posttoday

เพราะฉันจำเก่งอย่างนี้

16 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ Great Talk

ภาสกร-ถ้าอยากเป็นคนที่จำอะไรเป็นภาพแบบอาจารย์ผมควรเริ่มฝึกอย่างไร และทำไมอาจารย์ถึงเป็นคนที่คิดอะไรได้ไวมากๆ ฝึกยังไงครับ

  • วัสดีครับภาสกร

คำถามนี้แบ่งเป็นสองคำตอบครับ หนึ่งคือ การจำเป็นภาพ สองคือการที่เรามี Process ในการคิดให้ไว สมองคนเราแบ่งเป็นสองฝั่งให้ดูได้อย่างง่าย คือ ด้านขวาเป็นด้านความคิดสร้างสรรค์ การจินตนาการ ด้านความเข้าใจทางอารมณ์

ด้านฝั่งซ้ายคือด้าน ตรรกะ การเรียงลำดับ การคิดเชิงจัดเรียงและลำดับขั้นตอน ไปจนถึงการคำนวนทางตัวเลข

วิธีการที่จะสามารถคิดอะไรได้ดี ละเอียดและรวดเร็วไม่สามารถพึ่งพาสมองด้านเดียวได้ คือ ต้องอาศัยทั้งสองด้าน คล้ายกับการจินตนาการให้หลุดจากกรอบแล้วค่อยมาล้อมกรอบด้วยตรรกะหรือความเป็นจริง

การฝึกการคิดเป็นภาพ คือ การคิดเป็นภาพสุดท้ายเหมือนเราถ่ายภาพนิ่งและเห็นภาพนั้นจนเห็นรายละเอียดหรือคิดเป็นภาพเคลื่อนไหวเหมือนเราจินตนาการภาพเหมือนดูภาพยนต์อยู่ในหัว

แก่นสำคัญ คือ เราต้องรู้สึกร่วมกับภาพในหัวนั้นจนรู้สึกได้ ทำให้เราจะอินกับภาพในหัวนั้นๆ

ในช่วงแรกผมฝึกมองวัตถุที่วางอยู่นิ่งแล้วหลับตานึกภาพนั้นในหัวฝึกอย่างนี้ซ้ำๆจากใช้เวลามองหนึ่งนาทีสามสิบวินาทีไปจนถึงสามวินาทีแล้วจำรายละเอียดวัตถุนั้นๆให้ได้

พอคิดว่าเราเริ่มจำได้ก็เริ่มวาดออกมาเป็นภาพลงบนกระดาษ โดยไม่ได้เน้นความสวยงามแต่ให้เน้นรายละเอียดเก็บให้ครบเช่น โลโก้ยี่ห้อ หรือคำที่อยู่บนวัตถุนั้นๆ

การฝึกการเชื่อมโยงก็เป็นเรื่องสำคัญ เป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆเพื่อให้เกิดภาพและอารมณ์ของภาพต่อเนื่องเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นเพื่อไม่ให้กระจัดกระจาย

ลองสังเกตุที่จอดรถตามห้างสรรพสินค้าดู ว่าแต่ละชั้นที่จอดรถนอกจากจะมีระบุเลขชั้นแล้วส่วนใหญ่จะมีรูปสัตว์หรือผักผลไม้ที่มีสีที่แตกต่างกันอยู่ด้วย เช่น Floor1 (แล้วมีรูป สิงโตสีชมพู)

เพื่อให้สมองจดจำเป็นภาพว่า เราจอดรถไว้ชั้น สิงโต1 หากเราจะจำเป็นภาพให้ใช้วิธีคิดว่าเราจอดรถชั้นที่มีสิงโตสีชมพูนั่งเฝ้าหน้ารถอยู่เป็นต้น

หลักสำคัญของการจำเป็นภาพและคิดเป็นภาพนั้นมีข้อสำคัญอีกหลัก คือภาพนั้นต้องมีความชัดเจนและแตกต่างจนแยกออกได้ว่าเป็นภาพในจินตนาการไม่ใช่ภาพความเป็นจริง

ภาสกร สงสัยใช่ไหมครับว่าเอ๊ะ อ่าวแล้วทำไมต้องให้คิดภาพที่เกินความเป็นจริงในเมื่อเราต้องเอามาใช้ในความจริง

คำตอบคือ สมองเราจะจำเรื่องราวประหลาดๆ ได้มากกกว่าเรื่องราวทั่วไป

เช่นในกรณีที่จอดรถ หากเราจำแค่เพียงสิงโตหนึ่งตัวนั่งอยู่หน้ารถเรา บางทีเราอาจลืมได้ง่ายเพราะในชีวิตจริงเราอาจเคยเห็นสิงโตเป็นปกติอยู่แล้วแต่เราคงไม่เคยเห็นสิงโตสีชมพู ภาพประหลาดแบบนี้แหล่ะที่ทำให้จำได้ง่าย

หลังจากฝึกจำเป็นภาพเราค่อยพัฒนาให้คิดเป็นเป็นภาพและสื่อสารเป็นภาพตามลำดับ ขั้นต้นฝึกจำเป็นภาพความรู้สึกก่อน

ภาสกรลองนำไปใช้ดูนะครับ