำตาลทรายจากอ้อยฯลฯ ตัวเลขนี้ยังไม่รวมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่ส่งออกอีกปีละไม่ต่ำกว่า 6.250 แสนล้านบาท เช่น ยางแปรรูป อาหารทะเลและผลไม้แปรรูปต่างๆ ต้องยอมรับว่าภาคเกษตรของไทยค่อนข้างมีปัญหาเนื่องจากเด็กรุ่นใหม่มีการศึกษาเลือกที่จะไปทำงานในเมืองขณะเดียวกันแรงงานภาคเกษตรส่วนใหญ่อายุค่อนข้างมากจึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว

แรงงานข้ามชาติยังไม่ส่วนสำคัญต่ออุตสาหกรรมของไทยซึ่งใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive Industries) ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแต่หลายอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์, อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์-วงจรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมแปรรูปปลาทูน่าและสัปปะรดบรรจุกระป๋องซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงงานบริการต่างๆ เช่น ขนถ่าย-เคลื่อนย้ายสินค้า งานโลจิสติกส์ต่างๆ งานในร้านอาหาร-โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แม้แต่ “คุณแจ๋ว” ที่ทำงานตามครัวเรือนอีกเป็นหลักแสนคนงานเหล่านี้คนไทยเลือกที่จะไม่ทำ

ทางออกของปัญหาต้องแยกแยะคือแรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมายประมาณสองแสนล้านคนเศษที่รู้ว่าเขาอยู่ตรงไหนเพราะมีนายจ้างแน่นอนจะต้องเร่งมีการตรวจเชื้อเชิงรุกอย่างจริงจังซึ่งเดิมมีมติครม.ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาให้ฉีดวัคซีนทุกคนแต่เอาเข้าจริงๆ คนไทยเองยังเข้าไม่ถึงวัคซีนจะแก้ปัญหากันอย่างไร อีกพวกที่ต้องแยกแยะคือแรงงานที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมายมีอีกหลายแสนคน แรงงานเหล่านี้ควบคุมไม่ได้ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนมีโอกาสจะแพร่เชื้อได้สูงโดยเฉพาะแรงงานเมียนมาร์ที่ประเทศเขาติดกับอินเดียซึ่งกำลังมีโควิดกลายพันธุ์ระบาดหนักติดเชื้อเป็นอันดับ 3 ของโลก อีกทั้งประเทศเมียนมาร์มีปัญหาความไม่สงบในเมืองมีการจลาจลนอกเมืองมีสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เศรษฐกิจพังพินาจ เดิมออกมาหาค่าจ้างที่ดีกว่าจากนี้ไปจะเห็นแรงงานผิดกฎหมายออกมาเป็นระลอกใหญ่เพื่อหนีเอาชีวิตรอดจากภัยสงครามและปากท้องที่ไม่มีงานทำ

คำถามกฎหมายที่มีอยู่พอเพียงไหม ? บอกได้ว่าเกินพอเนื่องจากไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ล่าสุดปีที่แล้วออกมาเพิ่มเติมมีบทลงโทษค่าปรับสูงสุด 1 แสนบาทต่อคน หากทำผิดซ้ำสองเพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทและจำคุกไม่เกิน 1 ปี บทลงโทษรุนแรงเช่นนี้ทำไมจึงมีการลักลอบอย่างต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและการละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐผลประโยชน์แรงงานผิดกฎหมายมีมากมาย มีโอกาสโทรศัพท์สอบถามคนรู้จักที่อยู่เมืองย่างกุ้งเขาบอกว่าเข้ามาได้หลายทาง หากเป็นอำเภอแม่สอดคนที่อยากเข้ามาทำงานเมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นกะเหรี่ยงมาจากเมืองผาอางและเมาะลำไย โดยจะไปติดต่อกับนายหน้าที่พม่าเรียกว่า “ปอยซา” คิดเบ็ดเสร็จแบบ “One Stop Service” หัวละ 20,000-25,000 บาท ข้ามแม่น้ำเมยตามท่าเรือต่างๆ ที่อยู่ชายแดนแล้วเดินข้ามป่าผ่านจุดตรวจกระจายคนตามออเดอร์ที่ “อำเภอวังเจ้า” จังหวัดตากต่อแดนจังหวัดกำแพงเพชรหรือจะให้ไปส่งถึงโรงงาน ก็แล้วแต่จะตกลงกัน การทำงานเป็นเครือข่ายข้ามชาติลักษณะซัพพลายเชนส่วนผลประโยชน์คงมีการตกลงกันแบบ  ลงตัวมิฉะนั้นจะเข้ามาได้อย่างไร

ที่กล่าวนี้ย้ำว่าฟังเข้ามาเล่าต่ออีกทีข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรไม่ทราบเพราะไม่รู้เพียงแต่ให้คนที่รับผิดชอบเอาไปแก้ปัญหา ประเด็นคือแรงงานเหล่านี้ไม่มีแหล่งที่มาที่ไปไทม์ไลน์ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อเข้าไทยได้ก็จะไปอยู่ตามโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง ร้านค้า  หรือแหล่งงานต่างๆ รวมถึงครัวเรือน ต้องยอมรับว่ายังมีนายจ้างที่เป็นคนไทยเห็นแก่ตัวรับเข้ามาทำงานทั้งที่รู้ว่าอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดหนัก ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่เพราะบทลงโทษหนักพอแล้วเกี่ยวข้องกับการยกระดับการปราบปราม หากจับตัวแรงงานได้ให้สาวหาถึงต้นตอว่าใครเกี่ยวข้องและใครเป็นผู้จ้างทำเป็นตัวอย่างจะได้กลัวและเข็ด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือต้องให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงวัคซีนแต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะขนาดคนไทยยังสับสนว่าจะได้ฉีดเมื่อใด รัฐบาลโปรโมทให้ไปลงทะเบียนใน “แอพหมอ (ไม่) พร้อม” ทำได้ 2-3 วันก็เลิกแล้วให้ไปใช้แอพเป๋าตังและร้านสะดวกซื้อบอกว่ามิถุนายนได้ฉีดแน่นอน...งานนี้ต้องลุ้นครับ