posttoday

วิกฤตโควิดรอบใหม่...ทางออกอยู่ที่ไหน

26 เมษายน 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

หลังสงกรานต์การแพร่ระบาดของโควิดยกระดับความรุนแรงแต่ละวันผู้ติดเชื้อเฉลี่ยมากกว่า 1,400 คน      เฉพาะวันศุกร์ที่ผ่านมาตัวเลขทะลุสองพันกว่ารายและยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาด มาตรการของศบค.และมาตรการ 9 ข้อของรัฐบาลเป็นแค่การซื้อเวลารอการเข้ามาของวัคซีนที่ล่าช้ามาก

คำถามไทยมีศักยภาพทั้งความพร้อมทางการแพทย์และทางการเงินแต่ก็ไม่ทราบเพราะเหตุผลใดทำไมจึงไม่สามารถจัดหาวัคซีน จากข้อมูลของบลูมเบิร์กล่าสุดการฉีดวัคซีนของไทยต่อจำนวนประชากรอยู่ลำดับที่ 65 ของโลก (ข้อมูลบางที่ระบุลำดับที่ 138) สำหรับอาเซียนไทยรั้งท้ายอยู่อันดับ 8 มีผู้เข้าถึงวัคซีนเพียงร้อยละ 0.5 ห่างไกลจากเป้าหมายที่จะฉีดให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากร ประเทศที่อยู่แถวหน้าไทย เช่น สิงคโปร์สัดส่วนการเข้าถึงวัคซีนร้อยละ 19.4, อินโดนีเซียถึงแม้มีประชากรมากสุดแต่การเข้าถึงวัคซีนร้อยละ 3.3 แม้แต่ประเทศสปป.ลาวก็ยังแซงหน้าไทยสัดส่วนร้อยละ 1.0  ข้อมูลนี้คงสะท้อนถึงประสิทธิภาพของผู้รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี

วิกฤตโควิดรอบใหม่ดับความฝันว่าเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นแต่กลับเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่เปราะบางให้ซึมยาวไปอย่างน้อยถึงไตรมาส 4 หรือไปถึงปีหน้า มีการประเมินการระบาดรอบใหม่หากยืดเยื้อยาวไปถึงปลายเดือนมิถุนายน    อาจกระทบเศรษฐกิจร้อยละ 1.86 มูลค่าเศรษฐกิจเสียหายประมาณ 2.8-3.0 แสนล้านบาท จากข้อมูลการสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารชั้นนำและม.หอการค้าไทย พบว่าสภาพคล่องของภาคเอกชนจะลดลงร้อยละ 10-20 ความต้องการแรงงานลดลง 1.489 แสนคน การลงทุนของเอกชนจะลดลงจากเป้าหมายร้อยละ 6.7 เหลือร้อยละ 3.8  ด้านการจับจ่ายใช้สอยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดจะลดลงร้อยละ 15 เม็ดเงินที่หายไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท   ทำให้ตัวเลขการบริโภคเอกชนทั้งปีลดลงจากร้อยละ 3.4 เหลือร้อยละ 2.8

ล่าสุดมีการปรับตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจที่เดิมคาดว่าปีนี้อาจจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 เหลือไม่เกิน ร้อยละ 3.0  ที่ต้องเข้าใจคือเศรษฐกิจไทยปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 6.6 การเติบโตระดับนี้ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพค่อนข้างสูงซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบที่ตามมาไล่ตั้งแต่การจ้างงานที่ก่อนการแพร่ระบาดหดตัวร้อยละ 5.06 ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการคนว่างงานและว่างงานแฝงรวมกันประมาณ 1.45 ล้านคน ช่วงเดือนเมษายนมีนักเรียน-นักศึกษาจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานอีก 524,893 คนยังไม่รวมแรงงานตามสถานบันเทิง-ภัตตาคาร-ร้านอาหารหรือร้านค้า  ในศูนย์การค้ารวมถึงแรงงานสีเทาที่อยู่ตามคาราโอเกะ-คลับเลาจน์-นวดแผนโบราณและแม่ค้าหาบเร่แผงลอยรวมกันเป็นหลักแสนซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาด

มีคนถามผมว่าการระบาดรอบนี้จะหนักหรือเบากว่าครั้งที่ผ่านมา คงเหมือนทุกครั้งที่ผมจะกั๊กบอกว่าเร็วเกินไปที่จะ “ฟันธง” หากเปรียบเทียบผลกระทบรอบที่แล้วถึงแม้จะมีการล็อกดาวน์ปิดสถานที่ต่าง ๆ ทำให้คนตกงานจำนวนมากแต่ส่วนใหญ่สามารถกลับเข้าทำงานหรือปรับตัวกลับไปอยู่ต่างจังหวัดกลายเป็นคนว่างงานแฝง ช่วงนั้นเจ้าของธุรกิจยังเหลือเงินออมในประปุกและหวังว่าธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวทำให้ยอมเจ็บตัวรักษาการจ้างงานแต่การแพร่ระบาดรอบนี้ชัดเจนว่าหนักและรุนแรงกว่ารอบที่แล้วหลายเท่าแค่เริ่มต้นระบบการดูแลคนป่วยตลอดจนเตียงรักษาพยาบาลก็รวนไปหมดแม้แต่ไทม์ไลน์วัคซีนก็ยังชักกะเย่อจนภาคเอกชนทนไม่ไหวขอเข้ามามีส่วนในการนำเข้าแต่ยังคงต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ราชการแบบเต่าพันปี สภาวะผลกระทบที่จะตามมาจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ที่แน่นอนว่าอาจยาวไปถึงปลายปีทำให้ผู้ประกอบการบางรายโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวอาจถอดใจหรือธุรกิจ SME ที่เปราะบางอยู่ในโครงการยืดหนี้ปรับโครงสร้างนี้อาจไปไม่ไหว

ผมเป็นเจ้าของธุรกิจมีเพื่อนฝูงที่อยู่ในวงการต่าง ๆ มากมายมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นจึงค่อนข้างจะเข้าใจปัญหา เรื่องใหญ่คือสภาพคล่องเกี่ยวข้องกับเงินในลิ้นชักว่ายังเหลือเท่าไรที่ตามมาคือจำนวนลูกค้าลดลง ทำให้รายได้กับรายจ่ายสมดุลกันหรือไม่ หากขาดทุนจะรับสภาพอยู่ได้อีกนานไหมธุรกิจจะไปรอดหรือไม่เพราะในบางกรณี เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวลูกค้าต่างชาติหายไปหมดไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อใดทางรอดอยู่ตรงไหน หากสภาพธุรกิจเน่าหรือกำลังจะเจ๊งถึงอัดฉีดเงินเข้าไปเท่าใดก็คงไม่ฟื้น ที่ต้องเข้าใจไม่ใช่เฉพาะเอสเอ็มอีแม้แต่รายใหญ่และรายกลางก็ไม่ต่างกันขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในคลัสเตอร์ใดแม้แต่ในอุตสาหกรรมเดียวกันบางรายก็ไปไม่รอดแต่บางรายปรับกลยุทธ์ทั้งยอดขายและกำไรยังคงเป็นบวก

การปรับตัวจึงไม่มีสูตรสำเร็จเพราะภาวะต่างกันภาครัฐหากจะมีมาตรการอะไรออกมาภายใต้เงินจำกัด  จึงไม่ควรใช้วิธีเหวี่ยงแห “น้ำน้อยซึ่งหมายถึงสตางค์มีน้อยหากให้ได้ผลจึงต้องรดที่ราก” มาตราการต่อลมหายใจธุรกิจต่าง ๆ ที่ประสบปัญหา เช่น เงินสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจ 2.5 แสนล้านบาทเท่าที่ดูพรก.ช่วยเหลือฟื้นฟู  ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าที่สถาบันการเงินจะเริ่มนำมาใช้ในวันจันทร์นี้ (26 เม.ย.) มีการแก้ไขจุดบอดโดยการให้บสย.เข้ามาค้ำประกันร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดหากเป็น NPL หรือผลขาดทุนสามารถขอชดเชยได้จากกระทรวงการคลัง ตรงนี้ดีมากเพราะจะทำให้สถาบันการเงินลดความเสี่ยงน้อยลงสามารถปล่อยกู้ได้   ง่ายขึ้น แต่ที่สุดก็ต้องดูความสามารถในการใช้เงินคืนกับแบงค์ไม่ใช่ทุกรายจะสามารถกู้ได้รายละเอียดต่าง ๆ ใครสนใจให้ไปหาอ่านหรือคุยกับแบงค์

ดังที่กล่าวการปรับตัวเกี่ยวข้องทั้งเจ้าของธุรกิจและแรงงานทางออกเพื่อรอดจากวิกฤตการปรับตัวหรือข้อแนะนำแต่ละรายแต่ละกิจการจึงไม่เหมือนกัน ที่สำคัญการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะยังคงไม่เห็นได้ในเร็ว ๆ นี้ ผลกระทบทางธุรกิจบางรายบอกกระทบมากหรือบางรายกระทบน้อยหรือไม่กระทบปัญหาและทางออกจึงแตกต่างกัน ภาครัฐหรือผู้มีอำนาจต้องเห็นปัญหา

ไม่ใช่กลบปัญหา “ใครพูดแทงใจอย่าไปโกรธเขารับฟังแล้วจึงจะเกิดปัญญา” ช่วงวิกฤตที่เป็นอยู่แบบนี้อย่าเอาแต่เล่นการเมืองอย่าสร้างภาพลักษณ์จนเกินไป มาตรการต่าง ๆ ต้องไม่เลื่อนลอย “ปกหน้ากับเนื้อหาข้อมูลข้างในต้องสอดคล้องกัน” ในเวลาอย่างนี้เอกชนที่มีศักยภาพดึงเขาให้เข้ามาช่วยโดยเฉพาะเรื่องการนำเข้าวัคซีนต้องยอมรับว่าไทยมีปัญหาจริง ๆ.....เวลาเช่นนี้จึงไม่ใช่ที่จะมาโทษหรือว่ากันแต่ต้องหาทางออกทางรอดร่วมกันที่สำคัญอย่ากั๊กหรือปัดแข้งปัดขากันเองนะครับ !

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat