posttoday

กรรมการสมานฉันท์...แก้ปัญหาวิกฤตการเมืองได้จริงหรือ?

02 พฤศจิกายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ผ่านมาหลายวันขอเขียนควันหลงการประชุมวิสามัญรัฐสภาเพื่อหาทางออกแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง บอกได้เลยหมดความหวังที่จะใช้แนวทางรัฐสภาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 4 เสาหลักทั้งรัฐบาล พรรคร่วม ฝ่ายค้านและวุฒิสภาเอาปัญหาบ้านเมืองมาเชือดเฉือนต่างรักษาผลประโยชน์และอำนาจของกลุ่มตน ขณะเดียวกันผลการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลที่กรรมาธิการไปศึกษาเท่าที่ทราบยังหาข้อสรุปไม่ตรงกัน จะแก้ตรงนี้หรือตรงนั้นก็ไม่ได้เพราะไปขัดกับรัฐธรรมนูญที่เขียนล็อกไว้อย่างแยบยล แม้แต่จะทำประชามติขอความเห็นประชาชนเกี่ยวกับปมขัดแย้งยังอาจต้องมีการออกกฎหมายก่อนหรือไม่เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงไม่เป็นข้อยุติ

หากจะเหมารวมไปทั้งหมดคงไม่ได้หลายคนอภิปรายเข้าประเด็นมีข้อเสนอดี ๆ แต่ส่วนใหญ่ไปในทางเลอะเทอะอาศัยเวทีรัฐสภาไปด่าเด็กดูถูกความคิดคนรุ่นใหม่นอกจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหากลับไปสร้างปมให้ซับซ้อนต้องเข้าใจว่าม็อบที่ออกมาเป็นเพียง “ไอซ์เบิร์ก” ที่เห็นเป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่กลางทะเลอาร์กติก   แต่ที่ซ้อนทับปัญหาที่ใหญ่กว่าหลายร้อยเท่าไว้ใต้ทะเล จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงรากเหง้าว่าทำไมพวกเยาวชนจำนวนมากจึงคิดอย่างที่เป็นอยู่ อย่าลืมว่ากลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและจะเป็นพลังของชาติไม่ว่าเขาจะคิดผิดหรือถูกอนาคตเป็นของพวกเขาไม่ใช่คนสูงวัยที่มีอำนาจอยู่ขณะนี้ซึ่งอีก 10 ปีข้างหน้าหากไม่ตายไปก่อนก็คงเดี้ยงทำอะไรไม่ได้น็นพล

การบังคับใช้กฎหมายจับคนเข้าคุกเข้าตะรางควรทำกับผู้ร้าย อาชญากร คนโกงบ้านโกงเมืองไม่ควรนำมาใช้กับกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างโดยเฉพาะที่เป็นเยาวชนมีการศึกษาซึ่งเป็นผลพวงจากการพัฒนาระบบการศึกษาและสื่อการรับรู้ของไทยที่เปิดกว้างทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้กล้าแสดงออก แต่บางประเด็นอาจเลยไกลเกินไปกว่าที่สังคมไทยจะรับได้ทำให้มีกระแสโต้กลับ อย่างไรก็ตามประเทศไทยเดินมาถึงวันนี้ได้เป็นผลจากเยาวชนที่คิดนอกกรอบซึ่งหลายคนวันนี้ได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตแต่ลืมอดีตไปแล้วว่าตอนเป็นวัยรุ่นตนคิดอะไรอยู่ ทางออกคือทุกฝ่ายต้องพูดคุยกันเช่นประเด็นแก้รัฐธรรมนูญมีมาอย่างน้อย 22 ฉบับจะเพิ่มอีกสักครั้งคงไม่เสียหายที่ต้องตกลงกันคือมาตราใดที่ไม่ควรจะไป     “ก้าวล่วง” ก็อย่าไปเตะ มาตราอะไรที่เป็นปัญหาทำให้ติดล็อก เช่น บทเฉพาะกาลซึ่งที่จริงประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสบายใจเท่าใดก็ควรแก้ไข สำหรับซีกรัฐบาลเกาะกันเหนียวแน่นเนื่องจากส.ส.ไม่อยากไปเลือกตั้งใหม่สถานการณ์เช่นนี้คงอยู่ได้สบาย ๆ เพราะยังมีขั้นตอนอีกมากมาย

ภายใต้ความสิ้นหวังจากการประชุมรัฐสภาใช้เวลา 2 วันอย่างน้อยการประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเริ่มเห็นแสงสว่าง จากท่าทีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ทั้งฉบับโดยให้มีสมาชิก   สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปยกร่างทั้งฉบับหรือจะแก้เฉพาะประเด็นมาตรา 256 และบทเฉพาะกาลตัดอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แถมยังกล่าวว่าให้เชื่อใจว่าต้องการแก้ปมปัญหาเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมืองครั้งนี้เพียงแต่ว่าจะแก้เฉพาะประเด็นโหวตของส.ว.ก่อนหรือจะรอตั้ง “ส.ส.ร.” เสร็จแล้วจึงค่อยไปแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  ซึ่งบางมาตราล็อกไว้ไม่สามารถแก้ไขได้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีขั้นตอนซับซ้อนต้องใช้เวลาอีกยาวกว่าจะตั้งส.ส.ร.  รวมไปถึงขั้นตอนการร่างกว่าจะเสร็จไม่รู้ว่า 4-5 เดือนจะเสร็จไหม ยังต้องผ่านกระบวนการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใช้เวลาอีกหลายเดือนอย่างน้อยรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีหรือไปถึงพ.ศ.2565 ถึงตอนนั้นหากจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็คงไม่ใช่ปัญหา นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังหนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาหาทางออกให้ไทยพ้นวิกฤตหรือคณะกรรมการสมานฉันท์โดยโยนให้รัฐสภาเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งคุณชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภารับลูกส่งต่อให้สถาบันพระปกเกล้ารับไปศึกษารูปแบบโครงสร้างว่าจะทำอย่างไร

โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยอย่าไปติว่าเป็นการซื้อเวลาอย่างน้อยให้ทุกกลุ่มที่มีความเห็นขัดแย้งมีเวทีได้นั่งคุยกันโดยใช้เหตุและผล แม้แต่ม็อบขณะนี้บานปลายแบ่งเป็นสองขั้วหากปล่อยเนินนานจะเหมือนเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาที่มีม็อบเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ยุคนี้จาก “ม็อบชู 3 นิ้ว” แค่นี้ยังไม่พอมีม็อบเสื้อสีเหลือง-เสื้อสีชมพูเข้ามาเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งต่อ “Second Wave” ที่จะมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิดรอบสองอีกทั้งเศรษฐกิจ ณ เวลานี้อยู่ในสภาพเปราะบาง จากผลสำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคธุรกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่าความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่มาจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองโดยนักธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่าทำให้เศรษฐกิจแย่ลงถึงร้อยละ 68 กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากเดิมประเมินว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ปลายไตรมาส 2      ปีพ.ศ.2564 อาจล่าช้าไปถึงอย่างนานไตรมาส 3 ส่งผลต่อกำลังซื้อและการจ้างงานที่ยังไม่ฟื้นตัว

ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณทางบวกจากการส่งออกติดลบน้อยลงและกำลังการผลิตอุตสาหกรรมเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นมาถึงระดับร้อยละ 63.07 (จากเดิมไตรมาส 2 ร้อยละ 58.2)  อีกทั้งจำนวนธุรกิจจดทะเบียนตั้งใหม่ไตรมาส 3 เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลงร้อยละ 13 แต่จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการลดลงถึงร้อยละ 21 แสดงว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามหากปล่อยให้ปัญหาความขัดแย้งซึ่งกลายเป็นสองขั้วอาจทำให้เกิดความรุนแรงกระทบเป็นวงกว้างไปทั้งประเทศ การมีเวทีให้ทุกฝ่ายได้แสดงถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้หลุดพ้นจากวิกฤตจึงเป็นทางเลือกที่ดี แต่จากประสบการณ์ในอดีตเคยมีคณะกรรมการสมานฉันท์ในลักษณะนี้อย่างน้อยสมัย   นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ซึ่งไม่ได้ทำให้ปัญหาความขัดแย้งยุติเพราะหากทุกฝ่ายที่เข้ามาพูดคุยไม่เอาปัญหาของประเทศเป็นที่ตั้ง การเจรจาไม่ยึดหลักเหตุและผลเอาแต่ความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ต่างฝ่ายไม่ยอมถอยขณะที่กลุ่มการเมืองตัวแทนที่เข้ามาเจรจาเพียงเพื่อรักษาฐานอำนาจให้กับกลุ่มของตน....หากเป็นแบบนี้ก็สิ้นหวังครับ!

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )