posttoday

ความแตกต่างมีได้...แต่อย่าบานปลายจุดไฟความแตกแยกของชาติ

30 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ผู้คนจำนวนมากต่างมีความกังวลต่อสถานการณ์ม็อปที่มีการแบ่งกลุ่ม-แบ่งสีอย่างชัดเจนมีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนที่เห็นต่าง สะท้อนจากมุมมองของสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่มีจุดยืนของตนเอง เดิมคิดว่าเป็นม็อปเด็ก ๆ ผูกโบว์สีขาวออกมาชูนิ้วเชิงสัญลักษณ์ไม่นานคงเบื่อและเลิกไปเอง ผ่านมา 3-4 เดือนก็ไม่ได้ลดลงถึงแม้ว่าแกนนำเจอสารพัดคดีบางคนไปนอนในคุกถูกจับกันเป็นรายวัน การเคลื่อนไหวทั้งความถี่และปริมาณคนที่มาร่วมกลับไม่ได้ลดลง มีการศึกษาวิจัยแบบไม่เป็นทางการระบุว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมาจากยุค“เจนวาย” เป็นวัยทำงานตอนต้นไปจนถึงอายุ 40 ปีมีผู้ชุมนุมร้อยละ 10 ไม่เคยร่วมกิจกรรมประท้วงทางการเมืองที่ไหนมาก่อน ที่กล่าวนี้ไม่มีอะไรเป็นนัยเพียงแต่ให้ข้อคิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ม็อปที่เรียกตัวเองว่าเป็น “กลุ่มราษฎร์” ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองเป็นลักษณะ “Flash Mop” ใช้การสื่อสารผ่านมัลติโซเชียลมีเดีย พื้นที่ชุมนุมไม่ปักหลักแน่นอนจุดนัดพบเปลี่ยนแปลงได้ไวและเป็นแบบไม่ค้างคืนไม่เหมือนกับรูปแบบเดิม ๆ ที่เป็นม็อปกีฬาสีรุ่นน้ารุ่นลุงที่มีแบบแผนแน่นอน ที่สำคัญไม่มีแกนนำชัดเจนคนที่มาร่วมมาจากหลากหลายโดยเฉพาะกทม.ชั้นใน การคมนาคมเชื่อมโยงด้วยรถไฟฟ้าทำให้เคลื่อนตัวได้ยืดหยุ่นรวดเร็ว การแก้ปัญหาม็อปยุคนี้มีความซับซ้อนไม่มีผู้นำชัดเจนไม่รู้ว่าจะต้องไปเจรจากับใครและจะไปลงเอยหรือจบอย่างไร

มีคนถามมามากว่ามีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด หากเกิดปีที่แล้วบอกได้เลยว่ากระทบแน่นอนโดยเฉพาะท่องเที่ยวเพราะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ม็อปราษฎร์บวกด้วยกลุ่มเสื้อเหลืองเปิดสนามช่วงอยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดเล่นงานเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างรุนแรง ถึงไม่มีม็อปเศรษฐกิจก็ทรุดตัวหนักสุดๆ อยู่แล้ว นักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3.3 ล้านคนหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์พร้อมกับการสูญเสียรายได้ไม่น้อยกว่า 1.65 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้นักท่องเที่ยวไทยได้อานิสงค์จากการกระตุ้นของรัฐบาลอย่างน้อยก็หายไปเกือบครึ่ง ด้านการลงทุนทางตรงจากเดิมปีละห้าแสนล้านบาทก็แย่แล้ว ปีนี้แค่ 9 เดือนมูลค่าการขอส่งเสริมลงทุนมีแค่ 2.33 แสนล้านบาท ข้อมูลจากกลุ่มค้าปลีกบอกว่าปีนี้หดตัวแน่นอนร้อยละ 6 กำลังการผลิตอุตสาหกรรม (CPU) ยังทรุดกับทรงเดินเครื่องจักรอยู่แค่ร้อยละ 63

พูดง่ายๆม็อปครั้งนี้ในความเห็นของผมมีผลต่อเศรษฐกิจไม่มากยกเว้นที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือตลาดหุ้นที่ตกใจง่าย เกิดอยู่ในช่วงเศรษฐกิจทรุดอยู่ก่อนแล้วอีกทั้งปีหน้าถึงแม้จะเริ่มฟื้นตัวแต่บนฐานที่ปีนี้ติดลบอย่างรุนแรง ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับ “Mop”

ในช่วงที่ผ่านมาเผชิญกับสารพัดม็อปเริ่มจากปี พ.ศ. 2548 กลุ่มเสื้อเหลืองนำโดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นรุ่นพี่ตำนานม็อปของไทยยึดทำเนียบรัฐบาลอยู่เป็นเดือนกลายเป็นแหล่งทัวร์ทั้งของคนไทยและต่างชาติ ตามมาด้วยม็อปเสื้อแดงเล่นเป็นมหกรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2553 เป็นมหากาฬถึงบุกโรงแรมที่ประชุมอาเซียนซัมมิทที่พัทยาต่อมามีการปราบปรามตายเฉียดร้อยเจ็บเป็นพันสร้างบาดแผลจนถึงวันนี้ พอมาถึง พ.ศ. 2556/2557 ม็อปนำโดยลุงกำนันเป็นมหกรรมใหญ่มีคนเป็นแสนตอนชุมนุมที่ถนนราชดำเนินปิดถนนมีบูทอาหารเลี้ยงดูปูเสื่อเลี้ยงดูกันทั่วหน้า มีระบบพยาบาลสนาม การ์ด มีศูนย์อำนวยการตลอดจนร้านขายของขายอาหารไปจนถึงของที่ระลึกไปม็อปสนุกสนานเหมือนไปเทศกาลอะไรทำนองนั้นกดดันรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ฯ ข้ามปีจนต้อง   ยุบสภาตามมาด้วยถูกรัฐประหารโดยคสช.

เห็นได้ว่าประเทศไทยผ่านการมีม็อประดับตำนานจำนวนของคนที่มาชุมนุมมากกว่าม็อปราษฎร์ผลที่ได้คือรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาและมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเป็นนายกรัฐมนตรีที่จะอยู่นานที่สุดของประวัติศาสตร์ไทยทำให้มีม็อปกลุ่มใหม่-หน้าใหม่-อายุน้อยกว่าเดิมออกมาเดินตามแนวทางเดิมเป็นวังวนย้อนหลังไป 15 ปี

อย่างไรก็ดีข้อเรียกร้องของพวกเขาอย่างน้อยก็ได้รับการตอบสนองบ้างถึงจะได้ไม่หมดเพราะบางข้อสุดโต่งเกินกว่าที่คนไทยจะรับได้ รัฐสภาถูกกดดันจนมีการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจของสว. ซึ่งแน่นอนว่าคงเลือกฉบับที่เป็น “คุณ” แก่ซีกรัฐบาลมากที่สุดก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรมีการตั้งกรรมาธิการพิจารณา “สสร.” เห็นว่าจะมี 200 คนแต่ยังเถียงไม่ลงตัวเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติแต่ระยะทางจนถึงมีรัฐธรรมนูญใหม่ยังอีกยาวไกลลุงตู่ยังคงอยู่ทำงานอีกยาว

การแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิที่จะทำได้ในอารยประเทศที่ยกระดับการพัฒนาเป็นของธรรมดา แต่ต้องมีขอบเขตเพราะประชาธิปไตยต่างกับอนาธิปไตย (Anarchy) ต้องมีกฎกติกาไม่ใช่เป็นแบบฝูงชนออกมาเรียกร้องแล้วต้องได้ทุกอย่างโดยไม่รับรู้ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเขาคิดอย่างไร

ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้ไปโจมตีม็อปเพียงแต่ให้ข้อคิดของคนที่เคยผ่านเหตุการณ์มาตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า 50 ปีวังวนประชาธิปไตยของไทยไม่ไปถึงไหนกลับมาอยู่ที่เดิมตั้งแต่ผมยังเป็นวัยรุ่นจนวันนี้มีหลานแล้วยังเห็นน้อง ๆ ออกมาเดินเต็มถนนย้อนรอยอดีต

ม็อปวันนี้จะไปจบที่ไหน-อย่างไร-เมื่อใด-ไม่รู้ แต่ผู้ปกครองบ้านเมืองรวมถึงนักการเมืองไปจนถึงนักกวนเมืองและน้อง ๆ ที่ออกมาเรียกร้องต้องไม่ให้บานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง ถึงตรงนั้นแล้วแก้ยากไม่ใช่แค่เศรษฐกิจที่กระทบแต่ประเทศที่อ่อนแออยู่แล้วก็พังทั้งกระดาน ทุกฝ่ายที่บอกว่ารักชาติแค่ถอยหลังคนละก้าวมานั่งคุยกันรับฟังปัญหาเพื่อหาทางออกไม่ใช่ไปท้าทายใช้อำนาจรัฐ อย่ายึดติดอำนาจการบังคับใช้กฎหมายต้องอยู่ในขอบเขตมิฉะนั้นจะเป็นปัจจัยตัวเร่งให้ไปดูประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและต่างชาติ “อำนาจ-กฎหมายและปืน” ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากการขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์มีแต่จะบานปลาย ความเห็นแตกต่างมีได้แต่อย่ายุแยงเป็นเชื้อจุดไฟให้เกิดความเกลียดชังและแตกแยก....ไปต่อไม่ถูกจริง ๆ ครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )