posttoday

ความเสี่ยงตลาดแรงงาน....ผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวแรง

24 กุมภาพันธ์ 2563

การวิเคราะห์ความเสี่ยงของการจ้างงานจำเป็นที่จะต้องเห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในสภาวะชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

โดยเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้วนอยู่ในสภาพอ่อนแอ เช่น การส่งออกสินค้าจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ปีพ.ศ.2562 หดตัวร้อยละ -2.65 (เชิงเงินบาทหดตัวถึงร้อยละ 5.93) การนำเข้าหดตัวร้อยละ 4.66 (เชิงเงินบาทหดตัวร้อยละ 7.77) ส่วนใหญ่เป็นหดตัวในสินค้าประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป

ด้านการบริโภคของเอกชนในไตรมาส 4 ที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงจากค่าเฉลี่ยทั้งปี ขณะที่การบริโภคภาครัฐบาลซึ่งได้รับผลกระทบด้านงบประมาณรายจ่ายล่าช้าทำให้ทั้งปีขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.4 เฉพาะไตรมาสสุดท้ายถึงขั้นหดตัวถึงร้อยละ 1.9 ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวได้ในอัตราต่ำเพียงร้อยละ 0.7 ด้านการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวขยายได้เพียงร้อยละ 2.8 ขณะที่การลงทุนภาครัฐเฉพาะไตรมาสสุดท้ายหดตัวถึงร้อยละ 5.0

ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการจ้างงานสะท้อนจากรายงานเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีที่แล้วขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.6 เป็นอันดับต่ำสุดในรอบห้าปีเศษทำให้ปีที่แล้วทั้งปีขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.4

จากเดิมคาดว่าจะโตได้ร้อยละ 3.0 เป็นการขยายตัวต่ำสุดนับจากปีพ.ศ.2557 มีการปรับเป้าประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ.2563 คาดว่าจะขยายตัวค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.0 แต่โอกาสสูงที่จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.5 ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากภาวะ “Trade War” ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนเพราะถูกยกระดับไปเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งของสหรัฐฯ และของประเทศจีน

ภาวะแทรกซ้อนที่ช็อคกันทั้งโลกคือไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ก่อนที่จะขยายไปทั่วประเทศจีนและประเทศต่างๆ เกือบ 30 ประเทศทั่วโลกจนกลายเป็นภัยจากโรคระบาดระดับนานาชาติ

ก่อนหน้านี้จีนมีการสั่งปิดเมืองสำคัญหลายแห่งซึ่งล้วนเป็นเมืองอุตสาหกรรมทำให้การนำเข้าและส่งออกชะลอตัวกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงซัพพลายเชนที่อยู่ในการผลิต แม้แต่ “ไอโฟน” มีการปรับลดเป้าหมายการขายใน ไตรมาสแรก แม้แต่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยก็ได้รับผลกระทบ บางโรงงานอาจต้องถึงขั้นปิดชั่วคราวในเร็วๆนี้ เนื่องจากขาดวัตถุดิบและสแปร์พาร์ท

สินค้าที่ส่งออกไปท่าเรือสำคัญของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ กวงจู ต้าเหลียน ชิงเต้า ฯลฯ สินค้าไปกองเพราะไม่มีกิจกรรมโลจิสติกส์ทำให้เรือรับขนสินค้าลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 เรือคอนเทนเนอร์ระหว่างแหลมฉบังไปท่าเรือเซี่ยงไฮ้ก่อนหน้านี้ในหนึ่งสัปดาห์มี 6 ลำเข้า-ออกประเทศไทยแต่ขณะนี้มีให้บริการเหลือเพียง 2 ลำต่อสัปดาห์เพราะสินค้าไม่เต็มลำเนื่องจากทางผู้นำเข้าของจีนไม่ “Confirm Order” ตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ลดลงแน่นอน

ด้านสายการบินที่เชื่อมเมืองหลักภายในประเทศของจีนต่างระงับเที่ยวบินชั่วคราว เช่น สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคยกเลิกเที่ยวบินไปจีนร้อยละ 90, ควอนตัสแอร์ไลน์ลดเที่ยวบินทั่วภูมิภาคเอเชียร้อยละ 15 ถึงขั้นมีการพักงานของนักบินและแอร์โฮสเตสเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีแอร์ไลน์อีกไม่น้อยกว่า 15 รายรวมทั้งการบินไทยต่างลดเที่ยวบินไปจีนรวมถึงบางประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ การท่องเที่ยวหายไปมีการโปรโมทร่วมกับสายการบินและโรงแรมจัดแพ็คเกจ 3,000 บาทไปเที่ยวนครโซล ราคารวมทั้งบิน-กิน-เที่ยวรวม 3 วันเป็นทัวร์ “ศูนย์เหรียญ” อย่างแท้จริง

เส้นทางบินในประเทศของไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากันเนื่องจากผู้โดยสารที่เป็นทัวร์ต่างชาติและคนไทยลดลงไปไม่จำเป็นก็ไม่อยากเดินทางจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย สายการบินต่างๆ มีการลดเที่ยวบินจนสนามบิน 6 แห่งของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหรือ “ทอท.” จำนวนผู้โดยสารดอนเมืองหายไปเกือบร้อยละ 39

ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิเดือนนี้ไฟล์ทลดลงไม่น้อยกว่า 2.7 พันไฟล์ทตัวเลขผู้โดยสารจากวันละ 1.4 แสนคนเหลือประมาณ 6 หมื่นคนต่อวันลดลงถึงร้อยละ 30 เป็นผลกระทบมากที่สุดตั้งแต่ที่ก่อสร้างสนามบินจนต้องมีการเยี่ยวยาผู้ประกอบการใช้เงินหลายพันล้านบาท

ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศจากข้อมูลสามสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 2.697 ล้านคน ลดลงประมาณร้อยละ 60 โรงแรมต่างๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยารวมถึงกทม.แทบจะร้าง ไปทานบุฟเฟ่ต์โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนรัชดาภิเษกมีแค่โต๊ะเดียวถามคนเสิร์ฟเขาบอกว่าบางวันก็ไม่มีเลย

หากสถานการณ์อย่างนี้ยังยืดเยื้อออกไปอีกเดือนสองเดือนเหนื่อยกันแน่นอนแต่ยังคงคาดการณ์ในเชิงบวกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะหายไปประมาณ 2.8 – 3.8 ล้านคนคิดเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะหายไป 2.5 – 3.2 แสนล้านบาท กระทบแรงงานในภาคการท่องเที่ยวเฉพาะแรงงานในระบบมีประมาณ 2.75 ล้านคนแต่มีการประเมินว่าแรงงานท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงทางอ้อมทั้งหมดอาจจะมีถึง 10 ล้านคน

ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความเปราะบางเป็นทุนอยู่แล้วการประกาศปิดโรงงานค่ายรถยนต์ เซฟโรเลต “เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง” หลายอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในโซอุปทานการผลิตกับจีนปลายเดือนมีนาคมอาจเห็นหลายโรงงานปิดตัวทั้งถาวรและชั่วคราว เศรษฐกิจของไทยหากเทียบกับเครื่องบินเหมือนกับเครื่องยนต์ดับหมดกลายเป็นเครื่องร่อนที่ต้องระวังมากๆ คือ ตลาดแรงงานแต่เดิมมีความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีทั้งเอไอ โรบอทและออโตเมชั่น

กอปรทั้งการหดตัวของการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว การแทรกซ้อนจากวิกฤตอู่ฮั่นเอฟเฟคส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวแปรส่งผลต่อความเสี่ยงของการจ้างงานในตลาดแรงงานของภาคเอกชนที่ในช่วงหลังสงกรานต์จะมีแรงงานใหม่ประมาณ 5.2 แสนคนเป็นปัญหาที่อาจจะเผชิญหน้าและจำเป็นต้องมีมาตรการในการรับมืออย่างเป็นระบบ

มาตรการของรัฐบาลที่นำมาใช้ต้องเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะสภาพคล่องของเอสเอ็มอีอย่าให้ถึงขั้นล้มเพราะจะมีแรงงานไหลออกมามาก อาจต้องไปดูการปล่อยสินเชื่อเอาเข้าจริง “บสย.” ที่มาประกันความเสี่ยงได้เพียงร้อยละ 18 ที่เหลือแบงค์รัฐต่างๆ ต้องรับผิดชอบได้คุยกับผู้บริหารแบงค์เขาบอกว่าคงปล่อยยากเพราะบอร์ดต้องรับผิดชอบหากหนี้เสีย

แต่ถึงเศรษฐกิจไม่ดีตัวเลขการว่างงานยังคงอยู่ในอัตราต่ำเพราะตัวเลขการว่างงานไทยใช้เกณฑ์ “บุคคลใดในรอบสัปดาห์ก่อนหน้าการสำรวจแค่ทำงาน 1 ชั่วโมงจะได้ค่าจ้างหรือไม่ได้ค่าจ้างล้วนเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้น” ภาพที่จะเห็นต่อไป คือ การสวนทางระหว่างอัตราว่างงานของประเทศอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราการขยายตัวของจีดีพีหดตัวอย่างรุนแรง ขณะที่สถานประกอบการต่างๆ ชะลอการจ้างงานใหม่และถึงขั้นเลิกจ้าง...แปลกดีไหมครับ