posttoday

เศรษฐกิจปากเหว....แรงงานเสี่ยงตกงานมากสุดในรอบ 75 ปี

13 เมษายน 2563

ไวรัสโควิด-19 เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในระดับโลกซึ่งหนักสุดในรอบศตวรรษ ภาคเอกชนออกมาครวญว่าสาหัสสุดๆ เห็นตรงกันว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540/2541 ชิดซ้ายเทียบไม่ติด

เพราะช่วงนั้นส่งออก-ท่องเที่ยว-การลงทุนกับต่างชาติได้อานิสงค์ลดค่าเงินบาทบวกกับเศรษฐกิจโลกยังคงดี ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดแต่ก็ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองปีเศรษฐกิจจึงกลับคืนมาเหมือนเดิม

หากเปรียบเทียบกับวิกฤติไวรัสระบาดรอบนี้ สมัยก่อนเรียกว่า “โรคห่า” ถึงขั้นต้องปิดเมืองย้ายเมืองไม่ต่างกับยุคนี้ที่ล็อคดาวน์-เคอร์ฟิวทั้งกทม.และจังหวัดต่างๆ ปิดไม่ให้เข้า-ออก ในระดับนานาชาติประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกปิดสนามบินล็อกผู้คนไม่ให้มีการเดินทางจนธุรกิจการบินทรุดตัวถึงครึ่ง

เศรษฐกิจไทยเหมือนอยู่ปากเหว เนื่องจากพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในระดับสูง ภาคส่งออกปีนี้หดตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ด้านท่องเที่ยววันนี้ทั้งคนไทยและต่างชาติไม่เดินทางทำให้โรงแรมร้างบางแห่งหนีตายไปเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม-สถานที่ท่องเที่ยวชายหาดปิด แม้แต่งานสงกรานต์ ปีนี้ไม่มี

สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติ (FDI) เวลาอย่างนี้ใครจะลงทุนแค่ที่ทำอยู่ให้รอดก็เหนื่อยแล้ว ประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจปีนี้จะหายไป 1.0 ล้านล้านบาท เป็นเหตุผลรัฐบาลกลัวเศรษฐกิจจะหดตัวรุนแรงจึงเตรียมอัดฉีดเงินและมาตรการคิวอีกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 – 2.0 ล้านล้านบาท

ผลกระทบด้านแรงงานจะเห็นแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบตกงานหนักสุดในรอบ 75 ปี ข้อมูลนี้ไม่ได้โมเมเขียน เพราะองค์กรแรงงานโลก (ILO) เร็วๆ นี้ออกมาระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวกระทบแรงงานทั่วโลก สอดคล้องกับแถลงการณ์ของ UN ที่ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจและความเสี่ยงตกงานจะเลวร้ายที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงวันนี้คงไม่มีใครออกมาปฏิเสธว่าจะเกิดการตกงานครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมี

สำหรับผู้ที่ติดตามคอลัมน์นี้ คงทราบว่าเขียนมาหลายครั้งว่าการว่างงานอาจแตะ 7.5 ล้านคน เคยมีโอกาสนำเสนอรมว.แรงงานให้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะตามมา

ปลายสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ออกมาระบุว่าโอกาสการว่างงานเดือนมิถุนายนหากเอาไม่อยู่เศรษฐกิจจะหดตัวมากและรุนแรงกระทบทุกภาคส่วน ตั้งแต่รายใหญ่จนไปถึงรายย่อยทำให้การว่างงานจะประมาณ 7.13 ล้านคน

ขณะที่ข้อมูลของรัฐบาลคาดว่าการคัดกรองผู้ว่างงานจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลจะต้องเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทจะอยู่ที่ประมาณ 8 - 9 ล้านคนเกรงว่าธุรกิจจะล้มระเนระนาดมีการออกพรก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อย “Soft Loan” ผ่านธนาคารพาณิชย์วงเงิน 5.0 แสนล้านบาท

พร้อมทั้งให้มีการพักชำระหนี้ตลอดจนมาตรการอื่นๆ เป็นการทำคิวอีครั้งแรกของประเทศไทยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 10 ของจีดีพีสูงสุดเท่าที่เคยมี

ขออนุญาตโฟกัสเฉพาะผลกระทบที่มีต่อภาคแรงงานตัวเลขล่าสุดคนที่มีงานทำมีอยู่ประมาณ 37.63 ล้านคน ยังไม่รวมคนว่างงานที่มีอยู่แล้วประมาณ 4.2 ล้านคนและแรงงานเกษตรที่รอฝนฟ้าอากาศอีก 3.6 แสนคน ตัวเลขนี้ทางการไม่ยอมรับว่าเป็นผู้ว่างงาน หากส่องกล้องแต่ละคลัสเตอร์ที่มีความเสี่ยงตกงานเริ่มจากภาคท่องเที่ยวข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติมีประมาณ 2.99 ล้านคน

แต่ตัวเลขของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบอกว่ามีถึงสิบล้านคน ขณะนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวปิดตัวไปแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ประเมินว่าน่าจะมีแรงงานไม่มีงานทำไม่น้อยกว่า 1.925 ล้านคน แต่ทางกกร.ระบุว่าอาจมีประมาณ 9.78 แสนคนและมัคคุเทศก์หรือไกด์อีกเจ็ดหมื่นคน

ภาคส่วนที่อุ้มคนมาก คือ ภาคค้าปลีกได้รับผลกระทบไปอย่างเต็มๆ เพราะถูกประกาศปิดไปก่อนหน้านี้ยกเว้นร้านค้าปลีกประเภทเซเว่น ตอนหลังก็เจอเคอร์ฟิวแต่คงกระทบไม่มาก ถึงแม้ว่าจะหันไปซื้อออนไลน์แต่สัดส่วนก็ยังต่ำมากประมาณร้อยละ 5 คาดว่ามีธุรกิจค้าปลีกที่ปิดตัวจากล็อกดาวน์ประมาณ 1.5 แสนกิจการ หากยืดเยื้อกระทบแรงงานประมาณ 1.0 – 1.5 ล้านคนตัวเลขนี้ได้มาจากสมาคมค้าปลีกไทย

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับร้านอาหารเจอไปแบบเต็มๆ กระทบแรงงานประมาณ 2.5 แสนคน สำหรับธุรกิจก่อสร้างตัวเลขทางการประมาณ 2.38 ล้านคนแต่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระบุว่าแรงงานที่ได้รับผลกระทบมีแค่หลักไม่ถึงแสนคนซึ่งรวมแรงงานต่างด้าวไว้ด้วยแล้วตัวเลขนี้น่าจะประเมินต่ำไป

คราวนี้มาดูแรงงานในภาคบริการส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบไล่เรียงมาตั้งแต่สปาและนวดแผนโบราณประมาณ 1.5 แสนคนตัวเลขนี้ไม่รวมหมอนวดอ่าง ขณะที่ร้านเสริมสวยประเภทต่างๆ จำนวน 1.2 แสนกิจการถูกปิดไปเช่นกันสมาคมที่เกี่ยวข้อง ระบุว่ามีแรงงานคนประมาณ 3.6 แสนคน

ภาคบริการยังประกอบไปด้วยแรงงานอิสระ เช่น แม่ค้า-พ่อค้า, แผงหาบเร่, ออนไลน์, แท็กซี่, วินมอเตอร์ไซด์, ธุรกิจประเภทแกร็บรวมถึงคนขายล็อตเตอรี่กระทรวงการคลังจัดว่าเป็นแรงงานที่ต้องได้รับการเยียวยา ตัวเลขของกระทรวงการคลังระบุว่าแรงงานเหล่านี้มีประมาณ 5 ล้านคนแต่ของผมคาดว่าน่าจะไม่เกิน 1.9 ล้านคนเพราะส่วนใหญ่ไปรวมอยู่ในภาคค้าปลีก

เศรษฐกิจของไทยเชื่อมต่อกับนานาชาติหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในระดับโลกยังยืดเยื้อภาคที่จะกระทบตามมาคือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัตราการว่างงานจะสูงขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกกลุ่มเสี่ยง 14 คลัสเตอร์ ซึ่งรายได้การส่งออกหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ยังติดลบ

เริ่มจากอุตสาหกรรมยานยนต์สองเดือนแรกหดตัวถึงร้อยละ 9.8 ทำให้ค่ายใหญ่ 6 ค่ายปิดโรงงานชั่วคราวไปแล้วกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงซัพพลายเชนชิ้นส่วนประกอบที่ตามมาได้แก่ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์, แผงวงจรไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า, เม็ดพลาสติก, เครื่องนุ่งห่ม, อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ฯลฯ

ที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่างเพียงเท่านี้ คงเห็นได้ชัดเจนว่าไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศรุนแรงมากกว่าที่คิด วันนี้เราอาจสาละวนอยู่กับการป้องกันการแพร่ระบาดตลอดจน “Social Distancing” แต่เมื่อสถานการณ์จบสิ่งที่ต้องเผชิญคือ “After Shock” ในรูปแบบของสึนามิที่เศรษฐกิจจะถดถอยการฟื้นตัวต้องใช้เวลาลองเปรียบเทียบกับสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งใช้เวลาเป็นปีงวดนี้อย่างต่ำต้องคูณด้วย 2 หรือ 3 เพราะกระทบไปทั้งโลก

เศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอยเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือ รัฐบาลอย่าใช้เงินหมดหน้าตักเพราะยังอีกยาว การสื่อสารขอให้ชัดเจนจะช่วยใครช่วยกลุ่มไหนรัฐมนตรีที่ออกมาให้ข่าวอย่าอ้อแอ้ทำให้ประชาชนสับสน

หากพูดไม่เป็นลองหันไปใช้วิธีเดียวกันกับโฆษกศูนย์โควิด-19 นพ.ทวีศิลป์ฯ ทำให้เครดิตบิ๊กตู่ดีขึ้น.....จริงไหมครับ