posttoday

เมื่อความยุติธรรมถูกทำลาย ความอยุติธรรมเข้ามาแทนที่

05 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ Great Talk

สวัสดีค่ะ คุณเกรท ดิฉันชื่อ นิวนะคะ อยากถามคุณเกรท ว่า ทุกวันนี้ความยุติธรรมมีจริงไหมคะ คนจนไร้ทางเลือก คนรวยมีทางออกมากมาย ชีวิตดิฉันเองก็ไร้ทางเลือกค่ะ ทำอะไรก็ผิดไปหมด แล้วดิฉันเป็นคนแปลกไหมค่ะ รู้สึกอยากร้องเรียกหาความยุติธรรม จนเพื่อนๆหลายคนบอกไร้สาระ เรามันแค่พนักงานธรรมดาจะไปร้องเรียกอะไรได้ ช่วยตอบทีค่ะขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ คุณ นิว

ในมุมมองความยุติธรรมมันขึ้นอยู่กับว่าเราพูดคุยกันเรื่องมุมไหนนะครับ เพราะหากเราจำกัดความว่า คือ ความเท่าเทียม ในความเป็นจริงไม่มีความความเท่าเทียมกันที่แท้จริง เพราะความเท่าเทียมจะวัดค่าได้ตามหน่วยวัด เช่น พ่อแม่แบ่งก้อนเค้กให้ลูกคนละ ครึ่งปอนด์เท่าๆกัน ให้ลูกทั้งสองคน อย่างนี้พอจะวัดขนาดกันได้ใช่ไหมครับ

แต่พอเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างเช่น ความรู้สึก ความเท่าเทียมกันจะวัดได้ยากครับ เช่น หากเรารักลูกสองคนเท่าๆกัน เราต้องแบ่งเวลาการพูดคุยหยอกล้อ ,เวลาในการสอนให้ลูกๆใช้ชีวิตทั้งหมด มันจะวัดยากครับเพราะมันมองไม่เห็นอยู่ที่จังหวะไหน เราจะรู้สึกกับลูกคนไหนไม่เท่ากัน

ไม่เพียงแค่คุณนิวนะครับ ที่ร้องเรียกหาความยุติธรรมก่อนหน้านี้ หลายพันปีก็มีปราชญ์ในสมัยกรีกโบราณเช่น โสเครตีส เพลโต และอริสโตเติ้ลต่างก็พยายามหาคำตอบที่ว่า อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต? ความดีคืออะไร? และมนุษย์ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร? เอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าดี? ความดีนั้นเป็นสากลหรือไม่ หรือความดีจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมแต่ละยุคสมัย? ความยุติธรรมคืออะไรและใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน?

ความยุติธรรม เป็นตัวกำหนดทิศทางของสังคม ซึ่งความยุติธรรมของแต่ละสังคมไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น หากสังคมหนึ่งทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การพกปืนของเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ก็ต้องถือว่ายุติธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับด้วยกัน

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความยุติธรรมที่เป็นที่นิยมมากที่สุดเป็นความยุติธรรมที่ต้องอยู่คู่กับ คุณธรรมและจริยธรรม ที่เป็นเครื่องช่วยในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง และเหมาะสม แล้วความยุติธรรมแบบไหนที่คนส่วนมากจะยอมรับ

แนวคิดที่ยึดหลักคุณธรรม หรือคุณงามความดี (virtue)

อริสโตเติ้ล กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนจะต้องเลือกเองว่าจะทำอะไร ซึ่งดีสำหรับตนเอง และในขณะเดียวกันก็ดีสำหรับผู้อื่นด้วย ในการเลือกต้องใช้หลักของคุณธรรมมากกว่าที่เลือกตามความพอใจของตนเอง คุณธรรมสามประการที่อริสโตเติ้ลเน้นได้แก่

temperance (การรู้จักควบคุมตน, การข่มใจ,การรู้จักพอ), courage (ความกล้าหาญ) ความกล้าหาญ คือ การเลือกตัดสินใจด้วยเหตุผล ถึงแม้จะตระหนักถึงอันตรายที่อยู่ข้างหน้า ผู้ที่มีความกล้าหาญไม่ใช่ผู้ที่ปราศจากความกลัว แต่เลือกกระทำด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่กระทำคือความถูกต้อง ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่นขาดการไตร่ตรองด้วยปัญญา

justice (ความยุติธรรม) นั่นคือมนุษย์ทุกคนควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเท่าเทียมกันเหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนเอง

จริยธรรม (ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฏศีลธรรม)ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ethic คำว่า ethic มีรากศัพท์มาจากคำว่า ethos ในภาษากรีกซึ่งหมายถึงข้อกำหนดหรือหลักการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้อง และตรงกับคำในภาษาลาตินว่า mores ซึ่งต่อมากลายเป็นคำว่า morality ในภาษาอังกฤษ

หลักการของโซเครตีส คือ ถ้าความยุติธรรมถูกทำลาย ความอยุติธรรมเข้ามาแทนที่ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะการมีชีวิตอยู่เท่านั้นไม่เพียงพอ แต่ควรมีชีวิตอยู่อย่างดี ชีวิตที่ดีคือชีวิตอันงาม ชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

ของเพลโต้ ศิษย์เอกของโสเครติส คือ การที่ปัจเจกชนจะดีได้ต้องอาศัยรัฐโดยผ่านระบบการศึกษาซึ่งรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการคัดคน

อริสโตเติ้ล คือ ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการให้มีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยมวลสมาชิกในรัฐ และผู้ปกครองต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้แสดงทรรศนะได้อย่างเต็มที่

เห็นไหมครับทั้งอาจารย์และศิษย์ที่ตามกันมายังคิดไม่เหมือนกันเลย เราจะมัวคิดอะไรมากมาย มีความสุขบนความไม่ยุติธรรมบนโลกนี้เถอะครับ ^^