posttoday

หยุดตรุษจีนปีนี้เหงา...เศรษฐกิจไตรมาส 1 ยังหดตัวแรง

15 กุมภาพันธ์ 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช่” คำอวยพรยอดฮิตให้เทศกาลตรุษจีนขอให้สมหวัง เฮง ๆ มีความมั่งคั่ง การเฉลิมฉลองปีนี้ไม่คึกคักต่างจากปีก่อน ๆ เพราะไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ แต่ละวันมีคนติดเชื้อเฉลี่ย 200 คน ทำให้เศรษฐกิจที่เริ่มจะเงยหัวได้กลับมาเข้าห้องพักฟื้นใหม่บางรายหนักกว่าเดิมต้องเข็นเข้าห้องไอซียู

ตรุษจีนหรือวันปีใหม่ของคนจีนซึ่งปีนี้กล่าวได้ว่าเงียบเหงาการจับจ่ายใช้สอยบางตาประเมินว่าอาจหดตัวถึงร้อยละ 21.8 เป็นการ   ติดลบหนักสุดในรอบหลายปี เป็นผลจากการสำรวจของ ม.หอการค้าไทย และยังพบว่าประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42 จะใช้จ่ายน้อยลงและไม่เดินทางไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ขณะที่เงินโบนัสที่เรียกว่า “อั่งเปา” หรือ “แต๊ะเอีย” ที่ได้รับจากเถ้าแก่พบว่าร้อยละ 44 อาจไม่ได้รับหรือรับน้อยลงกว่าเดิมค่อนข้างมาก

ตรุษจีนที่ไม่ค่อยจะสดใสไม่เว้นแม้แต่ประเทศจีนซึ่งถือเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญมีการจัดงานทั่วประเทศอย่างยิ่งใหญ่ การแพร่ระบาดทำให้รัฐบาลกลางและมณฑลต่าง ๆ ขอความร่วมมือประชาชนอย่าไปไหนโดยเฉพาะการเดินทางข้ามเมือง เช่น นครหางโจวและอีกหลายมณฑลแจกเงินคนละ 1,000 หยวนหรือประมาณ 4,700 บาทให้กับแรงงานที่ไม่ได้เดินทางกลับบ้าน บริษัทบางแห่งไม่ปิดทำการเพื่อไม่ให้พนักงานไปไหนเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดในบริษัทหรือโรงงานโดยทางการจีนผ่อนผันไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย คาดว่าการเดินทางในช่วงเทศกาลในประเทศจีนอาจลดลงถึงร้อยละ 60 เม็ดเงินหายไปเฉียด 2.0 แสนล้านหยวน

ที่แปลกคือประเทศจีนไม่ให้คนเขาเดินทางแต่ของไทยรัฐบาลมีการแจกเงินทั้ง“ไทยชนะและเราชนะ” ตรงกับวันตรุษจีนแถมประกาศเป็นวันหยุดราชการซึ่งนึกไม่ออกว่าประเทศไทยเคยมีการประกาศเช่นนี้หรือไม่ การที่ให้วันหยุดติดกันยาวอาจเพื่อส่งเสริมให้คนไทยไปจับจ่ายใช้เงินใน “แอฟเป๋าตัง” และเดินทางไปเที่ยวข้ามจังหวัด ผลข้างเคียงที่จะตามมาอาจเป็นการรับเชื้อไวรัส

ขณะที่ทีมหมอบอกให้อยู่ห่างๆกัน “Social Distancing” แต่รัฐบาลเกรง GDP ไม่โตสนับสนุนให้ไปเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวพยายามผลักดันให้รับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งเป้าปีนี้อย่างน้อย 10 ล้านคน ทั้ง ๆ ที่วัคซีนก็ยังไม่ชัดเจนประเทศต่าง ๆ ยังปิดประเทศเพราะโควิด-19 กำลังระบาดหนักแต่เข้าใจได้ว่าเศรษฐกิจของไทยทรุดหนักตัวเลขว่างงานสูงคงต้องทำไปพร้อม ๆ กันทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกผ่านมาครึ่งทางถึงแม้อัดฉีดงบเฉียด 3.0 แสนล้านบาทและจะใส่เงินอีก 3.6 หมื่นล้านบาทให้กับแรงงาน (มาตรา 33) คงพอเยียวยาประทังความเดือดร้อนเฉพาะหน้าไปได้บ้างแต่ยังห่างไกลจากการ   ฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งปีนี้หลายหน่วยราชการและสำนักวิจัยเอกชนประเมินว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ประมาณ ร้อยละ 2.83  ภาคส่วนที่กระทบหนักสุดคือคลัสเตอร์ท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่พึ่งพาต่างชาติ สถาบันการเงินจัดอยู่       ใน “กลุ่มสีดำ” คือยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ว่าจะฟื้นตัวได้อย่างไร ลองคิดดูปีพ.ศ.2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดต่างชาติมาเที่ยวไทยใกล้ ๆ 40 ล้านคน ปีที่แล้วเหลือ 6.7 ล้านคน ปีนี้คาดว่าอย่างเก่งสุดประมาณ 4.0-4.3 ล้านคน โครงสร้างธุรกิจที่ลงทุน เช่น โรงแรม, ที่พัก, ร้านอาหาร, รถทัวร์, รถรับจ้าง, แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ จะรับมืออย่างไร       

คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อเทียบจากปีพ.ศ.2562 จะหดตัวถึงร้อยละ 90 หรือลูกค้าเหลืออยู่แค่ 1 ใน 10 จะอยู่ได้อย่างไรเกี่ยวข้องกับแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมอีก 3 ล้านคน รัฐบาลและกระทรวงแรงงานเตรียมรับมืออย่างไรไม่ใช่มัวแต่จะโปรโมทว่าบรรจุงานเป็นหลักล้านคนแต่ตัวเลขประกันสังคม (ม.33) หายไป 526,017 คน ที่ตามมาจากเศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่คือสภาพคล่องจากข้อมูลบริษัทเครดิตแห่งชาติมีตัวเลขยอดหนี้ธุรกิจและประชาชนรวมกันประมาณ 12 ล้านล้านบาทในตัวเลขนี้ประมาณ 8.8-9.0 แสนล้านบาทเป็นหนี้เน่า (NPL) มีชาวบ้านที่เป็นหนี้เสียเข้าโครงการยืดหนี้ประมาณ 6 ล้านคน

ขณะที่การปฏิเสธสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลของเครดิตบูโรมีผลทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะการปฏิเสธสินเชื่อบ้าน-คอนโดหากเป็นราคาต่ำโอกาสถูกปฏิเสธสูงถึงร้อยละ 80 หรือทุกคำขอเครดิตมีเพียง 2 ใน 10 รายเท่านั้นที่ผ่าน ทำให้สต๊อกอสังหาฯ เหลือมากกระทบเป็นวงกว้าง ระบบการเงินที่ถูกล็อกการเดินหน้าประเทศจะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเป็นระบบไม่อย่างนั้นเดิน ต่อไม่ไหวทั้งธุรกิจ-ลูกหนี้-สถาบันการเงินจะไปต่อได้ยาก

ปัญหาเศรษฐกิจไทยต้องบอกว่า “มะรุมมะตุ้ม” คือปัญหาต่าง ๆ รุมเร้าเข้ามาทุกทิศทุกทางเป็นผลจากวิกฤตที่มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านมา 11 เดือนเห็นแต่ภาคส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวภายใต้ความไม่แน่นอนของคู่ค้าซึ่งปีนี้เป็นบวกแน่ ๆ เพราะปีที่แล้วหดตัวสูงแต่จะขยายตัวเท่าใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความเสี่ยงมาจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่กับว่าจะเทียบกับช่วงเวลาใด เช่น 3 เดือนที่ผ่านมาบาทแข็งค่าร้อยละ 1.03 หากเทียบกับช่วง 6 เดือนแข็งค่าร้อยละ 4.02 อีกปัจจัยเกี่ยวกับการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้มีออเดอร์แต่ส่งออกไม่ได้เป็นกัน ทั้งโลกไม่ใช่แต่ของไทย ที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือราคาน้ำมันดิบโลกที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นคาดข้างมากช่วง 3 เดือนราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์ก (WTI) ปรับตัวสูงขึ้น 14.67 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลหรือสูงขึ้นร้อยละ 34 ส่งผลต่อราคาปลีกของน้ำมันดีเซลและเบนซินปัจจัยเหล่านี้จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด 

แม้แต่ภาคเกษตรส่งออกข้าวปีพ.ศ.2563 หดตัวทั้งเชิงปริมาณและมูลค่าต่ำสุดในรอบ 20 ปีจากปัญหาภัยแล้งและราคาแข่งขันกับอินเดียและเวียดนามไม่ได้ เชิงปริมาณเหลือเพียง 5.72 ล้านตันหดตัวร้อยละ 24.5 เชิงมูลค่าหดตัวร้อยละ 11.2 กระทบชาวนา 3.649 ล้านครัวเรือนต้องแบมือรอเงินรัฐบาลทั้งจากโครงการ “ไทยชนะ” และเงินอุดหนุนจากโครงการประกันรายได้ชาวนาปีนี้คาดว่าใช้เงินประมาณ 5.064 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 43.7 ของมูลค่าส่งออกหรือทุกการส่งออกหนึ่งตันรัฐบาลต้องอุดหนุนเงินให้ชาวนาประมาณ 437 บาท

ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรกคงยังไม่ค่อยดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและของไทยไม่ชัดเจนทำให้การขยายตัวยังติดลบเนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วที่ยังไม่มีการแพร่ระบาด ทางออกซึ่งเป็นความหวังของไทยคือการกระจายวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนเร็วที่สุด ที่กล่าวว่าวัคซีนล็อตใหญ่ 60 ล้านโดสฉีดได้  30.5 ล้านคนจะมาช่วงกลางปีกว่าจะฉีดได้ครบก็ไปถึงสิ้นปีอาจช้าไปทำให้คนไม่มั่นใจที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในรัฐสภาซึ่งคงผ่านฉลุย “วัคซีนขอให้เป็นวาระแห่งชาติ”.....ผลักดันลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใช้เงินมาก ๆ ชะลอไปก่อนวัคซีนต้องมาก่อนครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )