posttoday

สภาพคล่องธุรกิจและหนี้ครัวเรือน...วิกฤตที่รออยู่ข้างหน้า

14 กันยายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้เข้าสู่สภาวะถดถอยได้ยกระดับไปสู่วิกฤตสภาพคล่องของประเทศ (Liquidity National Agenda) ไล่เรียงตั้งแต่รัฐบาลที่ฝ่ายค้านระบุว่ากำลังถังแตกจากการที่เก็บภาษีได้ต่ำไม่พอกับรายจ่าย มีการกู้เงิน IMF และออกพันธบัตรเพื่อมาโปะมาตรการเยียวยา-กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 คาดว่าไตรมาสสุดท้ายยังหดตัวไป  จนถึงอย่างน้อยครึ่งปีหน้าเนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณทางบวก ผลที่ตามมาคือภาคธุรกิจส่วนใหญ่สภาพคล่องติดลบ วัน ๆ ไม่ต้องทำอะไรแค่หมุนเงินหาเงินมาจ่ายค่าวัตถุดิบ-ค่าใช้จ่ายในองค์กรและเงินเดือนพนักงานแค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว

ปัญหาขณะนี้สภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจเปรียบเหมือน “งูกินหาง” คู่ค้าธุรกิจต่างยืดหนี้หรือเลื่อนเวลาการชำระหนี้บางรายก็ชักดาบ จะขายของให้ใครต้องประเมินจะมีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้หรือไม่ คำสั่งซื้อที่มีน้อยอยู่แล้วก็ยิ่งน้อยลงกระทบถึงลูกจ้างทำงานไม่เต็มชั่วโมง ผลที่ตามมาบริษัทหรือโรงงานที่ตัวเองทำงานยอดขายลดลงฮวบฮาบ พวกที่ยังโชคดีไม่ถูกออกจากงานแต่ถูกลดค่าจ้างโอทีไม่ต้องพูดถึงแต่หลายธุรกิจรไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจสื่อมีการลดเงินเดือนลูกจ้าง ที่โชคร้ายถึงขั้นถูกออกจากงานหรือบริษัทเจ๊งกลายเป็นคนตกงานส่งผลไปถึงการจับจ่ายใช้สอยในรูปของการบริโภคหดตัวมากสุดเท่าที่เคยมี พอรายรับไม่พอรายจ่ายแต่ยังต้องกินต้องใช้ก็ต้องไปกู้เงินทั้งในระบบและนอกระบบบัตรเครดิตมีเท่าไรก็รูดหมด ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดมีจำนวน 13.479 ล้านล้านบาทสัดส่วน   คิดเป็นร้อยละ 80.1 สูงสุดเท่าที่เคยมีและในไตรมาส 3 จะสูงกว่านี้

ส่องกล้องเข้าไปดูไส้ในโครงสร้างหนี้พบว่าชาวบ้านหรือประชาชนที่ไปกู้หนี้ยืมสินส่วนใหญ่ร้อยละ 34.15 เป็นเงินกู้ที่นำไปใช้จ่ายการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคประจำวัน ตัวเลขนี้รวมหนี้จากบัตรเครดิตเกือบ 1.0 ล้านล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 7.15  หากผิดนัดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 12 (ลดจากอัตราเดิมร้อยละ 18) แต่ยังสูงกว่าดอกเบี้ยของหนี้ที่สถาบันการเงินปล่อยปกติถึง 2 เท่า ตัวเลขที่กล่าวนี้ยังไม่รวมเงินที่คุณพ่อ-คุณแม่กู้เงินไปจ่ายค่าเล่าเรียนและด้านการศึกษาของบุตรอีก 3.79 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.81  เอาเป็นว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ 1 ใน 3 นำไปใช้จ่ายส่วนบุคคลเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน

ปัญหาเชิงโครงสร้างเกิดจากพฤติกรรมของคนไทย ชอบสนุก-ชอบเที่ยวบางรายติดการพนันโดยเฉพาะหวย-สลากกินแบ่งซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้ามือใหญ่มอมเมาประชาชนแต่ละงวดอย่างน้อยต้องซื้อ 1-2 ใบแล้วไปนอนฝันหวานว่าจะเป็นเศรษฐี นิสัยคนไทยเป็นคนชอบสังสรรค์ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์จะเป็นงานแต่งหรืองานศพอุดหนุนเจ้าสัว 3-4 รายที่ผลิตเหล้า-เบียร์รายใหญ่ของประเทศซึ่งรวยเอา ๆ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายประเภทบุหรี่-ยาชูกำลัง ลองถามตัวเองว่าแต่ละวันรายจ่ายพวกนี้เป็นเงินเท่าใด หนี้ก้อนใหญ่ที่เป็นส่วนหนึ่งของหนี้ส่วนบุคคลแต่เอาไปวางไว้ว่าเป็นการลงทุนคือการกู้เงินไปซื้อรถไปซื้อพาหนะบางคนก็จำเป็นแต่บางคนก็เห่อตามเพื่อนมูลหนี้ ค่าเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์สูงถึง 1.742 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.0 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ที่แปลกและไม่เหมือนใครคือคนไทยซื้อรถยนต์ก่อนซื้อบ้านบางคนเช่าคอนโดหรือเช่าทาวน์เฮ้าส์หลังเล็ก ๆ แต่ขี่รถหรูคันละ 2-3 ล้านบาท หนี้เหล่านี้กำลังเป็นปัญหาจนต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้เพราะผ่อนไม่ไหว โดยรวมหนี้ที่เกิดจากการอุปโภค-บริโภคส่วนบุคคลทำให้เงินที่แท้จริงหายไปจากกระเป๋ามีผลต่ออำนาจการจับจ่ายใช้สอยเป็นกัปดักของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวได้ช้า

ลองมาดูภาคธุรกิจกันบ้างที่แปลกส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยไม่ว่ารายเล็กไปจนถึงรายใหญ่หากเศรษฐกิจขยายตัวทำให้ค้ากับขายได้ดีอยากได้กำไรมากกว่าเดิมก็กู้เงินมาขยายธุรกิจหรือสร้างโรงงานใหม่ พอเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างครั้งนี้เป็นวิกฤตเศรษฐกิจเงินหมด สภาพคล่องหาย หนี้การค้าและหนี้แบงค์ท่วมตัวก็กู้เงินมาโปะหนี้เก่าหรือมาประคองธุรกิจถึงดอกเบี้ยสูง ๆ ก็ยอมขอให้ได้มีสตางค์มาต่อลมหายใจ ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจขณะนี้กำลัง   คืบคลานเข้ามาใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กใหญ่ได้รับผลกระทบหมด

การฟื้นตัวของเศรษฐกินไทยว่าจะเร็วช้าต้องไปดูเศรษฐกิจในโลกซึ่งกำลังหดตัวอย่างแรง ล่าสุดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไตรมาส 2 หดตัวถึงร้อยละ 28 เห็นแล้วน่าตกใจ สำหรับสหรัฐอเมริกาหดตัวร้อยละ 32.9 ยูโรโซนหดตัวร้อยละ 12.1  ขณะที่อาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซียเฉลี่ยหดตัวมากกว่าร้อยละ 13 ของไทยก็ไม่เบาหดตัวร้อยละ 12.2  ตัวเลขพวกนี้บอกเป็นนัยว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอีกไกลที่บอกว่าจะฟื้นตัวได้เร็ว ๆ นี้เป็นการให้ยาหอมเพราะทั้งโลกกำลัง “ร่อแร่” แล้วไทยจะเก่งกาจเป็นซุปเปอร์แมนได้อย่างไร

ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจของไทยหดตัวต่อเนื่องมาจาก 9 เดือนแล้วที่ยังอยู่ได้ “อาศัยความอึด” แต่สภาพคล่องใกล้จะถึงจุดไม่ไหว ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินออกมาตรการช่วยเหลือยืดหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้ ตัวเลขสิ้นสุดเดือนกรกฎาคมมีสถานประกอบการและประชาชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 12.52 ล้านบัญชีรวมมูลหนี้ 7.25 ล้านล้านบาท โดยร้อยละ 45.6 เป็นสินเชื่อรายย่อยส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็น SME มาตรการจะสิ้นสุดในเดือนหน้า (ตุลาคม) แต่ดูจากสถานการณ์หากไม่ยืดเวลาออกไปคงได้เห็นหนี้เสียบานเบอะ ภาคเอกชนเสนอขอให้ยืดออกไป 1 ปี โดยงวดนี้จะไม่ทำเหมือนก่อนเพราะหลายธนาคารบอกว่าอาจมีลูกหนี้ที่ไปไม่รอดถึงร้อยละ 20-30 จำเป็นที่จะต้องปรับใหม่ภายใต้ “โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” ช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีศักยภาพมาตรการคล้ายของเดิม เช่น การขยายเวลาชำระหนี้ การลดค่างวดหรือการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระหนี้ให้สอดรับกับธุรกิจรวมถึงให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ เงื่อนไขต้องมีวงเงินสินเชื่อทุกแบงค์รวมกัน 50-500 ล้านบาทสถานะยังชำระหนี้ได้ปกติ แล้วพวกรายย่อยจะเอายังไงแถมธุรกิจเปราะบางจะทำอย่างไรตรงนี้ต้องบอกให้ชัด

วิกฤตสภาพคล่องที่กำลังส่อเค้ารัฐบาลต้องเข้ามาดูอย่างจริงจังในภาคธุรกิจเห็นสัญญาณมา 2-3 เดือนแล้วแม้แต่ลูกค้าในต่างประเทศที่ไม่ได้เปิด L/C การค้าขายก็ยังต้องระมัดระวัง สภาวะเศรษฐกิจซึ่งยังไม่มีสัญญาณบวกจะทำให้ถดถอยไปอย่างน้อยกลางปีหน้า เงินจะหมดกระเป๋าทั้งของรัฐบาล-ธุรกิจและครัวเรือน ยิ่งหากมีสถานการณ์ “Second Wave” ที่โควิดอาจกลับมาจะยิ่งไปกันใหญ่ผู้บริหารประเทศจะต้องเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบ มาตรการอะไรก็ต้องเร่งออกมากระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้กลับมาอย่างน้อยเป็นการประคับประคองอย่าให้จมน้ำ  ไปก่อน ที่สำคัญ....รัฐมนตรีคลังที่ยังว่างหาตัวเจอหรือยังครับ          

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )