posttoday

ถึงเวลาแล้ว...ต้องเอาจริงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

17 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

ข่าวครึกโครมที่ประชาชนสนใจช่วงนี้คือความไม่น่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาเรื้อรังที่คนไทยยังมีความกังขาขาดความเชื่อมั่นไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมในสังคม เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ภาพของอภิสิทธิ์ชนเป็นความคุ้นตาที่เห็นได้ทั่วไปเป็นคนใหญ่คนโตหรืออดีตข้าราชการ-นายทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่ต้องเข้าคิวมาหลังได้ไปก่อน    อยู่บ้านหลวงฟรี มีทหารรับใช้ แม้แต่ในโรงพยาบาลทหารมีการจัดลำดับชั้นยศในการเรียกบัตรคิว ชาวบ้านไปรอแต่เช้ามืดกว่าจะเข้าพบหมอต้องรอให้พวกนี้ไปก่อนเป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ยกมาให้เห็นพอเป็นน้ำจิ้ม

ต้องยอมรับว่ากฎหมายไทยเลือกปฏิบัติวันนี้คงไม่ต้องถกเถียงเนื่องจากกรณีของ “บอส” วรยุทธ์ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดงที่อัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องเป็นคดียาวกว่า 8 ปี พอชาวบ้านโวยต่างโยนกันระหว่างตำรวจทำสำนวนไม่ดีและไม่ทำความเห็นแย้ง ด้านสำนักงานอัยการสูงสุดเสียงแตกมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เร็ว ๆ นี้เห็นว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการอัยการ (อก.) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ว่าจะเอาอย่างไร แต่เป็นคดีใหญ่ประชาชนเขาเห็นชัด ๆ อยู่แล้วว่าขับรถชนคนตายขณะเมาสุราและเสพโคเคนว่าผิดหรือไม่ผิด หากไม่ผิดแล้วหนีทำไมเป็นคนอื่นไม่เป็นทายาทเศรษฐีคดีจะเป็นอย่างไร กลายเป็นตัวอย่างสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมของชาติกลายเป็นข่าวครึกโครมแม้แต่ในสื่อต่างประเทศ

วันนี้ศรัทธาความยุติธรรมของไทยในความรู้สึกของชาวบ้านล่มสลายไปแล้วสังคมไม่เชื่อมั่นและเสื่อมถอย ขาดที่พึ่งไม่มีความหวัง ล่าสุดกรณีการชุมนุมแฟลชม็อปมีการจับกุมนายอานนท์ นำภา ทนายความและแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชนปลดแอกตรงนี้ไม่ได้วิเคราะห์ว่าถูกหรือผิด แต่ประเด็นอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปขอให้ศาลสั่งขังแต่ศาลอาญาคืนคำร้องแทนที่เจ้าหน้าที่จะปล่อยกลับฝ่าฝืนคำสั่งศาลนำไปขังจนที่สุดศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไข ตกลงกระบวนการยุติธรรมของเราจะเอาอย่างไรจะใช้อะไรเป็นบรรทัดฐาน อย่าปฏิเสธว่าทุกขั้นตอนของระบบความยุติธรรมของไทย “ขาวสะอาด”  หากเป็นคนใหญ่คนโตเป็นผู้ที่มีเงินหรืออภิสิทธิ์ชนเข้าถึงกลไกผู้มีอำนาจทุกอย่างจบได้ แต่เรื่องพวกนี้ผมไม่อาจหาญพอที่จะเขียนลงลึก

หากจะยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมต้องเริ่มที่จุดสัมผัสใกล้ตัวประชาชนคือ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” หากถามว่าชาวบ้านมีความพึงพอใจและเชื่อมั่นความตรงไปตรงมา การไม่รีดไถ่ ยัดข้อหา จับแพะ ไม่รับสินบน แนะนำว่าลองให้มหาวิทยาลัยที่น่าเชื่อถือไปทำโพลสำรวจประชาชนว่ารู้สึกอย่างไรกับผู้ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แม้แต่ในวงการตำรวจเองการปรับยศเลื่อนขั้นตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่ยุติธรรมแล้วจะให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมอย่างไร ช่วงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารเข้ามาใหม่ ๆ รับปากว่าจะปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการตั้งคณะกรรมการเป็นเรื่องเป็นราวผ่านมา 6 ปีเศษมีผลงานอะไรบ้างเพราะเหมือนเดิม

รากเหง้าของปัญหาต้องแก้ที่จุดอ่อนที่เป็นต้นตอคืออำนาจของตำรวจ “ล้นฟ้า” ทั้งจับ-สอบสวน-ทำสำนวน-ส่งอัยการทำเองเบ็ดเสร็จทำให้มีช่องว่างมากต้องแก้ให้มีการคานอำนาจในลักษณะ “Check & Balance” ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ มีงานวิจัยและความเห็นมากมายทั้งกรรมาธิการ ตำรวจของรัฐสภา นักวิชาการ เวทีสัมมนา แม้แต่อดีตนายตำรวจใหญ่ ๆ ก็ออกมาให้ความเห็น การปฏิรูปตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเพราะยังมีอัยการเป็นหน่วยงานรัฐอยู่ตรงกลางน้ำที่พิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องพวกทนายเขารู้ว่าหากจะล้มคดีจะต้องเข้าถึงให้ได้ หน้าที่หลักของอัยการเป็นทนายของแผ่นดิน ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกบางประเทศการได้มาของอัยการระดับท้องถิ่นไปจนถึงอัยการรัฐและอัยการสูงสุดใช้วิธีเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเพื่อให้ปลอดจากอำนาจและการครอบงำ หากทำไม่ดีสามารถถูกประชาชนถอดถอนหรือไม่เลือกเข้ามาใหม่ กรณี “บอส” หากคณะกรรมการอัยการ (อก.) ที่จะมีการสอบสวนทางวินัยต้องเร่งให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฏออกมาโดยเร็วเพราะประชาชนยังคาใจ ขนาดระดับนายกรัฐมนตรีแสดงจุดยืนว่าไม่โอเคบอกว่าจะติดตามคดีอย่างใกล้ชิด

ระบบยุติธรรมที่อยู่ท้ายสุดหรือปลายน้ำคือกระบวนการทางศาลถึงแม้จะไม่ให้คะแนนเต็มร้อยแต่ยอมรับว่าในกระบวนการยุติธรรมของไทย “ศาลเป็นที่พึ่งได้มากสุด” อาจเพราะการตัดสินคดีของศาลอยู่ภายใต้พระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ ผมเคยเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานอยู่ 2 สมัยการพิจารณาคดีทุกครั้งมีทั้ง “ท่านกลาง” คือ ผู้พิพากษาและที่มาจากสมทบนายจ้าง 1 คนและฝ่ายลูกจ้าง 1 คนพอขึ้นนั่งบัลลังก์ไม่มีการแบ่งฝ่ายให้ความยุติธรรมเสมอกัน บางครั้งฝ่ายลูกจ้างระดับฮาร์ดคอร์เห็นว่าคู่ความที่เป็นผู้ใช้แรงงานผิดแต่ผู้พิพากษาที่มาจากนายจ้างกลับเห็นว่าลูกความที่เป็นลูกจ้างถูก อีกทั้งระบบศาลของไทยโจทย์และจำเลยยังสามารถอุทธรณ์และฎีกาคำตัดสินก็อาจจะพลิกเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

เพื่อไม่ให้เสียกำลังใจที่กล่าวมาไม่ใช่จะไปเหมาว่าผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเป็นคนไม่ดีไปทั้งหมด คนที่ดีทำหน้าที่ด้วยความสุจริต-เที่ยงตรงยังมีอีกมากเพียงแต่ว่าระบบของเราจะต้องได้รับการแก้ไขและปฏิรูป ความท้าทายของระบบยุติธรรมที่ความเท่าเทียมกันของไทยจะจบอย่างไรก่อนอื่นคงต้องไปรอดูคดี “บอส” วรยุทธ์ อยู่วิทยา ที่คณะกรรมการอัยการสูงสุดกำลังจะสอบสวนว่าจะลงเอยอย่างไร กรณีของทายาทกระทิงแดงอาจเป็นการเริ่มต้นให้มีการยกเครื่องปฏิรูปครั้งใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปยกเครื่องต้องทำทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางเพื่อสถาปนาความยุติธรรมให้ทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย สามารถเข้าถึงและได้รับอย่างเสมอภาคไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านฐานรากหรือเป็นผู้ที่มีอำนาจ มีเงินล้นฟ้าล้วนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันและได้รับความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน เป็นความหวังของคนไทยทั้งชาติเพียงแต่จะได้เห็นเมื่อใด...ไม่ต้องรอถึงชาติหน้านะครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )