posttoday

มาตรการคุมเข้มโควิด-19....ต้องควบคู่ไปกับการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ

11 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ

หลังคลายล็อคแพร่ระบาดไวรัสเฟสแรกจากการสุ่มตรวจพบว่าร้อยละ 3.57 ประชาชนบางส่วนมีการฝ่าฝืน ข้อปฏิบัติและขาดวินัยจนนายกรัฐมนตรีออกอาการหงุดหงิดขู่จะปิดหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ขณะที่ภาคเอกชนและชาวบ้านกดดันให้คลายล็อคมากกว่าเดิมเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลงมากประชาชนเริ่มหงุดหงิดไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

บางมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “ศบค.” ขัดแย้งกันเอง เช่น กินอาหารตามร้านต้อง “Social Distancing” ห่างกันเมตรหนึ่ง แต่ตอนนั่งรถไฟฟ้าอัดกันแน่นเป็นปลากระป๋องหรือครอบครัวเดียวกันกินอาหารต้องนั่งห่างกันแต่ตอนมาอยู่ในรถคันเดียวกัน

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้หนักหนามากที่สุดในประวัติศาสตร์ เดือนเมษายนตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 2.99 ต่ำสุดในรอบเกือบ 11 ปี เป็นการติดลบสองเดือนต่อเนื่อง หากเดือนพฤษภาคมยังติดลบทางเทคนิคเข้าสู่สภาวะเงินฝืด สะท้อนถึงภาวะการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตและตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ล้วนหดตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง คาดว่าไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจจะทรุดตัวหนักกว่าจำนวนแรงงานตกงานพุ่ง สูงถึง 7 – 8 ล้านคน เฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ร่วมล้านคน โรงแรมแบรนด์ดังระดับโลกทยอยปิดตัวแม้แต่ค่ายอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ปิดตัวชั่วคราวไปก่อนหน้านี้จนถึงวันนี้ยังไม่เปิด

ประเด็นที่พยายามจะสื่อสารขณะนี้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกตัวดับสนิท จากนี้ไปต้องอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมาตรการเยียวยาของรัฐบาลขณะนี้มีผู้อยู่ในข่ายทั้งแรงงานอิสระและเกษตรรวมกันประมาณ 26 ล้านคนหากยาวออกไปถึงไตรมาสที่ 3 จะใช้เงินไม่น้อยกว่า 8 แสนล้านบาทจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย จำเป็นที่จะต้องคลายล็อคเฟส 2 เปิดพื้นที่ทำมาหากินควบคู่ไปกับมาตรการเข้มงวดด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดกลับมารอบสอง

ตรงนี้เป็นโจทย์ยากแต่จะใช้มาตรการสาธารณสุขรอให้โควิดจบร้อยเปอร์เซ็นต์เศรษฐกิจคงพังคนจะตกงานเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศเริ่มมีการคลายล็อครีสตาร์ทธุรกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, อิตาลี, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เกาหลีใต้ ฯลฯ แม้แต่สวนสนุกดิสนีย์แลนด์ที่เซี่ยงไฮ้กลับมาเปิดให้บริการเหมือนเดิม

เนื่องจากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 คงไม่จบง่ายๆ ยาวแน่หากไม่เปิดไม่คลายล็อคธุรกิจต่างๆ จะทยอยเจ๊งและแรงงานจำนวนมากจะตกงาน คำถามคือประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วเขาไม่รู้หรือเขาโง่กว่าไทยหรือ?

กลับมาที่ประเทศไทยที่ผ่านมาการคลายล็อคเฟสแรกจำนวน 6 คลัสเตอร์ธุรกิจอย่างน้อยช่วยเปิดพื้นที่ให้คนกลับมาทำมาหากิน โดยเฉพาะแรงงานอิสระที่ทำงานในร้านอาหาร ร้านค้าปลีก หาบเร่-แผงลอย แต่แรงงานที่กลับมาอาจไม่ถึงครึ่งแต่อย่างน้อยคงเป็นหลักล้านคน ด้านการเยียวยาคงต้องทำต่อเนื่องไม่เช่นนั้นที่ลงทุนไปจะสูญหมดและเศรษฐกิจจะไม่ฟื้น ด้านเงินเยียวยาต้องออกมาเร็วและตรงกับผู้เดือดร้อนอย่าให้มีรั่วไหลเหมือนโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงแรงงานเตรียมเสนอครม.เพื่อพิจารณาการเพิ่มจ่ายเงินผู้ประกันสังคมจากการเลิกจ้างเพิ่มจากเดิมร้อยละ 62 เป็นร้อยละ 75 ยาวไปถึงสิ้นปี

รวมไปถึงลดอัตราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 4 ตรงนี้มาถูกทางสามารถช่วยสภาพคล่องให้นายจ้างได้มาก สมมุติหากมีลูกจ้างพันคนสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างน้อยเดือนละ 5 แสนบาทใช้เงินของสปส.เดือนละ 5,700 ล้านบาทอย่าไปหวงเพราะเงินนี้เป็นของนายจ้างและลูกจ้างหากไม่ใช้ครั้งนี้แล้วจะให้ใช้ตอนไหน

การคลายล็อคเฟส 2 คาดว่าจะมีการพิจารณาในช่วงปลายสัปดาห์นี้ควรพิจารณาการเปิดพื้นที่ศูนย์การค้าและโมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานของธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่สุดของประเทศเพราะมีร้านค้าย่อยน้อย-ใหญ่ มีแรงงานรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนและยังเป็นที่ระบายสินค้าของภาคอุตสาหกรรมถึงแม้ขณะนี้ยังอึดอุ้มแรงงานไว้แต่ก็อยู่ในสภาวะลำบาก สต๊อกสินค้าเหลือบานเบ๊อะเนื่องจากช่วง 2 เดือนไม่มีช่องทางจำหน่ายเหลือแต่ออนไลน์ซึ่งมีสัดส่วน ไม่มาก

ตัวเลขการส่งออกก็ชะลอตัวทำให้ต้องลดกะลดเวลาทำงานเฉลี่ยเหลือ 39.5 ชั่วโมงจากที่เคยทำ 48 ชั่วโมง อีกทั้งที่ผ่านมาไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใดจึงไปปิดห้างและร้านค้าย่อยที่จำหน่ายวัสดุ-อุปกรณ์ก่อสร้างกระทบไปถึงแรงงานในภาคก่อสร้างตกงานไปหลายแสนคนเป็นแรงงานระดับล่างหาเช้ากินค่ำที่สุดรัฐก็ต้องเข้าไปเยียวยา

ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนที่ไทยจะต้องตั้งรับให้ดีคือเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่สภาวะถดถอยเห็นได้จากไตรมาสแรกเศรษฐกิจในรูปของจีดีพีของประเทศต่างๆ หดตัวค่อนข้างรุนแรง เช่น จีน เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ -6.8, สหรัฐอเมริกติดลบร้อยละ -4.8, ประเทศต่างๆ ในยุโรปติดลบเฉลี่ยร้อยละ -5.4

ขณะที่ประเทศไทยเฉลี่ยน่าจะหดตัวร้อยละ 8.27 หากยังไม่คลายล็อคยังปิดเมืองอย่างที่เป็นอยู่เศรษฐกิจจะพังพินาศที่เริ่มเห็นชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมการบินของโลกกำลังล้มละลายกรณีของการบินไทยคงเป็นตัวอย่าง ขณะที่อุตสาหกรรมโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวของไทยขณะนี้ยังมองไม่เห็นอนาคตคาดว่าทั้งปีอาจหดตัวมากกว่าร้อยละ 60

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนซึ่งมีสัดส่วน 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมทั้งหมดคาดว่ายอดจำหน่ายอาจหายไปมากกว่าร้อยละ 30 จนค่ายรถยนต์ต่างๆ ยังปิดตัวชั่วคราวอยู่ในขณะนี้

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาศบค.และบุคลากรทางการแพทย์สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ดีตรงนี้ต้องยกนิ้วให้แต่ด้านเศรษฐกิจหากจะใช้มาตรฐานของแพทย์อย่างเดียวในเวลาเช่นนี้คงไม่ได้ โจทย์ที่ยากคือทำอย่างไรทั้งด้านเศรษฐกิจที่ต้องกลับมาฟื้นฟูขณะเดียวกันยังคงมีความเข้มข้นด้านสาธารณสุขเพื่อไม่ให้การระบาดกลับมา

เพราะยิ่งนานวันจะแก้ยาก คนตกงานรวมกับคนที่เดือดร้อนถึงขั้นไม่มีกินจนเริ่มมีการตั้งโรงทานทั่วประเทศ ภาพชาวบ้านและคนที่เคยมีงานทำจำนวนมากมายืนต่อคิวรับอาหารและของใช้เป็นภาพที่ผู้เกี่ยวข้องด้านการบริหารประเทศจะต้องให้ความสำคัญ

การฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการเปิดพื้นที่ให้ภาคธุรกิจกลับเข้ามาซึ่งจะตามมาด้วยแรงงานจำนวนมากให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้หากต้องรอให้การแพร่ระบาดเป็น “ศูนย์” ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใด....ถึงวันนั้นอาจจะช้าเกินไปไม่งั้นได้เจ๊งกันทั่วประเทศแน่นอน