posttoday

เศรษฐกิจไทยสัญญาณฟื้นตัว...ท่ามกลางปัจจัยความเสี่ยง

05 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ขอเริ่มต้นไตรมาสสุดท้ายของปีพ.ศ.2563 ด้วยข้อมูลเศรษฐกิจด้านดีบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมาผจญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดต่อเนื่องมาครึ่งปีถึงแม้ว่าด้วยมาตรการต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาลและ “ศบค.” จะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีเป็นต้นแบบของนานาชาติแต่เศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนล้วนสะบักสะบอม ดัชนี้ชี้วัดภาวะเศรษฐกิจทุกรายการล้วนหดตัว “GDP” ไตรมาส 2 ถดถอยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ -12.2%  คาดว่าค่าเฉลี่ยครึ่งปีหลังอาจหดตัวเหลือประมาณร้อยละ -8.5 กระทบต่อหลายภาคส่วนมีผู้คนตกงานกันเป็นจำนวนมาก   ทั้งนายจ้าง-ลูกจ้างล้วนอยู่ในภาวะยากลำบากโดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่ในภาคท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับต่างชาติถึงวันนี้    ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้วเริ่มเห็นสัญญาณแผ่ว ๆ ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ธุรกิจเอกชนบางแห่งเริ่มเห็นการฟื้นตัวแต่เป็นการฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำมาก ๆ ต้องยอมรับว่าเริ่มมีสัญญาณทางบวกซึ่งบ่งบอกว่าเศรษฐกิจของเราน่าจะเริ่มพ้นจุดต่ำสุด ขอเริ่มจากภาคส่งออกซึ่งมีสัดส่วนในเศรษฐกิจที่สูงมาก ๆ เกี่ยวข้องกับธุรกิจในโซ่อุปทานทั้งภาคการผลิต-บริการและเกษตรกรรม เดือนสิงหาคมตัวเลขหดตัวน้อยลงติดลบร้อยละ 7.94 เทียบกับค่าเฉลี่ย 3 เดือนที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ 19 ทั้งปีส่งออกยังคงติดลบไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8  อีกทั้งหลังการล็อกดาวน์และมาตรการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมาตรการชื่อเท่ ๆ ออกมามากมาย เช่น ชิม-ช็อป-ใช้, เราเที่ยวด้วยกันซึ่งรัฐบาลอุดหนุนค่าใช้จ่ายแต่เอาเข้าจริงชาวบ้านไม่มีสตางค์กระตุ้นเท่าไรก็ไม่ออกไปเที่ยวทำให้ไม่เข้าเป้ามีตัวเลขเหลือถึง 4.1 ล้านสิทธิ์

อย่างน้อยมาตรการเหล่านี้มีผลทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเดือนสิงหาคมการบริโภคของประชาชนหดตัว จากร้อยละ -4.5 เหลือลบ -1.1 ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าในรูปของอัตราเงินเฟ้อติดลบน้อยลงเหลือร้อยละ -0.98 ต่ำสุดนับตั้งแต่มีวิกฤตโควิด ดัชนีบ่งบอกการลงทุนในสินค้าถาวรของประชาชนในรูปของตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถกระบะเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ภาคเกษตรได้รับแรงหนุนจากมรสุมหลายลูกหลังมีฝนตกต่อเนื่องทำให้รายได้เกษตรกรเริ่มกลับมาเป็นบวกท่ามกลางราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ฯลฯ  ข้อมูลขัดแย้งกันเช่นนี้ไม่เข้าใจจริง ๆ ผลพวงของการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้นทำให้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (CPU) ขยับตัวจากเดิมร้อยละ 52.8  มาเป็นร้อยละ 60.7 แสดงว่าชั่วโมงการทำงานในภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาสะท้อนจากดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมที่ขยับตัวสูงขึ้นข้อมูลพวกนี้แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นฟื้นตัวได้ชัดเจน

ภายใต้สัญญาณริบหรี่ของเศรษฐกิจที่ดูว่าดีขึ้นอย่าพึ่งกล้าหาญที่จะกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แล้ว   หนทางยังอยู่อีกไกล ลองมาดูไส้ในถึงความเปราะบางและความเสี่ยงที่มีอยู่มาก เช่น การส่งออกดูเหมือนเริ่มดี แต่อุตสาหกรรมส่งออก 2 ใน 3 ล้วนหดตัวต่อเนื่องมาหลายเดือน เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เม็ดพลาสติก เหล็ก ข้าว ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ  ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังไม่เห็นสัญญาณใด ๆ ว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อใดเนื่องจากทั่วโลกกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดซึ่งกำลังขยายตัวมากขึ้น สำหรับมาตรการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้ “โครงการ SPV” เข้ามาเที่ยวเป็นแบบลองสเตย์อาจมีจำนวนไม่มากอย่างเก่งก็ไม่เกิน 3-4 พันคนเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.3 ล้านคนต่อเดือนที่หายไป ปีหน้าประเมินว่าอาจกลับมาได้แค่ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปีพ.ศ.2562

สัญญาณการฟื้นตัวที่ดูว่ายังน่าเป็นห่วงสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เปรียบเทียบเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนล็อกดาวน์กับตัวเลขผู้ประกันตนเดือนสิงหาคม พบว่าลดลงถึง 613,268 คน คิดเป็นร้อยละ 5.2  ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานผู้รับประโยชน์จากการว่างงานและเลิกจ้าง (ตามมาตรา 33) แสดงให้เห็นว่าสภาวะของธุรกิจ-อุตสาหกรรมอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เฉพาะแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมารับสตางค์ประกันสังคมเดือนสิงหาคมมีถึง 2.2 แสนคนและผู้ที่ว่างงานอีก 4.35 แสนคน

ตัวเลขที่อยากชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานไทยเข้าสู่วิกฤตสะท้อนจากจำนวนแรงงานต่างด้าวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาลดลงถึง 9.86 แสนคนคิดเป็นร้อยละ 33 ของแรงงานต่างด้าวในระบบทั้งหมดสาเหตุอาจเพราะกลับไปบ้านเนื่องจากกลัวด่านปิดและนายจ้างไม่มีงานให้ทำ เห็นตัวเลขพวกนี้แล้วน่าใจหายยังไม่รวมแรงงานไทย ซึ่งอยู่นอกระบบอีกจำนวนเป็นหลักล้านคนที่เคยมีงานทำแต่กลายเป็นผู้ว่างงาน ข้อมูลเหล่านี้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบจะต้องเข้ามาดูไม่ใช่ยืนกระต่ายขาเดียวว่าตำแหน่งงานมีเป็นล้านตำแหน่งแต่ไม่มีคนมาสมัครเอง

จากข้อมูลของธนาคารโลกหรือ “World Bank” ระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีจึงจะกลับมาได้เหมือนก่อนไวรัสโควิดระบาด ในอาเซียนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะต่ำสุดรองลงมาคือฟิลิปปินส์ขณะที่ประเทศเวียดนามจะขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างก้าวกระโดด หลายอุตสาหกรรมของไทยกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาจะย้ายฐานการผลิตหรือเตรียมการปิดโรงงานเพื่อไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าพานาโซนิค, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ฯลฯ  โดยมีเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายที่สำคัญ

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับบรรยากาศการลงทุนที่ต่ำ ความไม่แน่นอนทางการเมืองรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงสุดร้อยละ 83.8 ของจีดีพีตลอดจนการแก้ปัญหาโครงสร้างหนี้ซึ่งเนื้อในมีธุรกิจที่ไปไม่ไหวมีสัดส่วนค่อนข้างสูงทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่โดยนโยบายแก้วิกฤตภายใต้มีทรัพยากรจำกัดต้องไม่เหวี่ยงแห อย่าบิดเบือนกลไกตลาดทำให้ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ปัญหาที่ต้องเร่งแก้คือความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชนและการแข่งขันของเอสเอ็มอีแทบไม่มี หลังวิกฤตโควิดเศรษฐกิจไทยจะยิ่งถูกครอบงำโดยธุรกิจใหญ่ที่มาผูกขาดตลาดค้าปลีกจนแทบไม่มีช่องว่างให้ชาวบ้านได้ทำมาหากิน การแก้ปัญหาของรัฐบาลต้องมีความชัดเจนและต่อเนื่องเห็นโจทย์และเข้าถึงปัญหาท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจทำให้เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวอาจถูกลากยาวออกไป

เศรษฐกิจไทยภายใต้วิกฤตโควิดผ่านมาครึ่งปีเป็นความเจ็บปวดของประชาชนเป็นจำนวนมาก เริ่มเห็นสัญญาณทางบวกแต่มีปัจจัยเสี่ยงมากมายรัฐสภา-ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านอย่าเล่นเกมส์การเมือง อย่าเน้นพรรคพวก    อย่าสร้างภาพ ตัวอย่างในอดีตก็เห็นแล้วว่าทำให้บ้านเมืองเกือบล่มจม ใครที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาของแผ่นดินอย่าติดยึด-อย่าหลงอำนาจเขาไม่ได้เชิญมาเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องทุ่มสุดตัว....เวลาและอนาคตข้างหน้าจะบอกว่าเป็นวีรบุรษหรือซาตาน

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )