posttoday

พิษโควิด-19....ถึงขั้นรื้อยุทธศาสตร์ชาติ

08 มิถุนายน 2563

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

การรื้อแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นข่าวที่สื่อและผู้คนไม่ค่อยสนใจแต่เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นพิมพ์เขียวทางเดินของประเทศในอนาคต แผนชาติเป็นไฮไลท์ปฏิรูปเศรษฐกิจที่คสช.อ้างเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการเข้ามาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิบไตย เพราะเหตุการณ์ช่วงนั้นประชาชนขัดแย้งถึงขั้นจราจลต่อเนื่องมาเป็นปี ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศแทบจะพัง มีการจัดทำเป็นแผนระยะยาวบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเริ่มลงมือจริงจังมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 มีการระดมความคิดเห็นทั่วประเทศจากกลุ่มต่างๆ แล้วเสร็จประกาศใช้ในปีพ.ศ.2561 ใช้เป็นกรอบนโยบายบริหารประเทศระยะยาวมีสภาพเป็นกฎหมายในลักษณะแผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ทุกหน่วยงานของรัฐจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้อง โดยหวังว่าในปีพ.ศ.2580 จะทำให้ไทยยกระดับเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีรายได้ต่อคน 13,000 เหรียญสหรัฐ หากใช้อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันประมาณ 4.16 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 1.66 เท่าของรายได้ของคนไทยในปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์ชาติช่วงที่โปรโมทมีความคึกคักมีการออกอีเว้นท์เป็นงานใหญ่มีการประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งแรกปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2560 แต่พอข้ามปีการขับเคลื่อนและการรับรู้ของผู้คนค่อยลืมเลือนไปโดยเฉพาะหลังเลือกตั้งไม่ค่อยจะมีใครพูดถึงมีการวิจารณ์ว่ายุทธศาสตร์ชาติจับต้องได้ยาก บ้างว่าเป็นเครื่องมือสืบอำนาจของคสช.จริงไม่จริงก็ต้องมาดูว่ารัฐบาลชุดนี้มาจากไหน

โดยภาพรวมยุทธศาสตร์ชาติเป็นสิ่งที่ดีเป็น “Road Map” ของประเทศที่จะหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงไปสู่ประเทศที่มีความร่ำรวย เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาความร่ำรวยไปกระจุกกับกลุ่มๆใหญ่และกลุ่มเจ้าสัวเดิมๆ ที่รวยเอาๆ การพัฒนาที่ผ่านมาและการลงทุนเมกะ โปรเจคต่างๆ ยิ่งเพิ่มช่องว่างการเหลื่อมล้ำให้ห่างออกไป คนจนวันนี้มากกว่าเดิมตัวเลขผู้มีรายได้น้อยเป็นคนจน ของชาติที่ขึ้นทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีประมาณ 14.5 ล้านคนในจำนวนนี้ร้อยละ 36.5 เป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า เส้นความยากจนหรือ “Poverty Line”

คอลัมน์วันนี้นำเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมากล่าวท่ามกลางวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 เหตุเพราะรัฐบาลประกาศรื้อแก้ไขใหม่จะเรียกว่า “แท้ง”ก็ดูไม่ผิดเพราะพึ่งประกาศใช้มาเพียงเกือบ 3 ปี เดิมทีเดียวการแก้ไขจะมีการปรับปรุงทุกห้าปี เหตุผลที่ระบุจากผลกระทบของไวรัสโคโรน่าทำให้กระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอีกทั้งภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องเร่งปรับรื้อแบบเร่งด่วน จากการชี้แจงของสศช.ประเด็นที่จะแก้ไขใหม่จะให้เศรษฐกิจของไทยพึ่งพาตัวเองขับเคลื่อนจากการบริโภคภายในให้ความสำคัญกับภาคเกษตรเนื่องจากติดใจช่วงที่โรคระบาดไทยส่งออกอาหารได้ดี ขณะที่ภาคท่องเที่ยวจะไม่เอาเชิงปริมาณเน้นเชิงคุณภาพและสุขภาพ ภาคอุตสาหกรรมยังคงให้ความสำคัญโดยจะยังส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีให้เป็นหัวหอก สำหรับภาคบริการจะยกระดับเป็น “Modern Services” รองรับแพลตฟอร์มดิจิทัลรวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ระบบอัตโนมัติ และนวัตกรรม ฯลฯ

การปรับแก้แผนยุทธศาสตร์ชาติจะต้องนำเอาปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้เข้ามาเป็นหัวใจของการพัฒนาซึ่งถือเป็นหัวใจที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการที่จะมาแก้ไข ต้องยอมรับว่าการพัฒนาที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำดูเหมือนจะยิ่งขยายตัวมากกว่าเดิม ธุรกิจใหญ่ๆ หรือนายทุนที่เข้าถึงกลไกรัฐขยายธุรกิจแบบกินรวบหลังวิกฤตโควิด-19 จะเห็นความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากขึ้น การลงทุนในอีอีซีนอกจากต่างชาติสำหรับทุนไทยส่วนใหญ่เป็นของเจ้าสัวที่ได้สัมปทานของรัฐไป คำถามคือทำไมต้องเร่งที่จะต้องรื้อยุทธศาสตร์ในช่วงเวลาที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ระยะสั้นมีความสำคัญกว่า แถมจะต้องเร่งให้เสร็จภายในเดือนกันยายนซึ่งเป็นปีสิ้นสุดงบประมาณหรือเป็นการแก้ไขแผนชาติให้สอดคล้องกับการใช้งบประมาณก้อนใหญ่

การแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติซึ่งต้องใช้ไปอีก 20 ปีควรจะรอให้เศรษฐกิจนิ่งเห็นทิศทางอนาคตที่ชัดเจน ซึ่งจากช่วงนี้ไปถึงสิ้นปียังไม่รู้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปทางไหน ต้องยอมรับว่าโลกหลังวิกฤตโควิด-19 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของระเบียงโลกใหม่ทำให้ระบบการค้าแบบพหุภาคีในรูปแบบต่างๆถูกท้าทาย จำเป็นที่จะต้องติดตามวิถีใหม่ของโลกหรือ“New Normal”ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนสงครามเย็นในรูปแบบเทรดวอล์ระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีบทบาทอย่างไรต่อไทย แนวโน้มความคืบหน้าของข้อตกลงกรอบความร่วมมือต่างๆ ทั้งระดับโลกและภูมิภาค เช่น ความร่วมมือของอาเซียน +6 (RCEP)

รวมถึงข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTTP)ที่มาแรงเพราะถูกกดดันมากจากสหรัฐฯ แต่รัฐบาลยังไม่กล้าเอาเข้ามาพิจารณในรัฐสภาฯ ที่ต้องติดตามใกล้ชิดการเลือกตั้งปลายปีคุณทรัมป์ฯ จะยังกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 หรือไม่ การแข่งขันช่วงชิงการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกระหว่างจีนกับสหรัฐฯจะมีความเข้มข้น อย่างไรปัจจัยเหล่านี้เป็นโจทย์ใหม่ที่วันนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนแต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตการปรับแก้ยุทธศาสตร์จึงควรรอเห็นภาพเหล่านี้ให้ชัดเจน

ผู้เขียนเห็นด้วยกับการปรับแก้ยุทธศาสตร์ชาติหรือ “National Blue Print”แต่ที่ท้วงติงไม่จำเป็นต้องเร่งแก้ให้เสร็จภายใน 4 เดือน ไม่ใช่เห็นเหตุการณ์ใกล้ตัวซึ่งยังไม่ชัดเจนไปบรรจุไว้ในแผนใหม่ พอแก้ไขเสร็จก็ใช้ไม่ได้แถมไปล็อกแผนของพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ตลอดจนการใช้งบประมาณที่กฎหมายกำหนดต้องไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือมีอะไรที่ซ่อนเร้นควรรอหน่อยไว้ค่อยทำหลังฝุ่นตลบของพิษโควิด-19 หมดไป อาจทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมามีอะไรบ้างที่เป็นโจทย์ที่ต้องมาปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะการเปลี่ยนขั้วอำนาจทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ

ภาพที่จะต้องเห็นวิถีโลกใหม่หลังโควิด-19 ประเทศไทยมีจุดแข็งอะไรที่ยังเหลืออยู่ทั้งด้านท่องเที่ยว ส่งออก การลงทุน แรงงาน และค่าจ้างที่ในสิบปีข้างหน้ายังสามารถแข่งขันได้ ภายใต้ข้อจำกัดที่คนไทย 1 ใน 5 ยังอยู่ในกลุ่มที่ต้องแบมือขอเงินสวัสดิการแห่งรัฐ การหวังพึ่งเศรษฐกิจภายในซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของการค้าระหว่างประเทศจะสามารถทำได้อย่างไร ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงภายนอกและภายในที่กล่าวมาทั้งหมดจะต้องนำมาบูรณาการในการรื้อแก้ยุทธศาสตร์ชาติ เพียงแต่อยากให้ไปทำในปีหน้าอาจทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนดีกว่าที่จะรีบร้อนทำให้เสร็จไวๆ แล้วต้องมาแก้ใหม่อีกรอบ....จริงๆ นะครับ