posttoday

คลายล็อคดาวน์กับการแก้ปัญหาคนตกงาน

04 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

ปลายสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ หรือ “ศบค.” ประกาศปลดล็อค 8 ธุรกิจให้สามารถกลับมาทำการค้าขายได้ใหม่หลังถูกปิดไปเดือนเศษ

ส่วนจะเป็นภาคส่วนไหนบ้างคงเป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้ว ประเด็นที่อยากจะสื่อสารเพราะในช่วงที่ผ่านมามีคนมาสอบถามผมมากมายเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการล็อคดาวน์พื้นที่จะทำให้การว่างงานของคนไทยเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่ามาตรการของรัฐที่ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ละประเทศต่างงัดมาตรการต่างๆ เช่น ปิดประเทศ-ปิดสนามบิน ตลอดจนล็อคดาวน์พื้นที่ไม่ได้แตกต่างจากไทยแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและเมียนมาของเขาเข้มกว่าไทยด้วยซ้ำไป

สำหรับประเทศไทย ผลข้างเคียงที่เป็น “Side Effect” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนตกงานอาจมากกว่าที่คิดเพราะการปิดพื้นที่ต่างๆ เท่ากับไปปิดกั้นการทำมาหากินของผู้คนของประเทศ เดิมทีเดียวผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดถึงว่าจะมีคนตกงานจากการล็อคดาวน์ไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านคน

ช่วงแรกๆ ก็ไม่ค่อยกล้า เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นกระต่ายตื่นตูมอยู่คนเดียวแต่ตอนหลังภาคเอกชนต่างๆ ทยอยออกมาว่าการว่างงานครั้งนี้จะรุนแรงตัวเลขก็ใกล้เคียงของผม

มาวันนี้ผมประเมินว่าไม่น้อยกว่า 9.5 ล้านคน โดย 1.5 ล้านคนมาจากแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่เหลือเป็นแรงงานอิสระ

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดแรงงานของประเทศ ตัวเลขล่าสุดเดือนมีนาคมกำลังแรงงานซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี และพร้อมที่จะทำงานมีจำนวนประมาณ 38.21 ล้านคนในตัวเลขนี้มีคนว่างงานเป็นทุนอยู่แล้วใกล้ๆ 4.0 แสนคนหรือประมาณร้อยละ 1

ส่วนที่ตัวเลขว่างงานต่ำๆ ที่ขัดแย้งกับตัวเลขจริงเกิดจากคำนิยามที่เพี้ยนไม่สอดคล้องกับยุคสมัยซึ่งกล่าวไปก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้วงวดนี้ขอเก็บไว้ก่อน ในจำนวนกำลังแรงงานที่กล่าวมีแรงงานที่แบ่งออกเป็นแรงงานภาคเกษตรประมาณร้อยละ 29.3

ที่เหลือเป็นแรงงานนอกภาคเกษตรหากตัดพวกราชการหรือแรงงานบริหารรัฐ ภาคการศึกษา แรงงานที่เกี่ยวกับสุขภาพซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์พื้นที่ ที่เหลือก็จะเป็นแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ประมาณ 11.4 ล้านคน และเป็นแรงงานอิสระ 12.07 ล้านคน ตัวเลขพวกนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ

มีคำถามมากมายว่าวิกฤตครั้งนี้เมื่อเทียบกับต้มยำกุ้งซึ่งเกิดเมื่อ 22 ปีที่แล้วช่วงไหนหนักกว่า ถึงวันนี้ไม่ต้องบอกเพราะคงเห็นตรงกันหมดว่าการว่างงานงวดนี้ของจริง การว่างงานถ้าใช้ตัวเลขของผมเกินร้อยละ 20 สมัยวิกฤตต้มยำกุ้งประมาณร้อยละ 3.4

ครั้งนั้นเล่นสถาบันการเงินแล้วมากระทบผู้ประกอบการที่พึ่งเงินของแบงค์แต่ภาคส่วนอื่นยังดี เช่น ส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุน ราคาสินค้าเกษตรยังดี จึงประคองเศรษฐกิจและอุ้มแรงงานไม่ให้ตกงานมากและไม่ช้าก็กลับเข้าสู่สภาวะเดิม

แต่ครั้งนี้เหมือนกับสึนามิลูกใหญ่โถมเข้ามากวาดเกลี้ยงเล่นทุกภาคส่วนเพราะเป็นวิกฤตที่เกิดทั้งโลก ลองคิดดูคนทั้งโลกไม่เดินทาง ไม่ท่องเที่ยว ไม่ไปไหน แค่กินอยู่กับบ้านไม่ใช่จ่ายอย่างอื่นเศรษฐกิจก็ล้มครืนกระทบเป็นโดมิโน่ไปทั่วโลก

ประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกแบบปาท่องโก้แยกกันไม่ออก ส่งออกไตรมาสแรกเป็นเงินเหรียญสหรัฐขยายตัวร้อยละ 0.91 แต่เป็นเงินบาทติดลบร้อยละ 2.98 ไตรมาส 2 คงไม่มีทองคำเข้ามาช่วยอาจถดถอยมากกว่านี้

ด้านท่องเที่ยวยับเยินไม่เห็นแสงตะวันที่หวังคงเป็นนักท่องเที่ยวไทยแต่ก็คงต้องใช้เวลาส่วนต่างชาติปลายๆ ปี ค่อยว่ากัน การบริโภคภายในปิดล็อคไม่มีคนขายของ คนทำงานในเมือง Work Form Home ไม่ไปทำงาน ซื้ออาหารกลับมาบ้านหรือพึ่งบริการออนไลน์แทบไม่มีการจับจ่ายใช้สอย

พวกรายเล็กรายน้อยตั้งแต่แม่ค้าแผงลอยขายของข้างถนนไปจนถึงโมเดิร์นเทรดใหญ่ๆ ปิดกิจการแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ค่ายใหญ่ปิดชั่วคราวไปก่อนหน้านี้ เดือนพฤษภาคมก็ยังคงไม่เปิดและจะยังคงตามมาอีกมาก

จึงไม่แปลกที่มีผู้คนจำนวนมากออกมาโวยวายว่า “ไม่มีสตางค์จะกินข้าว” ภาวะเช่นนี้คนที่ผ่านมาหลายยุคสมัยไม่เคยเห็น เศรษฐกิจตกต่ำอย่างไรไม่ถึงขนาดไม่มีข้าวจะกิน ภาพคนที่ออกมารอรับบริจาคข้าวของยาวเหยียดสะท้อนว่าการบริหารประเทศที่ผ่านมาคงต้องทบทวนใหม่หมด

คนจนของเรายังเต็มเมืองใส่เงินเข้าไปเท่าไรไปตุงอยู่กับทุนใหญ่ งวดนี้ก็เหมือนกันใช้เงินเป็นแสนล้านบาทขอให้ลงไปถึงคนที่เดือดร้อนจริงๆ การคลายล็อคแบบผ่อนปรนก็เข้าใจได้ว่ารัฐบาลยังเกรงว่าการระบาดจะกลับมา

โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยเพราะว่าที่ผ่านมามาตรการที่ใช้ถือว่าเป็นยาแรงใช้แล้วต้องฟื้นเพราะรอบสองคงไม่เหลือใครแล้ว ซึ่งการคลายล็อคแบบเบาๆ อาจช่วยพวกร้านขายอาหารรายย่อยริมถนน แรงงานอิสระ พวกช่างทำผม ค้าปลีกในตลาดสด หากคิดเป็นตัวแรงงานก็น่าจะเป็นหลักล้านคนคงพอช่วยได้ระดับหนึ่ง

มาตรการของรัฐบาลต้องให้เขากลับมาทำงานเลี้ยงตัวเองให้ได้จำเป็นต้องหันไปประคับประคองสถานประกอบการอย่าให้เจ้งไปก่อนเศรษฐกิจฟื้น ต้องทำทั้งสองด้านคืออัดฉีดเงินเข้ากลุ่มผู้บริโภคซึ่งรัฐบาลมีตัวเลขทั้งเกษตรกรและแรงงานอิสระรวมกันกว่า 26 ล้านคน

หากใช้ฐาน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนตกเป็นเงิน 4.0 แสน ล้านบาท จะทำให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคสินค้าซึ่งจะทำให้การจ้างงานกลับมาในระบบ แต่ต้องเตรียมก๊อก 2 ไว้เพื่อทำต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจคงไม่ฟื้นได้เร็วๆ นี้

เนื่องจากเครื่องยนต์หลัก 2 เครื่องยังไม่ทำงาน คือ ส่งออกและการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีผู้คาดการณ์ว่าอาจไปถึงไตรมาสสองหรือไตรมาสสี่ เงินเยียวยาต้องให้เร็วและถึงมือคนที่เดือดร้อนจริงๆ

ส่วนการเยียวยานายจ้าง คือ สภาพคล่อง เงินของธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาทหมดเกลี้ยงภายในเวลา แค่ 10 วัน สถาบันการเงินเน้นช่วยลูกค้าเก่าที่มีวงเงินเครดิตอยู่แล้วและสภาพธุรกิจยังไปได้ ซึ่งไม่ใช้เรื่องผิดเพราะเขาก็กลัว NPL แต่ช่วงเวลานี้ใช้มาตรการแบบเดิมเจ้งหมดแน่นอน

เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าไม่มีไม่รู้ว่าจะเปิดพื้นที่เมื่อใด ไม่รู้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาวันไหนต้องเป็นการให้ความช่วยเหลือในลักษณะกองทุนคล้ายๆ กับที่คุณปั้น (บัณฑูร ล่ำซำ) อดีต CEO ของธนาคารกสิกรไทยเขาช่วยเหลือโดยมีกองทุนประมาณ 500 ล้านบาท เป็นการยกเว้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เจ้าของธุรกิจเลิกจ้างแรงงาน

รายละเอียดคงต้องไปดูเองเนื้อที่ไม่พอ เอาว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจงวดนี้ต้องคิดต่างจากเดิมให้แล้วต้องให้แบบสุดๆ ครึ่งๆ กลางๆ เงินให้ไปก็เสียของเศรษฐกิจจะฟื้นยาก....จริงๆ นะครับ