posttoday

ไทยประกาศชัยชนะเหนือโควิด...จุดเริ่มต้นของการกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ  

22 มิถุนายน 2563

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

นายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วประกาศอย่างเป็นนัยว่ามีชัยชนะเหนือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นกรณีศึกษาของประเทศที่มีการบริหารจัดการดีตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงชุมชน

ถึงแม้ฝ่ายค้านอาจมีการติติงบางมาตรการแต่ต้องยอมรับว่าระบบสาธารณสุขของไทยและความเก่งของทีมแพทย์ไม่แพ้ประเทศใดในโลก

การประกาศเลิกมาตรการต่างๆ ทำให้คนไทยสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอาจต้องปรับวิถีใหม่หรือ “New Normal” ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง

ที่ต้องลุ้น คือ การยกเลิกพรก.ฉุกเฉินหากไม่มีอะไรฉุกเฉินก็ไม่จำเป็นที่ต้องมีเพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้ากู้เศรษฐกิจและแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดได้จริง

ที่ต้องเร่งทำคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่วิกฤตครั้งนี้เล่นงานระบบเศรษฐกิจอย่างยับเยินธุรกิจน้อยใหญ่ที่ปิดตัวไปช่วงล็อกดาวน์การกลับมาฟื้นตัวใหม่เป็นความท้าทาย

ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพมองไม่เห็นอนาคตถึงแม้เริ่มเปิดกิจการแต่ลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอยหายไปมาก

ตามห้างหากเป็นวันหยุดพอมีคนบ้างแต่หากเป็นวันปกติทั้งที่อยู่ในช่วงเด็กยังไม่ไปโรงเรียนเงียบเหงายอดขายหายไปเกินครึ่งหรือมากกว่านั้น

เศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมาอยู่ได้เพราะเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีเงินหมุนเวียนแค่เดือนเมษายนมีเงินถึง 2.05 ล้านล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์

การฟื้นตัวกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติอาจใช้เวลา 2-3 ปีเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ

ประเด็นที่ต้องติดตามหลังเงินเยียวยาและเงินช่วยเหลือสารพัดโครงการหมดจะเป็นอย่างไร

เนื่องจากแรงงานตกค้างอย่างน้อย 3 ล้านคนยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ แค่คนว่างงานตามมาตรา 33 ยื่นขอรับสิทธิการว่างงานต้นมิถุนายนมีถึง 1.442 ล้านคน

กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่เห็นแสงตะวันประเภทโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจท่องเที่ยวหยุดกิจการไปเกือบหมดบ้างมีการประกาศขายเท่าที่ทราบมีมากกว่า 200 แห่ง

อีกทั้งภาคการผลิตอยู่ในช่วงชะลอตัวไปจนถึงหยุดงานชั่วคราวหรือทำงานไม่เต็มกำลังการผลิตที่หนักสุดคือกลุ่มยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตลอดจนอุตสาหกรรมในโซ่อุปทาน

ข้อมูลจากทีมวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารแห่งหนึ่งระบุว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมีถึงร้อยละ 46 ของอุตสาหกรรมโดยรวมและอีกร้อยละ 43 ได้รับผลกระทบปานกลางและยังระบุว่าการฟื้นตัวต้องใช้เวลาโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี   

สำหรับธุรกิจที่เคยติดล็อกดาวน์กลับมาเปิดใหม่ยังลุ้นว่าจะไปต่ออย่างไรเพราะกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอและขาดความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคต ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติประเมินว่าปีนี้หดตัวถึงร้อยละ 75 

“โครงการไทยช่วยไทย” อาจแค่เป็นเพียงยาหอมเพราะเม็ดเงินไม่มากโดยภาพรวมสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้นแต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้ทำให้คนจนของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัย จากการที่สถานประกอบการบางส่วนปิดกิจการแบบถาวรที่กลับมาเปิดใหม่ก็รับคนเข้ามาไม่หมด

สำหรับเด็กจบใหม่ที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ต้องพูดถึงหางานยากมากๆ ประเมินว่าการว่างงานในช่วงปลายไตรมาส 3 อาจสูงประมาณร้อยละ 7.85 ของกำลังแรงงานของชาติ ปัจจัยข้างเคียงคือหนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 5 เป็นหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 6.75 – 7.0 แสนล้านบาท

คาดว่าไตรมาสสองที่มีการปล่อย “Soft loan” หลายแสนล้านบาทจะทำให้หนี้ครัวเรือนขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลหลังประกาศชัยชนะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะต้องเร่งฟื้นฟูกู้เศรษฐกิจที่ทรุดตัวตกต่ำสุดให้กลับมาฟื้นตัว

ที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆคือ การพักรบการแย่งชิงอำนาจภายในพรรครัฐบาลไม่ใช่เป็นช่วงเวลาที่จะมาเลื้อยขาเก้าอี้กันเอง

การขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถนำเงิน 4 แสนล้านบาทซึ่งมีอยู่ในมือพร้อมที่จะใช้ มีหน่วยงานรัฐต่างๆ เสนอโครงการเป็นเงินสูงกว่า 2 เท่าของเงินตามพรก.เงินกู้ที่ผ่านรัฐสภา

ประเด็นคือเงินเหล่านี้จะลงไปถึงพื้นที่และไปถึงมือกลุ่มคนที่เดือดร้อนและเปราะบางได้จริงและรวดเร็วที่สำคัญเงินต้องไม่ตกหล่นหายไปรายทางหรือมีเงินทอนจะควบคุมกันได้อย่างไร

เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้โปรเจคมากกว่าสามหมื่นโครงการหากทำได้เต็มที่จะทำให้มีการสร้างงานในต่างจังหวัดได้มาก

สามารถช่วยผู้ที่ตกงานจากส่วนกลางหรือเด็กจบการศึกษาใหม่หางานไม่ได้ต้องกลับบ้านชนบท จะทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวได้บ้างเป็นการสร้างอำนาจซื้อทำให้ภาคการผลิต บริการ ค้าปลีกสามารถรักษาการจ้างงาน

โดยเฉพาะการจัดสัมมนาตามโรงแรมในต่างจังหวัดจะช่วยภาคท่องเที่ยวต่อลมหายใจในยามที่ไร้นักท่องเที่ยว

ข้อวิตกกังวล คือ อย่าเอาเงินส่วนนี้ซึ่งมีไม่มากไปเล่นแร่แปรธาตุหรือไปโยกใช้ในโครงการที่เป็นงบซ้ำซ้อนกับงบประมาณประจำของหน่วยงานรัฐต่างๆที่ถูกตัดไปก่อนหน้านี้

การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีการคาดกันไปต่างๆนานาอาจไม่เห็นผลระยะสั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆเพราะหลังวิกฤตเสียหายมากต้องกู้และซ่อมเศรษฐกิจที่ทรุดตัวให้กลับฟื้นมาใหม่

ขณะที่ปัจจัยภายนอกล้วนไม่เอื้อทั้งจากการแพร่ระบาดของไวรัสยังไม่จบอีกทั้งมีประเด็นความเสี่ยงรออยู่มากมาย ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนจะเข้มข้นกว่าเดิม

จากการที่ปธน.โดนัลทรัมป์ประกาศแซงชั่นจีนรอบใหม่ตามมาด้วยกรณีพิพาทพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดียและประเด็นความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก

ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อการหดตัวต่อการค้าระหว่างประเทศซึ่งแน่นอนย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่อาจติดลบมากกว่าที่   ประเมินไว้

ปัญหาภายในของไทยใช่ว่าจะเรียบร้อยจากพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆที่มีปัญหากันเองทั้งที่ซึ่งพ้นจากปริ่มน้ำไม่ต้องง้อพรรคเล็กพรรคน้อยควรจะมีเสถียรภาพแต่กลับมีปัญหาภายในรุกเร้า

การปรับครม.หรือทีมเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องแปลกในภาคเอกชนซีอีโอ (CEO) เทอมการทำงานส่วนใหญ่ 4 ปีระหว่างปีต่อปี

หากไม่ผ่านเกณฑ์ก็เลิกจ้างเปลี่ยนคนใหม่หรือครบเทอมก็ไม่ให้อยู่ต่อเพื่อที่จะเอาคนใหม่มีความคิดใหม่ๆ เข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่ทู่ซี้เอาแต่คนหน้าเดิมผูกขาดความเก่งแต่ผลงาน 6-7 ปีมีแต่คนจนเพิ่มขึ้นมายืนเข้าแถวรับแจกถุงยังชีพเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ปฏิเสธไม่ได้

การแก้ปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาอย่าทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีผูกขาดความอัจฉริยะควรดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วม

ที่สำคัญเลือกเอาตัวจริงไม่ใช่ร่างทรงของธุรกิจขนาดใหญ่พวกนี้กินเงินเดือนค้าขายไม่เป็นไม่รู้ปัญหาจริงเมื่อต้องมาทำงานร่วมกับเทคโนแครตที่เป็นข้าราชการอาชีพที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจทำให้การกู้เศรษฐกิจอาจล่าช้า

ที่สำคัญโครงการซอฟต์โลนต่างๆ ทั้งของธปท.และธนาคารออมสินที่ออกแคมเปญใหม่ต้องปล่อยจริง ไม่ใช่มีแต่ตัวเลขให้เงินเข้าถึงกลุ่มเปราะบางและเดือนร้อนจริง....เร่งทำหน่อยนะครับ