posttoday

วัคซีนโควิด...ทำไมไทยจึงล่าช้า

18 มกราคม 2564

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดของโลกกำลังเพิ่มความรุนแรงตัวเลขคนเสียชีวิตใกล้แตะ 2 ล้านคน เป็นสัญญาณบอกเหตุว่าการแพร่ระบาดทั้งระดับโลกและของไทยคงไม่จบง่าย ๆ พรมแดนไทยติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอู่ข้าว-อู่น้ำที่แรงงานข้ามชาติทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายจะเข้ามาทำมาหากิน แม้แต่ขณะนี้กระบวนการลักลอบก็ไม่ได้ลดลงมีการเรียกค่าบริการเหมาเบ็ดเสร็จสูงกว่าเดิม เช่น กรณีประเทศเมียนมาร์ค่าใช้จ่ายจากเมืองผาอางห่างชายแดนไทยประมาณสามร้อยกว่ากิโลเมตรคิดต่อหัว 5 แสนจ๊าดเป็นเงินไทยประมาณ 12,500 บาทค่าใช้จ่ายฝั่งไทยประมาณ 15,000-20,000 บาท ฟังเขามาบอกต่อจริงเท็จอย่างไรไปสืบเสาะเอาเอง

มาตรการของรัฐบาลช่วงเฟสแรกเอาอยู่ขณะที่รอบใหม่อาจดูเซๆ งงๆ ไปบ้าง กลายเป็นจำเลยถูกกล่าวหาว่ากลไกรัฐมีความหย่อนยานไร้ประสิทธิภาพและมีผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้แรงงานต่างด้าวยังลักลอบเข้ามา กระทรวงที่รับผิดชอบด้านแรงงานโดยตรงออกมาแก้ต่างว่าตัวเองไม่บกพร่องเพราะแรงงานผิดกฎหมายมีอยู่ก่อนโควิดระบาดแถมบิ๊กเบอร์ต้น ๆ ของรัฐบาล “ปล่อยไก่” บอกว่าไม่มีบ่อนในประเทศไทย ภาพที่เห็นคือการแย่งกันทำงานทั้งหน่วยงานต่างๆในส่วนกลางและในแต่ละจังหวัดมีการแย่งซีน-แย่งหน้าทำให้ภาพลักษณ์ไปในทางลบ

ที่กล่าวนี้ไม่ได้เขียนเองแต่ได้มาจากผลสำรวจของซุปเปอร์โพลใครสนใจไปหาอ่านเอง ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจทั้งของธนาคารต่าง ๆ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ระบุว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชนกลับมาต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ความหวังของการแก้ปัญหาโควิดทั้งของรัฐบาลและประชาชนจึงไปฝากไว้กับ “วัคซีนป้องกันโควิด-19” ซึ่งแรก ๆ ดูว่าทีมสาธารณะสุขขึงขังกันดีคุยว่าไทยกำลังวิจัยผลิตและใช้ได้เองมาถึงวันนี้เงียบไปแล้ว อันที่จริงทีมสาธารณสุขรู้มากรัฐบาลก็พอมีงบประมาณทำไมการจัดหาวัคซีนจึงล่าช้าเห็นว่าล็อตแรก      จำนวน 2 ล้านโดสจะเข้ามาเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมจะตามมาอีก 8 แสนโดสนอกจากนี้เดือนเมษายนอีกหนึ่งล้านโดสรวมแล้วฉีดได้หนึ่งล้านคนแต่ยังต้องรอให้ “อย.” ขึ้นทะเบียนอนุญาตก่อน

เกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนชาวบ้านอย่างพวกเรารู้เรื่องนี้มานานหลายประเทศเขาเริ่มใช้กันมาแล้วแต่ทำไมของไทยจึงช้าและจำนวนที่นำเข้าก็ไม่มาก ขณะที่มีประชาชนที่ต้องการไม่น้อยกว่าประมาณ 50 ล้านคนแต่ทางหมอที่เกี่ยวข้องบอกว่าไม่จำเป็นต้องฉีดให้ทุกคนเพราะมีจำนวนจำกัด มีข้อมูลระบุว่าวัคซีนที่เหลือจะเริ่มทยอยเข้ามาใน ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ฉีดได้ครึ่งหนึ่งของประชากร ประเด็นคือการจัดลำดับการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิดจะทำกันอย่างไร งบประมาณของรัฐพอไหม หน่วยงานสาธารณสุข-โรงพยาบาลต่าง ๆ มีความพร้อมอย่างไร มีหน่วยงานท้องถิ่นต่างเสนอช่วยอุดหนุนเงินและขอเป็นผู้ดำเนินการเองให้พื้นที่ของตัวเองขณะที่โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องการ  เข้ามามีส่วนร่วมจะซื้อเองก็ได้เพราะว่ามีลูกค้าที่มีสตางค์พร้อมจ่ายมีเป็นจำนวนมากตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งทำโรดแมปให้ชัดเจน

มีคำถามมากมายว่าการจัดหาวัคซีนทำไมจึงล่าช้าในอาเซียนหากไม่นับกลุ่ม “CLMV” ไทยอยู่รั้งท้ายยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่มีการฉีดให้กับประชาชนทั้งประเทศ มาเลเซียนำเข้ามาแล้วเกือบ 20 ล้านโดสมีเป้าหมายฉีดให้ประชาชนร้อยละ 80 ภายในไตรมาส 2, ฟิลิปปินส์สั่งซื้ออยู่ระหว่างการนำเข้าประมาณ 50 ล้านโดส, อินโดนีเซียฉีดยาให้กับประชาชนและกลุ่มเป้าหมายมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและจะฉีดให้ประชาชนร้อยละ 40 จากจำนวน 107 ล้านคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ยกเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านมีความชัดเจนในการจัดหาวัคซีนซึ่งมีหลายแหล่งให้เลือกวันนี้อยู่ในขั้นตอนทยอยฉีดให้กับประชาชนแต่ของไทยรอก่อน

ทุกประเทศในโลกต่างให้ความสำคัญต่อวัคซีนโควิดเนื่องจากเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมาทุกมาตรการที่นำไปใช้ทั้งหน้ากากอนามัย, โซเซียลดิสแทนซิง, ล็อกดาวน์พื้นที่ ฯลฯ นอกจากทำเศรษฐกิจพังยังเอาไม่อยู่ ทางออกคือ “วัคซีน” ซึ่งต้องมีคุณภาพฉีดให้ครอบคลุมประชากรให้ได้มากสุดและจัดหาอย่างเร็ว กรณีของไทยการแพร่ระบาดระลอกใหม่หรือพูดให้ชัดคือ “รอบ 2”  แสดงให้เห็นว่ามาตรการต่าง ๆ ล้มเหลวทำให้ความเชื่อมั่นทั้งทีมแพทย์และทีมงานของรัฐบาลลดลงไปมาก แถมข้อมูลเชิงประจักษ์ระบุว่ากลไกรัฐมีความหย่อนยานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การระบาดกลับมา

สำหรับประชาชนฝากความหวังไว้กับการเข้าถึงการฉีดวัคซีนให้ได้สัดส่วนมากที่สุดทำให้วัคซีนจึงเป็นคำตอบและเป็นตัวแปรในการรับมือกับโควิดได้จริง ประเด็นคือความอืดอาดหรืออาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนขณะเดียวกันวัคซีนกลายเป็นประเด็นการหาเสียงทางการเมืองและดิสเครดิตซึ่งกันและกัน จากนี้ไปจะเห็นภาพนี้ชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากประชาชนทุกคนต่างต้องการเข้าถึงวัคซีนขณะที่ตัวเลขการนำเข้าอาจไม่พอเพียง กระบวนการนำเข้าให้ครอบคลุมคนครึ่งประเทศอย่างน้อยต้องไปถึงปลายไตรมาส 3 แต่ละจังหวัดซึ่งมีส.ส.ทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงการเมืองท้องถิ่นต่างช่วงชิงเพื่อเรียกคะแนนเสียง

ที่ต้องติดตามคือวัคซีนเมื่อฉีดแล้วจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้จริงไหม อีกทั้งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเมื่อใด เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นด้านการเดินทางทั้งด้านธุรกิจ-การลงทุนและท่องเที่ยวทั้งในประเทศและของต่างชาติจะกลับมาไทยเร็ว-ช้าเมื่อใด ทั้งหมดที่กล่าวล้วนเป็นคำถามและเป็นโจทย์ยากต้องเข้าใจว่าความเชื่อมั่นในวิกฤตรอบนี้ไม่ใช่มาจากด้านอุปสงค์หรือเศรษฐกิจเป็นหลักแต่มาจากด้านสาธารณะสุขเกี่ยวข้องกับความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันว่าเป็นพาหะในการนำโรค ทำให้การจับจ่ายใช้สอยและหรือการเดินทางจะไม่กลับคืนมาอย่างเร็วโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวซึ่งสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของประเทศออกมาระบุว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องปิดตัวถาวรไปแล้ว 1 ใน 3

ทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้คงดีกว่าปีที่แล้วแน่นอนแต่จะดีมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ออกมาเป็นแพ็คเกจแจกเงินเยียวยาให้ทั้งประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบและแรงงานกลุ่มเปราะบางที่ถูกเลิกจ้างหรือออกจากการงาน มีการอัดฉีดซอฟท์โลนเฟส 2 ตลอดจนการยืดหนี้ปรับโครงสร้างทั้งธุรกิจและบุคคล แต่ปัญหาเฉพาะหน้าคือให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนโดยเร็วที่สุด...งานนี้เป็นเต่าไม่ได้นะครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )