posttoday

กดดันปลดล็อคโควิด-19....ดัชนีคนติดเชื้อลด แต่ตกงานไม่มีกินเพียบ

27 เมษายน 2563

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

กระแสกดดันให้บิ๊กตู่คลายปลดล็อคมาตรการคุ้มเข้มป้องกันแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ “COVID-19 EXIT” มีมากขึ้นเป็นผลจากตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยลดลงมาก ทำให้ภาคธุรกิจตลอดจนประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนกดดันให้คลายผ่อนปรนพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อที่ให้ธุรกิจกลับมามีรายได้

ขณะที่จำนวนคนตกงานและเดือดร้อนจากการปิดพื้นที่และเคอร์ฟิวมายื่นขอการเยียวยาเกือบ 29 ล้านคน ตัวเลขผู้ผ่านเกณฑ์น่าจะอยู่ประมาณ 11.5 – 14 ล้านคนกลายเป็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสของไทยลดลงในระดับที่น่าพอใจแต่ตัวเลขคนตกงานบางส่วนถึงขั้นอดอยากเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล

แต่ดูเหมือนว่าทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ หรือ “ศบค.” ยังรีรอเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมโรคเพราะกลัวระบาดรอบใหม่ คาดว่าวัน-สองวันนายกรัฐมนตรีอาจเคาะผ่อนคลายบางมาตรการและบางพื้นที่คาดว่าจะมีการต่อขยายเวลาประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินฯและอาจขยายช่วงเคอร์ฟิวออกไปอีก

ด้านองค์กรอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนไทยว่ายังเร็วเกินไปที่จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพราะโรคอาจกลับมาระบาดใหม่เหมือนที่เกิดในสิงคโปค์แถมบอกว่าการตรวจหาผู้ติดเชื้อของไทยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเกณฑ์

คำถามว่าไทย ถึงเวลาที่จะเปิดเมืองผ่อนคลายมาตรการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสหรือยัง ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าการที่ออกพรก.ฉุกเฉินให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเล่นคนเดียวเบ็ดเสร็จผ่าน “ศบค.” ซึ่งล้วนเป็นข้าราชการประจำกอปรกับทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีความเป็นมืออาชีพจนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย ขนาดประธานาธิบดีทรัมป์ออกปากชมแต่ยังคุยว่าเป็นรองสหรัฐฯ

คำตอบเรื่องนี้การปลดล็อคดาวน์หรือ “COVID-19 EXIT” คงต้องค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากยังมีความเสี่ยง ล่าสุดมีคนติดเชื้อจำนวนมากจากมาเลเซียทำให้บางจังหวัดภาคใต้ตอนล่างกลายเป็นพื้นที่สีแดงและยังมีคนไทยในต่างประเทศหนีตายเป็นหมื่นจ่อกลับเข้ามา

ในด้านเศรษฐกิจและปากท้องธุรกิจต่างๆ ทั้งทางตรงทางอ้อมกระทบหนักมากแม้แต่อุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนซึ่งมีแรงงานรวมกันประมาณ 7.5 แสนคน ประกาศหากสถานการณ์ยืดเยื้อถึงเดือนมิถุนายน จำเป็นต้องปรับเป้าการผลิตจาก 2 ล้านคันเหลือ 1.4 ล้านคันหรือลดลงประมาณร้อยละ 30 กระทบโรงงานผลิตชิ้นส่วนกว่าสามพันโรงงานอาจต้องปิดกิจการเสี่ยงคนตกงานหลายแสนคน

ขณะที่ค่ายรถยนต์ใหญ่ 6 ค่ายหยุดผลิตชั่วคราวไปก่อนหน้านี้แล้ว

อีกทั้งภาคท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนักสุดแทบไม่มีคนเข้าพักถึงแม้เริ่มผ่อนคลายให้เครื่องบินในประเทศกลับมาบินใหม่ คาดว่าคงไม่ได้ฟื้นกันได้ง่ายๆ ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่าดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมต่ำสุดในรอบ 2 ปีเศษเป็นผลจากการปิดศูนย์การค้า-ร้านค้าธุรกิจบริการรวมถึงเคอร์ฟิวทำให้ผู้คนไม่เดินทางอยู่แต่ในบ้านการบริโภคลดลง

กำลังซื้อหดตัวอย่างรุนแรง คาดว่าผลกระทบจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนมีการกล่าวว่าขณะนี้ “ประชาชนกลัวอดตายมากกว่าตายเพราะติดเชื้อโควิด-19”  ที่เห็นชัดเจนภาพของคนจำนวนมากเข้าแถวรอรับอาหารสิ่งของที่มีคนบริจาคแม้แต่ในกทม.ประชาชนยากจนในสลัมหลายแห่งอยู่ในภาวะที่อัดกันอยู่ในพื้นที่จำกัดไม่มีหน้ากากอนามัย

การอดอยากขาดแคลนอาหารการกินเป็นภาพที่ไม่ควรจะเห็นในวันนี้ หากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จบรัฐบาลต้องกลับมาแก้ไขความยากจนทบทวนโครงการยุทธศาสตร์ชาติ อย่าไปเพ้อฝันกับเมกะโปรเจคที่เอื้อแต่ทุนใหญ่รวยเอาๆ ขนาดประเทศมีวิกฤตยังต้องออกจดหมายเชิญให้มาช่วย

ด้านผลกระทบการจ้างงานขณะนี้ตัวเลขน่าจะพุ่งเกินร้อยละ 13 – 20 ของกำลังแรงงานเป็นจำนวนมากสุดเป็นประวัติการณ์หากปล่อยยาวออกไปธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่จะพากันเจ้งเป็นระนาวกระทบไปถึงหนี้เสีย NPL ของสถาบันการเงินถึงตอนนั้นแก้ยากมากๆเพราะจะเอาเงินที่ไหนไปเยียวยาธุรกิจที่ปิดตัวทั้งแบบถาวรและชั่วคราว

ตัวเลขผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบเป็นแรงงานนอกภาคเกษตรที่อยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยาห้าพันบาทใช้เงินไม่น้อยกว่า 4.2 แสนล้านบาทยังไม่รวมครัวเรือนเกษตรที่ขึ้นทะเบียนอีก 7.5 ล้านครัวเรือนใช้เงินไม่น้อยกว่า 1.12 แสนล้านบาท

สำหรับเงินช่วยสภาพคล่องธุรกิจของธนาคารออมสิน 1.5 แสนล้านบาทแค่สิบกว่าวันหมดแล้วตอนนี้รอของธนาคารแห่งประเทศไทย “ธปท.” ห้าแสนล้านบาทมีแต่ตัวเลขแนวปฏิบัติยังไม่มา

แต่การปลดล็อคสตาร์ทอัพ เปิดพื้นที่เศรษฐกิจครั้งใหม่ยังคงต้องคำนึงว่าโรคร้ายยังแพร่ระบาดทั่วโลกรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านการคลายมาตรการควรจะค่อยเป็นค่อยไปมีความชัดเจนว่าพื้นที่ใดไม่มีความเสี่ยงพื้นที่ใดมีความเสี่ยงน้อยจนไปถึงเสี่ยงมากที่ยังต้องมีเงื่อนไข

บางธุรกิจเช่น ร้านตัดผม ค้าปลีก-อุปโภคบริโภคร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือหรือธุรกิจที่มีการปฏิสัมพันธ์คนกับคนไม่มาก ควรคลายให้เขาได้ทำมาหากิน

สำหรับร้านอาหารส่วนหนึ่ง สามารถทำธุรกิจบน Online หรือ Delivery แต่รายได้คงหดไปมาก การเปิดศูนย์การค้าหรือร้านอาหารคงต้องมีมาตรการ    คุมเข้มว่าจะป้องกันการแพร่ระบาดมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่าการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ของอาเซียนและของโลกกำลังพุ่งทะยานสูงแต่ละวันคนป่วยคนตายมากกว่าเดิมคาดว่าคนติดเชื้อสะสมเกินสามล้านแน่นอนและคนตายเกินสองแสนคนแล้ว

ตรงนี้ต้องสำเนียกไว้ว่า ไทยจะรอดอยู่คนเดียวท่ามกลางคนติดเชื้อล้มตายรอบด้าน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับอนามัยระดับโลกก็ออกมาเตือนภัยว่าไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบการคลายล็อคยังมีความเสี่ยงมาตรการคุมเข้มเหล่านี้เป็นกันทั่วโลก

ประเด็น คือ จะอยู่กันอย่างไรการปิดล็อคพื้นที่ทำให้ธุรกิจกำลังจะเจ้งคนตกงานเพิ่มขึ้นทุกวันหากปล่อยยาวเศรษฐกิจของประเทศก็พังรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้หากคลายล็อคลดหย่อนมาตรการซึ่งทีมแพทย์ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะโอกาสการแพร่ระบาดอาจกลับมารอบสองกลายเป็นว่าคนติดเชื้อคนตายมากขึ้นเศรษฐกิจก็พังรัฐบาลก็พังตาม

การออกพรก.ฉุกเฉินให้อำนาจบิ๊กตู่ฉายเดียวรวมศูนย์เป็นทั้งข้อดีข้อเสียเพราะนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลนั่งตีขิมเพราะไม่ได้อยู่ในทีมหากประเทศรอดก็ได้ด้วยหากพังบิ๊กตู่รับไปคนเดียว

ขณะที่ฝ่ายค้านเตรียมถล่มทั้งการออกพรก.ฉุกเฉินและการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลซึ่งแน่นอนต้องมีช่องมีรูเยอะ ระวังเหมือนสมัยคุณยิ่งลักษณ์ฯ    ตอนรับซื้อข้าวช่วยชาวนา งานนี้บอกตรงๆ เห็นใจท่านนายกฯ....แต่ท่านอาสามาเองเหนื่อยแทนครับ