posttoday

ติดตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางในเศรษฐกิจหลัก

27 เมษายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 32.30-32.80 โดยแนวโน้มการชะลอลงของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาใหม่ทั่วโลกยังเป็นประเด็นสำคัญ ประกอบกับแผนการผ่อนคลายการปิดเมืองในประเทศต่างๆ ด้านมาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาคาดว่าจะยังคงมีเพิ่มเติมต่อเนื่อง โดยในสัปเดาห์นี้ ธนาคารกลางในเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นจะมีการประชุมนโยบายการเงิน ซึ่งคาดว่าเฟดและอีซีบีจะผ่อนคลายเกณฑ์การให้สภาพคล่องและซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญญาหาสภาพคล่องของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ด้านบีโอเจมีแนวโน้มปรับเป้าหมายการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็นการซื้อแบบไม่จำกัด ด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในรอบสัปดาห์นี้ สหรัฐฯ จะรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรก ซึ่งตลาดคาดว่าจะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี รวมทั้งตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของยูโรโซน ในส่วนของไทย ธปท. จะรายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนมีนาคม โดยตลาดคาดว่าจะยังเป็นการเกินดุลต่อเนื่อง

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าสู่ภาวะกลัวความเสี่ยง เมื่อราคาน้ำมันราคาของสัญญาล่วงหน้าของน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์และเข้าสู่ระดับติดลบ เนื่องจากภาวะปริมาณน้ำมันล้นตลาดและการขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย ขณะที่ยุโรปแม้ว่าจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำของสหภาพแต่ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปด้านมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยที่ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่ออกมาในสัปดาห์นี้ยืนยันว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัว อาทิ ยอดขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานในสหรัฐฯ ในช่วง 5 สัปดาห์ล่าสุดคิดเป็นมากกว่า 26 ล้านคน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยุโรปและสหราชอาณาจักรลดลงกว่าเดิม ขณะที่ตลาดผิดหวังจากการทดลองยาต้านไวรัส remdesivir ในจีนของบริษัท Gilead ที่ล้มเหลว ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางจีนลดอัตราดอกเบี้ยผู้กู้ชั้นดี (Loan prime rate: LPR) ระยะ 1 ปีและ 5 ปีลง 20bps และ 10bps มาอยู่ที่ 3.85% และ 4.65% ตามลำดับ โดยที่รัฐบาลจีนเตรียมระดมทุนผ่านการขายพันธบัตรวงเงิน 1.0 ล้านล้านหยวนเพื่อนำไปใช้สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนธนาคารกลางยุโรปเตรียมปรับเกณฑ์มาตรการสภาพคล่อง โดยรับหุ้นกู้ต่ำกว่าอันดับน่าลงทุนเป็นหลักประกัน ซึ่งจะต้องเป็นหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออย่างน้อย BBB- ก่อนวันที่ 7 เมษายน 2020 มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบของการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ต่อการเข้าขอสภาพคล่องในตลาดการเงินของผู้ประกอบการ โดยการผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าวจะมีอายุถึงเดือนกันยายน 2020

ในด้านของไทย เงินบาทโดยรวมแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน เนื่องจากตัวเลขการส่งออกของไทยตามระบบศุลกากรที่กลับมาขยายตัวในเดือนมีนาคม แม้ว่าจะมาจากปัจจัยพิเศษของการส่งออกทองคำในช่วงที่ตลาดโลกกลัวความเสี่ยง การส่งคืนยานพาหนะและอาวุธในการซ้อมรบกลับไปยังสหรัฐฯ และการส่งออกหมวดอากาศยานและส่วนประกอบซึ่งอาจชี้ว่าการส่งออกยังคงเสี่ยงกลับมาหดตัวในเดือนต่อไป ประกอบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยที่ทรงตัว ทำให้รัฐบาลเริ่มพิจารณาประเด็นการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดลง อีกทั้งแผนการกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายตามมาตรการของรัฐ มูลค่า 1 ล้านล้านบาทเริ่มชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะประกาศว่าเป็น จะแบ่งการกู้ออกเป็น 2 ช่วง คือ กู้เงิน 6.03 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2020 และที่เหลืออีกประมาณ 4 แสนล้านบาทจะกู้ในปีงบประมาณ 2021 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติในสัปดาห์หน้า ในงวดแรกเป็นการกู้เงินในวงเงิน 7 หมื่นล้านบาทเพื่อจ่ายเงินเยียวยา Covid-19 คนละ 5,000 บาทตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน ในจะระดมทุนจากสถาบันการเงินผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) อายุ 4 ปี และประมูลวันที่ 29 เม.ย. เพื่อเบิกจ่ายได้ในวันที่ 8 พ.ค. ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ Moody’s ที่ลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงเป็น “ทรงตัว” จาก “บวก” ไม่ได้มีผลต่อบาทมากนัก เนื่องจาก S&P และ Fitch ได้ลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในลักษณะเดียวกันไปก่อนแล้ว ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.44 ในวันศุกร์ (เวลา 16.55 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปัจจัยสำคัญเริ่มจากประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้โครงการเข้าซื้อสินทรัพย์แบบไม่จำกัดวงเงินมาอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวันระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 3.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เห็นชอบมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจวงเงิน 4.84 แสนล้านบาท ประกอบด้วย (1) วงเงิน 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายใต้โครงการ Paycheck Protection Program เพื่อรักษาระดับการจ้างงานสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (2) วงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับปล่อยสินเชื่อและเงินเยียวยาภายใต้โครงการ Economic Injury Program และ (3) วงเงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับโรงพยาบาลท้องถิ่น และการตรวจหาเชื้อไวรัส ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาวงเงินมาตรการเยียวยา Covid-19 ของสหรัฐฯ สูงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเด็นใหญ่อีกเรื่องคือราคาของสัญญาล่วงหน้าของน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับลดลงติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สะท้อนความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากมาตรการปิดเมืองทั่วโลกและการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยกดดันให้อุปสงค์ลดลง ทำให้ปริมาณน้ำมันในคลังทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเราเชื่อว่าราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลกดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำเช่นกัน ส่วนตัวเลขสำคัญที่มีการประกาศคือยอดผู้เข้าขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงในสัปดาห์ก่อน โดยเพิ่มขึ้น 4.427 ล้านราย จาก 5.245 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้า ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4.5 ล้านราย ทำให้ยอดรวมในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 26.5 ล้านราย โดยอาจทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงถึง 20% ในเดือนเมษายน ซึ่งคิดเป็นสองเท่าของวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2009

สำหรับประเด็นในประเทศมีความคืบหน้าเรื่องที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เตรียมกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นกู้เงิน 6 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2020 และที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทจะกู้ในปีงบประมาณ 2021 สำหรับการกู้งวดแรกแบ่งเป็นการกู้เงินในวงเงิน 7 หมื่นล้านบาทเพื่อจ่ายเงินเยียวยา Covid-19 คนละ 5,000 บาท ในรูปแบบการระดมทุนจากสถาบันการเงินผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) อายุ 4 ปี สำหรับการกู้ในระยะถัดไปจะเป็นการกู้ทั้งสั้นและยาว อาทิ การกู้จากธนาคาร การกู้ระยะยาว (Term Loan) ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) และตั๋วเงินคลัง และมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้รายย่อยประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยเน้นการกู้ในประเทศไม่ต่ำกว่า 80% ด้านการกู้จากต่างประเทศ มีองค์การระหว่างประเทศ เช่น World Bank และ ADB มายื่นข้อเสนอแล้ว การกู้ดังกล่าวจะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 51.84%GDP ปีงบประมาณ 2020 และ 57.96% ในปีงบประมาณ 2021 อ้างอิงจากประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ที่ -5.3% ในปี 2020 และ +3% ในปี 2021 ตามลำดับ ทั้งนี้แผนการกู้เงินของสบน. ไม่ได้กระทบต่อตลาดตราสารหนี้มากนัก เนื่องจากใช้ช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลายและอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลจะออกเพิ่มในตราสารอายุสั้นคือตั๋วเงินคลังซึ่งคาดว่าจะไม่กระทบกับตลาดมากนัก โดยความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีการปรับตัวลดลง โดยเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลง และนักลงทุนส่วนใหญ่ของตลาดยังคงคาดหวังว่า ธปท.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในการประชุมเดือนพฤษภาคม เป็นปัจจัยสนับสนุนการเข้าถือพันธบัตรรัฐบาลในระยะข้างหน้า โดย ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.65% 0.70% 0.77% 0.92% 1.11% และ 1.24% ตามลำดับ

ติดตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางในเศรษฐกิจหลัก

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 7,273 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 154 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 7,757 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 330 ล้านบาท ถือเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นที่เห็นเม็ดเงินต่างชาติไหนเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยในรอบ 9 สัปดาห์